xs
xsm
sm
md
lg

ทหารเอาบ้าง! ลงพื้นที่ตรวจสอบเศษขยะมีพิษกาฬสินธุ์ จวกนักวิชาการขายฝันลวงโลกสร้างเตาเผา 50 ล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กาฬสินธุ์ - ผู้บัญชาการกองพลทหารม้าที่ 3 ลงพื้นที่ดูสภาพปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ใน ต.ฆ้องชัย ขณะที่ ส.อบต.โคกสะอาด โวยนักวิชาการที่เข้ามาขายฝันสร้างเตาเผาขยะลวงโลกหายเงียบ ด้านชาวบ้านน้อยใจสาธารณสุขไม่ลงพื้นที่ตรวจสุขภาพ-สิ่งแวดล้อม

จากกรณีขยะพิษจากต่างประเทศทะลักเข้าเมืองไทย ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม กระทั่ง พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ออกประกาศขยะพิษต้องหมดภายใน 2 ปี ขณะที่ จ.กาฬสินธุ์ แหล่งคัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์แหล่งใหญ่ที่ทำกันมานานกว่า 20 ปี นายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าฯกาฬสินธุ์ เร่งให้คณะกรรมการสาธารณสุขจังหวัด (คสจ.) ตรวจสอบและหาทางป้องกัน ขณะที่ชาวบ้านในชุมชนและตำบลใกล้เคียง ออกมาร้องเรียนเรื่องมลพิษทางอากาศ ควันพิษทำนาข้าวอินทรีย์พื้นที่ใกล้เคียงเสียหาย ตามข่าวที่เสนอแล้วนั้น

ล่าสุด วันนี้ (24 ส.ค.) ที่บ้านหนองบัว หมู่ 3 ต.โคกสะอาด อ.ฆ้องชัย จ.กาฬสินธุ์ พล.ต.จุมพล จุมพลภักดี ผู้บัญชาการกองพลทหารม้าที่ 3 ในฐานะผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย จ.กาฬสินธุ์ พร้อมด้วย พ.อ.สมบัติ จินดาศรี รองผู้บัญชาการกองพลทหารม้าที่ 3 พ.อ.ประวัติ จารุตัน เสนาธิการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย จ.กาฬสินธุ์ ได้ลงพื้นที่ติดตามปัญหา และดูวิธีการคัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์ของชาวบ้าน โดยมีนายพิชิต สมบัติมาก ผอ.สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.กาฬสินธุ์ พ.ต.อ.บุญฤทธิ์ ชวีวัฒน์ ผกก.สภ.ฆ้องชัย นายวิรัตน์ ราชชารี ปลัดอำเภอฆ้องชัย นายวิจิตร มูลเอก นายก อบต.โคกสะอาด และผู้นำชุมชน ชาวบ้าน ร่วมให้ข้อมูลและรายงานปัญหา

พล.ต.จุมพล จุมพลภักดี ผู้บัญชาการกองพลทหารม้าที่ 3 ในฐานะผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ตามที่เกิดกระแสข่าวขยะอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศถูกนำเข้าโรงงานคัดแยก ก่อผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนและสิ่งแวดล้อม โดยมีการตรวจพบโรงงานในลักษณะดังกล่าวในหลายพื้นที่ และได้มีการสั่งปิดกิจการไปแล้ว ทั้งนี้ ต.โคกสะอาด อ.ฆ้องชัย ยังติดโผรายชื่อแหล่งคัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์ด้วย แต่มีที่มาและสถานที่ที่ทำการคัดแยกแตกต่างกัน คือ ไม่ใช่ขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่นำเข้าจากต่างประเทศ

แต่เป็นการคัดแยกตามอาคารบ้านเรือนซึ่งมีสภาพโล่งโปร่ง ไม่ใช่โรงงาน ไม่แออัด อากาศถ่ายเทสะดวก โดยเฉพาะผู้ประกอบการปลอดภัย ไม่เกิดการล้มป่วยจากการคัดแยกขยะดังกล่าว ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นห่วงในสุขภาพอนามัยของพี่น้องประชาชนและระบบนิเวศ จึงได้สั่งการให้ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง และกำชับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องดำเนินการในส่วนที่ถูกต้องเหมาะสมต่อไป

“การคัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์ของที่นี่ ชาวบ้านยึดเป็นอาชีพหลักมานานกว่า 20 ปี ทางจังหวัดเองได้เร่งประสานภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เข้ามาแก้ไขปัญหาที่สะสมมานาน คือการป้องกันขยะพิษ การกำจัดเศษขยะที่กองสุมในบ่อขยะของ อบต.โคกสะอาด พบว่ามีตกค้างถึง 320 ตัน รวมทั้งที่ยังเหลืออยู่ตามบ้านเรือนของชาวบ้านที่ประกอบอาชีพนี้อีกเป็นจำนวนมาก” พล.ต.จุมพลกล่าว และว่า

การลงพื้นที่ครั้งนี้เป็นการลงมาพิสูจน์ข้อเท็จจริง และต้องกำชับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมฯ ท้องถิ่น ท้องที่ โดยเฉพาะคณะกรรมการสาธารณสุขจังหวัด (คสจ.) ที่จะต้องออกมาแสดงฝีมือ และร่วมกันแก้ไขปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ให้หมดไป โดยไม่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ชาวบ้าน และไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ คำตอบสุดท้ายที่ชุมชนต้องการ คือ เตาเผาขยะที่ถูกวิธี ที่จะลดปัญหามลพิษทางอากาศ รวมทั้งการให้ความรู้ด้านการป้องกันตนเองและระบบนิเวศ ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจะต้องเร่งดำเนินการเพื่อยุติปัญหาโดยเร็วที่สุด

