ศูนย์ข่าวศรีราชา - ดีเดย์ 1 มี.ค.ท่าเรือแหลมฉบังเปิดใช้ประตู 1 เพื่อระบายการจราจรภายในท่าเรือแหลมฉบังอย่างเป็นทางการ หลังทุ่มงบประมาณกว่า 1,000 ล้านบาท ตามโครงการปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวก เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรภายในท่าเรือแหลมฉบัง
เรือโทยุทธนา โมกขาว รองผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เผยว่า ตามที่ทางท่าเรือแหลมฉบัง จัดทำโครงการปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกของท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรภายในท่าเรือแหลมฉบัง รวมทั้งยกระดับการให้บริการให้สามารถรองรับปริมาณตู้สินค้าได้ที่ 10-11 ล้านทีอียูต่อปี สอดรับต่อแผนการพัฒนาท่าเรือในระยะยาว ซึ่งจะใช้งบประมาณ จำนวน 1,036 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้แล้วเสร็จสมบูรณ์แล้ว ทั้งถนน สะพานข้ามแยก และด่านเก็บเงิน โดยใช้ระยะเวลาในการก่อสร้าง 2 ปี
โดยโครงการแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ โครงการบริเวณภายในการท่าเรือ เช่น การขยายถนนเดิมจาก 4 ช่อง เป็น 6 ช่อง โดยเพิ่มฝั่งละ 1 ช่องจราจร ระยะทางประมาณ 4.6 กิโลเมตร งานก่อสร้างสะพานข้ามแยก และงานก่อสร้างอาคารด่านเก็บเงินประตูตรวจสอบสินค้า 1 เพิ่มเติม จำนวน 4 หลัง (14 ช่อง) การก่อสร้างอาคารด่านเก็บเงินประตูตรวจสอบสินค้า 3 เพิ่มเติม จำนวน 2 หลัง (6 ช่อง)
สำหรับโครงการภายนอกการท่าเรือแหลมฉบัง ประกอบด้วย การขยายถนนเดิมระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร งานก่อสร้างสะพานกลับรถ งานก่อสร้างสะพานข้ามแยก และงานติดตั้งระบบสัญญาณไฟจราจร โดยทั้งภายใน และภายนอกการท่าเรือจะใช้ระยะเวลาในการก่อสร้าง 518 วัน ซึ่งขณะนี้แล้วเสร็จแล้ว และได้มีการตรวจรับงานไปแล้วเมื่อปลายปีที่ผ่านมา แต่มีบางส่วนที่ต้องมีการปรับปรุงแก้ไขซึ่งขณะนี้แล้วเสร็จแล้ว
เรือโทยุทธนา กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้โครงการก่อสร้างต่างๆ เสร็จสมบูรณ์แล้ว เป็นไปตามแบบแปลน และได้มาตรฐานที่วางไว้ โดยในวันที่ 1 มีนาคมนี้ ท่าเรือแหลมฉบังจะเปิดให้ใช้ประตูตรวจสอบสินค้า 1 แบบเต็มรูปแบบ 100% โดยเปิดให้บริการทั้ง 14 ช่อง พร้อมทั้งทำการสำรวจปริมาณ และการมาใช้บริการของรถบรรทุกสินค้า และสภาพการจราจรว่าเป็นอย่างไร
เพื่อนำมาเปรียบเทียบดูในช่วงที่เปิดประตู 1 แล้ว กับสภาพการจราจรที่ยังไม่ได้เปิดใช้ประตู 1 เป็นอย่างไรบ้าง สามารถอำนวยการความสะดวกให้แก่ผู้ใช้บริการได้จริงหรือไม่ โดยที่ผ่านมา ได้มีการประชาสัมพันธ์ให้แก่ผู้ประกอบการทั้งหมดได้รับทราบ และได้มาทดลองใช้กันบ้างแล้ว หากโครงการต่างๆ แล้วเสร็จจะสามารถแก้ไขปัญหาการจราจรได้อย่างยั่งยืนต่อไป
นอกจากนั้น ทางการท่าเรือแหลมฉบัง ยังมีโครงการการจองเวลาการส่งสินค้าตู้คอนเทนเนอร์ เพื่อการส่งออก โดยจะให้ผู้ประกอบการสามารถระบุระยะเวลาในการส่งตู้สินค้า ซึ่งคนขับรถไม่ต้องมาเสียเวลารอแต่อย่างใด และผู้ประกอบการไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายอะไรเลย ขณะนี้ได้ว่าจ้างบริษัทฯ ทำการศึกษาโครงการนี้ ซึ่งโครงการต่างๆ เป็นการแก้ไขปัญหาทางกายภาพ และทางการท่าเรือแหลมฉบัง ก็ต้องปรับปรุงด้านการบริหารจัดการให้ดีขึ้น