xs
xsm
sm
md
lg

เขื่อนอุบลรัตน์น่าห่วง! น้ำเหลือแค่ 36% เตรียมเผชิญวิกฤตแล้งถึงต้นฝนปีหน้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ศูนย์ข่าวขอนแก่น - เขื่อนอุบลรัตน์น่าห่วง เหลือน้ำกักเก็บแค่ 36% ทั้งที่ยังไม่พ้นหน้าฝน คาดน้ำจะถูกใช้หมดอ่างช่วง มี.ค.-เม.ย. 62 รองนายกฯ ย้ำวางแผนจัดการน้ำให้รอบคอบ แนะเตรียมรับมือวิกฤตแล้งยาวถึงช่วงต้นฝนปีหน้า

รายงานข่าวแจ้ง วันนี้ (9 ต.ค. 61) พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์การบริหาร จัดการน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ และประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดทำมาตรการป้องกันและแก้ไข ปัญหาภัยแล้งในปี 2561/62

โดย ณ วันที่ 8 ต.ค. 61 เขื่อนอุบลรัตน์มีปริมาณน้ำกักเก็บจำนวน 871 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 36 ของความจุอ่าง มากกว่าปี 2558 ที่มีปริมาณน้ำในเขื่อนน้อยเพียง 28% ซึ่งในเบื้องต้นการบริหารจัดการน้ำในเขื่อนต้องดำเนินการอย่างระมัดระวัง

สำหรับความต้องการใช้น้ำเขื่อนอุบลรัตน์ในช่วงฤดูแล้ง ปี 2561/62 (พ.ย. 61 - เม.ย. 62) มีทั้งหมดราว 446 ล้าน ลบ.ม. แยกเป็น น้ำอุปโภคบริโภค 123 ล้าน ลบ.ม., น้ำรักษาระบบนิเวศ 37 ล้าน ลบ.ม., น้ำเพื่ออุตสาหกรรม 20 ล้าน ลบ.ม. รวมถึงการระเหยหรือรั่วซึมอีก 266 ล้าน ลบ.ม. ทำให้คาดการณ์ได้ว่าในปีหน้าแล้งปีนี้ จะมีปริมาณน้ำไม่เพียงพอที่จะสนับสนุนภาคการเกษตร โดยเฉพาะการทำนาปรัง

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากสภาพปัญหาต่างๆ ดังกล่าวได้มอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งรับผิดชอบเขื่อนใหญ่ ปรับแผนการบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสมกับสถานการณ์ เพราะช่วงหลังจาก 15 ต.ค.นี้ไปแล้วปริมาณฝนจะลดน้อยลงจึงควรพิจารณาเก็บน้ำไว้ในเขื่อนให้มากที่สุด โดยลดการระบายน้ำลง
พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ
จากข้อมูลพบว่าเขื่อนอุบลรัตน์ซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ปัจจุบันมีปริมาณน้ำในเขื่อนอยู่ที่ 36 % เท่านั้น หากปริมาณฝนลดลงตามการคาดการณ์ เขื่อนอุบลรัตน์จะต้องวางแผน ปรับลดการระบายน้ำให้สามารถรับมือกับภัยแล้งได้ ไปตลอดจนถึงช่วงต้นฤดูฝนหน้า คาดว่าน้ำจะใช้การหมดในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน 62 และใช้น้ำที่ต่ำกว่าระดับ dead storage ในช่วงกลางตุลาคมนี้ และจะระดมความร่วมมือของคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำจังหวัดขอนแก่น โดยประชุม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งประมง ปศุสัตว์ เกษตร อุตสาหกรรม และสิ่งแวดล้อม เพื่อกำหนดมาตรการงดนาปรัง ลดการเลี้ยงปลากระชัง เฝ้าระวังคุณภาพน้ำพอง กำจัดผักชวาที่ขวางทางระบายน้ำ

พร้อมขอความร่วมมือ เกษตรกรตลอดสองฝั่งลำน้ำพอง ให้งดการนาปรังและการเลี้ยงปลาในกระชัง โดยเตรียมหาพันธุ์สัตว์ที่เลี้ยง ใช้เวลาไม่มากไปช่วยเหลือ เพื่อสร้างรายได้ หรือการจัดหางานเสริมช่วงที่ไม่ได้ทำนาปรัง


กำลังโหลดความคิดเห็น