ด้านนายวันชนะ นาถมทอง สมาชิกสภา อบต.โคกสะอาด อ.ฆ้องชัย จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า การประกอบอาชีพคัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์ หรือการนำเอาของเก่าประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องมือสื่อสาร มากะเทาะเพื่อคัดแยกเอาชิ้นส่วนที่มีค่าไปจำหน่ายให้พ่อค้าของเก่า หรือประกอบขายเป็นสินค้ามือสองนั้น ถือเป็นอาชีพประจำตำบล สร้างอาชีพ และรายได้ต่อเดือนต่อปีค่อนข้างสูงกว่าการประกอบอาชีพอื่น

นอกจากนี้ยังถือเป็นการช่วยเหลือสังคมอีกทางหนึ่งในการไปเก็บกวาดของเก่า ไม่ต้องการจากหลายจังหวัดมาคัดแยกและกำจัดเป็นสินค้ามีมูลค่า เท่ากับว่า ต.โคกสะอาด ช่วยชาติทำความสะอาดเก็บของเก่าให้ประเทศก็ว่าได้ แต่สิ่งที่เกิดผลกระทบต่อชาวบ้านในช่วงนี้คือ กระแสข่าวขยะพิษที่เกิดขึ้นในบางจังหวัดซึ่งเกิดจากการนำขยะอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศเข้ามาคัดแยก โดยโยงการประกอบอาชีพคัดแยกขยะบริสุทธิ์ของชาวบ้านไปเกี่ยวข้องด้วย ถือว่าไม่เป็นธรรม เป็นคนละประเด็น และสร้างความเสียหายให้ธุรกิจการคัดแยกขยะเป็นอย่างมาก

“พอมีข่าวขยะพิษเกิดขึ้น พ่อค้าคนกลาง หรือแหล่งรับซื้อก็ต้องหยุดนิ่ง ของเก่าหรือขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ลงทุนไปหาตระเวนมาเที่ยวละหลายหมื่นหรือนับแสนบาทก็ชะงัก ขายไม่ออก เมื่อไม่มีการหมุนเวียนเคลื่อนไหว ผู้ประกอบการก็ขาดทุน เหมือนอย่างที่กำลังประสบอยู่ในขณะนี้” นายวันชนะกล่าว

นายวันชนะกล่าวอีกว่า สิ่งที่ชาวบ้าน ต.โคกสะอาดเฝ้ารอ และอยากทวงถามคณะกรรมการสาธารณสุขจังหวัด (คสจ.) และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง คือ โครงการก่อสร้างเตาเผาขยะที่เคยมีนักวิชาการ และนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) มาลงพื้นที่ทำการศึกษาวิจัยและออกแบบแนวทางการแก้ไขปัญหา โดยจะสร้างเตาเผาขยะถูกหลักสุขาภิบาล ป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมในระยะยาวเพื่อไปทำวิทยานิพนธ์จนจบปริญญาโทนับสิบๆ คนนั้น ตอนนี้ทำเอาความรู้ไปทิ้งที่ไหน เพราะยังไม่เห็นวี่แววว่าจะเข้ามาผลักดันให้เกิดโครงการอะไรเลย

ชาวบ้านอยู่อย่างไรก็อยู่อย่างนั้น เกิดปัญหาที่อื่นทีก็เห็นนักวิชาการจากส่วนราชการต่างๆ เข้าพื้นที่เก็บข้อมูลที ให้ความหวังกับชาวบ้านพอผ่านๆ ไป เหมือนมาขายฝันหลอกลวงชาวบ้านแล้วก็เงียบหายไป ส่วนที่จะลงมือทำไม่เคยมีเลย แล้วอย่างนี้จะแก้ปัญหาให้ชาวบ้านได้อย่างไร จึงอยากเรียกร้องให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจริงจังต่อการแก้ไขปัญหา อย่าทิ้งภาระให้ท้องถิ่นและโทษชาวบ้าน เพราะบางกรณีอยู่เกินอำนาจของท้องถิ่น ต้องขอแรงหน่วยงานต่างๆ ร่วมบูรณาการ เช่น โครงการสร้างเตาเผาขยะ ไม่ต้องใหญ่โตมูลค่าสูงถึง 40-50 ล้านตามอย่างที่จ้าง มข.เขียนแบบให้หรอก ขอเพียงเป็นรูปเป็นร่าง วงเงินก่อสร้าง 4-5 ล้าน มีระบบการกำจัด และควบคุมกลิ่น หมอกควันที่มีประสิทธิภาพก็ถือว่าสุดยอดแล้ว

อย่างไรก็ตาม ในกรณีผลกระทบเกี่ยวกับสุขภาพชาวบ้านนั้น ชาวบ้านในพื้นที่ ต.โคกสะอาด ระบุว่า หน่วยงานหลักที่ทำหน้าที่ด้านสุขภาพคือสำนักงานสาธารณสุข จ.กาฬสินธุ์ แต่ที่ผ่านมามีเพียงหน่วยงานด้านสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ระดับอำเภอ ตำบล ท้องถิ่น ตลอดจนหน่วยงานอื่นๆในระดับจังหวัดเท่านั้นที่คอยลงพื้นที่ให้ความรู้และแนะนำวิธีการให้กับชาวบ้านมาโดยตลอด แทบจะไม่เห็นบทบาทของหน่วยงานด้านสาธารณสุขระดับจังหวัด รวมทั้งแนวทางการแก้ไขปัญหาที่จริงจัง และเป็นรูปธรรม กลับปล่อยปัญหานี้เรื้อรังมายาวนาน


กำลังโหลดความคิดเห็น