xs
xsm
sm
md
lg

สถานการณ์ยังน่าห่วง! พ่อเมืองนครพนมสั่งเร่งระบายน้ำลงโขง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


นครพนม - ผู้ว่าฯ นครพนม สั่งเดินเครื่องผลักดันและสูบน้ำเต็มกำลัง หวังระบายน้ำลงน้ำโขงเร็วขึ้น ลดความเสียหายน้ำท่วมบ้านเรือน-พื้นที่เกษตร สั่งประเมินสถานการณ์ใกล้ชิด เผยลำน้ำสงครามยังรับน้ำฝนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ระดับน้ำสูงสุดในรอบ 20 ปี

วันนี้ (27 ส.ค.) นายสมชาย วิทย์ดำรงค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม นำคณะหัวหน้าส่วนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ติดตามการบริหารจัดการน้ำที่บริเวณประตูระบายน้ำห้วยบังกอ บ้านหนองเซา ต.ท่าค้อ อ.เมืองฯ จ.นครพนม หนึ่งในอีกหลายประตูระบายน้ำที่มีการบริหารจัดการน้ำเพื่อไม่ให้น้ำเอ่อล้นเข้าท่วมบ้านเรือนและพื้นที่การเกษตรของประชาชน

โดยประตูน้ำห้วยบังกอจะรับน้ำมาจากห้วยบังกอและห้วยฮองฮอ รวมถึงลำน้ำสายาย่อยอีกหลายสาขาก่อนลงสู่แม่น้ำโขง โดยขณะนี้ระดับน้ำที่บริเวณประตูระบายน้ำห้วยบังกอสูงกว่าระดับน้ำของแม่น้ำโขงอยู่ประมาณ 15 เซนติเมตร ซึ่งถ้ามีการเร่งระบายน้ำลงสู่แม่น้ำโขงได้เร็วขึ้นจะทำให้น้ำในพื้นที่ชั้นในลดลงไปด้วย

ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนมจึงได้สั่งการให้เปิดประตูระบายน้ำเต็มพิกัดพร้อมทั้งให้เดินเครื่องผลักดันน้ำที่ติดตั้งอยู่บริเวณประตูระบายน้ำทุกตัว ทั้งนี้ได้มีการเตรียมเสริมเครื่องผลักดันน้ำเพิ่มเป็น 16 ตัว เพื่อให้การระบายน้ำเป็นไปด้วยความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น รวมถึงให้มีการสูบน้ำด้วยเครื่องสูบน้ำขนาดท่อ 14 นิ้วเพิ่มเติมอีกจำนวน 5 เครื่อง ที่บริเวณสันเขื่อนกั้นน้ำของประตูระบายน้ำห้วยบางกอด้วยเช่นเดียวกัน


นายสมชาย วิทย์ดำรงค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เปิดเผยว่า ระดับน้ำของจังหวัดนครพนมในขณะนี้ คือ 12.56 เมตร ซึ่งจากการติดตามระดับน้ำที่ผ่านมา พบว่ามีการเพิ่มขึ้นและลดลงใกล้เคียงกัน แสดงให้เห็นว่า ปริมาณน้ำมีการทรงตัว ซึ่งถ้าไม่มีฝนตกหนักลงมาก็จะทำให้ปริมาณในน้ำฝนน้ำโขงลดลงแต่คงจะลดลงในระดับช้าๆ ทั้งนี้เราคงต้องประเมินสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง เพราะลำน้ำสงครามยังรับปริมาณน้ำฝนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งถือว่าสูงเป็นปรากฏการณ์ในรอบ 20 ปี

โดยมีพื้นที่ 4 อำเภอที่ติดกับลำน้ำโขงประสบปัญหาน้ำท่วมแน่นอน ตั้งแต่อำเภอบ้านแพง อำเภอท่าอุเทน อำเภอเมืองจนถึงอำเภอธาตุพนม ส่วนอำเภออื่นๆที่ลำน้ำสาขาไหลลงแม่น้ำโขงได้ยาก เช่น อำเภอนาหว้า อำเภอนาทม บางส่วนเริ่มได้รับผลกระทบในพื้นที่ทำการเกษตร

ส่วนบ้านเรือนประชาชนจะมีประมาณ 30-40 ครัวเรือนที่ต้องมีการอพยพ ส่วนใหญ่ยังอาศัยอยู่ได้ตามปกติด้วยมีการสร้างบ้านเรือนสูง ทั้งนี้ได้มีการสั่งการไปทุกอำเภอ ในการดำเนิน 3 มาตรการ คือ ผู้ประสบภัยต้องไม่มีการสูญเสีย ต้องไม่อด และต้องมีสุขภาพที่แข็งแรง โดยให้ทุกหน่วยงานบูรณาการกันเข้าไปดูแลในเรื่องของการช่วยเหลือด้านต่างๆ การจัดหารเครื่องอุปโภคบริโภคทั้งคนและสัตว์

รวมถึงการส่งทีมแพทย์และทีมจิตแพทย์เข้าไปดูแลสภาพร่างกายและจิตใจเพื่อให้ประชาชนอยู่ในพื้นที่ได้ ทั้งนี้ทางจังหวัดจะเร่งบริหารจัดการน้ำให้ลงแม่น้ำโขงให้ได้มากที่สุดและเร็วที่สุด



กำลังโหลดความคิดเห็น