xs
xsm
sm
md
lg

บุพเพฯ ดังถึงตำบลดอนช้าง ชาวบ้านแต่งชุดไทยร่วมงานบุญ “กู่ฮ่มข่อย” เล็งโปรโมตแหล่งเที่ยวทางวัฒนธรรม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวขอนแก่น - กระแสแรงถึงตำบลดอนช้าง ชาวบ้านพากันแต่งชุดไทยย้อนยุคตามละครดังร่วม “งานบุญกู่ฮ่มข่อย” เข้ากับบรรยากาศโบราณสถานที่สร้างสมัยลพบุรี นายก อบต.เผยอนาคตจะโปรโมตให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมเผยแพร่ให้นักท่องเที่ยวรู้จักกันมากขึ้น

รายงานข่าวแจ้งว่า สายวันนี้ (1 เม.ย.) ที่บริเวณลานกู่แก้วโบราณสถาน ต.ดอนช้าง อำเภอเมืองขอนแก่น นายวัฒนา ช่างเหลา รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น พร้อมด้วยประชาชนชาวตำบลดอนช้างและใกล้เคียง ร่วมพิธีบวงสรวงและถวายเครื่องสักการะกู่แก้วและพระพุทธรูปหลวงปู่ตาเขียว ที่เป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนทั้งตำบลดอนช้าง

ภายในงานมีนางรำกว่า 200 คนร่วมรำบวงสรวงเพื่อความเป็นสิริมงคล และอนุรักษ์สืบสานประเพณีท้องถิ่นที่สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ


นายศิริพงษ์ ทองสี นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ดอนช้าง กล่าวว่า งานบุญกู่ฮ่มข่อย เป็นประเพณีและวัฒนธรรมที่ชาวตำบลดอนช้างถือปฏิบัติสืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ มีคุณค่าทางจิตใจสำหรับชาวตำบลดอนช้างเป็นอย่างมาก งานบุญกู่ฮ่มข่อยจัดทุกวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 ของทุกปี

โดยในปีนี้มีความพิเศษคือเชิญชวนให้ข้าราชการ พนักงาน เจ้าหน้าที่ อบต.ดอนช้าง รวมถึงชาวบ้านแต่งกายด้วยชุดไทยย้อนยุคตามกระแสละครดัง บุพเพสันนิวาส มาร่วมงาน

ทั้งนี้เพื่อสร้างสีสันและบรรยากาศเข้ากับโบราณสถานกู่แก้ว ทั้งยังช่วยประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนนักท่องเที่ยวทั่วไปได้รู้จักโบราณสถานแห่งนี้กว้างขวางมากขึ้น อนาคต อบต.จะพยายามส่งเสริมโปรโมตให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมต่อไป

โบราณสถาน “กู่แก้ว” ตั้งอยู่ในพื้นที่บ้านหัวสระ ต.ดอนช้าง อ.เมืองขอนแก่น สร้างจากหินศิลาแลงในสมัยลพบุรี สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นเพื่อเป็นอโรคยาศาลาในสมัยนั้น ปัจจุบันเหลือสถาปัตยกรรมเพียงบางส่วนให้ชม สิ่งที่น่าสนใจเป็นศาสนสถานในพุทธศาสนา นิกายมหายาน องค์ปราสาทหรือกู่มีกำแพงล้อมรอบ โบราณสถานเหลือมาจนถึงทุกวันนี้ ประกอบด้วย ปราสาทประธาน บรรณาลัยหรือห้องสมุด กำแพงศิลาแลงมีโคปุระหรือซุ้มประตูด้านทิศตะวันออก และบารายหรือสระน้ำ

ส่วนโบราณวัตถุที่พบ ได้แก่ ประติมากรรมสลักหินทรายรูปพระยมทรงกระบือ นารายณ์ทรงครุฑ พระโพธิสัตว์ รวมถึงศิลาจารึกที่ระบุถึงพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แต่ทุกวันนี้นำไปจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติขอนแก่น


กำลังโหลดความคิดเห็น