xs
xsm
sm
md
lg

ดัน อปท.ทั่วประเทศฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นครปฐม - อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ผลักดันองค์รปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ มอบเป็นของขวัญให้แผ่นดินไทย

วันนี้ (12 เม.ย.) นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมการปกครองถิ่นยุคใหม่นี้ ได้ให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อม โดยตระหนักว่าความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อม ตามแนวพระราชดำริของ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีความสำคัญต่อมนุษยชาติ และต่อสิ่งแวดล้อมของโลก

ประกอบกับการได้ไปเยี่ยมชมความสำเร็จของการดำเนินงานของโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) ของป่าชุมชนเขาตายิ้ม องค์การบริหารส่วนตำบลท่ากุ่ม อำเภอเมือง จังหวัดตราด เมื่อวันที่ 10 เมษายนที่ผ่านมา ที่นับได้ว่า เป็นตัวอย่างป่าชุมชนที่ประสบผลสำเร็จ ในการจัดการทีมีประสิทธิผลแห่งหนึ่ง

เนื่องจากความเข้าใจและเห็นถึงความสำคัญของป่าที่มีต่อชุมชนอย่างแท้จริง ซึ่งในอดีตป่าแห่งนี้มีสภาพที่สมบูรณ์ และชุมชนที่อาศัยอยู่โดยรอบเข้ามาใช้ประโยชน์โดยใช้เป็นแหล่งอาหารและเก็บเกี่ยวหาของป่า ต่อมาชุมชนมีขนาดใหญ่ขึ้น ความต้องการที่ทำกินเพิ่มมากขึ้น

ประกอบกับมีการตัดถนนเพื่อใช้เป็นเส้นทางคมนาคมขนส่งมากขึ้น จึงเป็นเหตุให้มีการบุกรุกเพื่อใช้ที่ดินเพื่อการเกษตรแบบพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยวมากขึ้น ทำให้สภาพป่าแห่งนี้เสื่อมโทรมลงอย่างเห็นได้ชัด

จนกระทั่งเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในปี พ.ศ.2539 ชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณรอบพื้นที่ป่า ในตำบลท่ากุ่ม เริ่มรู้สึกว่าได้สูญเสียพื้นที่ ที่จะใช้ประโยชน์ร่วมกัน จึงเริ่มหันกลับมาใช้ชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง ลดการพึ่งพาป่าเศรษฐกิจที่ปลูกพืชชนิดเดียว และเกิดแนวคิดที่จำฟื้นฟูอนุรักษ์ป่าเขาตายิ้มไว้เพื่อชุมชน จึงรวมตัวกันเจรจากับผู้บุกรุกพื้นที่ป่าซึ่งทำให้สามารถคืนพื้นที่ป่าชุมชนไว้ได้ 97 ไร่

หลังจากมีการรวมตัวกันเพื่อจัดตั้งชมรมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแล้วนั้น องค์การบริหารส่วนตำบลท่ากุ่ม ได้ขอเข้าร่วมสนองพระราชดำริในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมากจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2547

และได้รับการตอบรับการเข้าร่วมสนองพระราชดำริในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมากจากพระราชดำริ “งานฐานทรัพยากรท้องถิ่น” เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2557 สำหรับการเข้าร่วมสนองพระราชดำริโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมากจากพระราชดำรินี้ มีการดำเนินการงาน 6 กิจกรรม ได้แก่

1.กิจกรรมปกปักทรัพยากรท้องถิ่น คือมีการกำหนดขอบเขตพื้นที่ปกปักพันธุกรรมพืช ที่ใช้พื้นที่ประมาณ 10 ไร่

2.กิจกรรมสำรวจเก็บรวบรวมทรัพยากรท้องถิ่น ที่มีการเก็บข้อมูลการใช้ประโยชน์ของพืชในท้องถิ่น ทะเบียนพันธุ์ไม้ในชุมชน และเก็บข้อมูลภูมิปัญญาท้องถิ่น สำหรับพืชสมุนไพร 167 ชนิด

3.กิจกรรมปลูกรักษาทรัพยากรท้องถิ่น ที่เป็นการปลูกรักษาทรัพยากรท้องถิ่น มีกิจกรรมปลูกพันธุ์ไม้ ไม่ว่าจะเป็น ปลาไหลเผือก เถาเอ็นอ่อน ม้ากระทืบโรง หางไหลแดง ตะไคร้หอม หัวข่าลิง

4.กิจกรรมอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ทรัพยากรท้องถิ่น ที่เป็นกิจกรรมในการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากพันธุ์พืช เก็บรักษาพืชสมุนไพร โดยการหมักดอง

5.กิจกรรมศูนย์ข้อมูลทรัพยากรท้องถิ่น ที่จัดทำทะเบียนข้อมูลสมุนไพร จำนวนทั้งสิ้น 167 ชนิด และ 6.กิจกรรมสนับสนุนในการอนุรักษ์และจัดทำฐานทรัพยากรท้องถิ่นในด้านต่างๆ

นายสุทธิพงษ์กล่าวต่อว่า ความเป็นต้นแบบของเขาตายิ้มนี้ ไม่ใช่แค่การอนุรักษ์เพียงแค่พันธุ์ไม้ แต่ยังรวมไปถึงการอนุรักษ์และเก็บข้อมูลพันธุ์สัตว์ ทั้งสัตว์ปีก สัตว์ปก สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ สัตว์น้ำ รวมถึงเชื้อรา(เห็ด) ซึ่งต่อไปทางองค์การบริหารส่วนตำบลท่ากุ่ม จะดำเนินการก่อสร้างศูนย์รวบรวมความหลากหลายทางชีวภาพในรูปแบบการหมักดอง เพื่อเป็นแหล่งศึกษาข้อมูลให้แก่ผู้ที่สนใจต่อไปด้วย กรมฯ

จึงได้ขอความกรุณาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่ง ทั้ง 7,851 แห่ง (ไม่รวมกทม.) ช่วยกันสำรวจจัดหาพื้นที่สาธารณะที่ถูกตัดทำลายต้นไม้ หรือเป็นพื้นที่เขาหัวโล้น เพื่อดำเนินการร่วมกับอาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก (อถล.) และทุกภาคส่วน มาปลูกต้นไม้ร่วมกันในฤดูฝนที่จะถึงนี้ โดยขอให้เสนอพื้นที่ที่คัดเลือกได้ให้กรมฯ ทราบภายในวันที่15 พฤษภาคมนี้ เพื่อร่วมกันทำสิ่งที่ดีกว่าเดิม change for good ให้เป็นของขวัญให้แผ่นดินไทยของเรา

โดยการดำเนินการนี้ ขอให้คำนึงถึงการคัดเลือกต้นไม้ประจำถิ่นที่หายากเป็นลำดับต้น และที่สำคัญขอให้คำนึงถึงความหลากหลายทางชีวภาพ ตามแนวพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อย่ามุ่งเน้นปลูกต้นไม้ชนิดเดียวเป็นจำนวนมากในพื้นที่เดียวกัน เพื่อให้การปลูกป่าชุมชนได้มีความสมบูรณ์หลากหลาย สามารถจัดเป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านระบบนิเวศน์ป่าและนกแก่เยาวชนได้ในอนาคต รวมทั้งเป็นแหล่งอาหาร แหล่งยาสมุนไพร ได้อีกด้วย




กำลังโหลดความคิดเห็น