xs
xsm
sm
md
lg

หนึ่งเสียงจากครูชายแดนใต้ กับการส่งเสริมสุขภาพและโภชนาการเด็กไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ภาวะโภชนาการมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาศักยภาพของเด็ก และเยาวชนให้เติบโตเป็นพลเมืองคุณภาพ มีสุขภาพดี และสติปัญญาเฉลียวฉลาด แม้จะมีการรณรงค์เรื่องโภชนาการมาอย่างยาวนาน แต่ภาวะทุพโภชนาการยังคงเป็นปัญหาเรื้อรังของเด็กไทยจำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ห่างไกล และเสี่ยงอันตราย

ด้วยสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ที่ยืดเยื้อมานานกว่า 10 ปี นอกจากจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในพื้นที่แล้ว ยังส่งผลให้เด็กจำนวนหนึ่งประสบปัญหาทุพโภชนาการขาดสารอาหาร จากผลสำรวจสถานการณ์เด็กไทยระหว่างปี 2558-2559 โดยองค์กรยูนิเซฟ และสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า เด็กในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ประสบปัญหาขาดสารอาหาร มีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน และมีภาวะเตี้ยในสัดส่วนที่สูงกว่าภาคอื่นๆ อย่างเห็นได้ชัด

ครูสีตีฮามีด๊ะ มาหะมะ ครูคณิตศาสตร์และครูอนามัย แห่งโรงเรียนบ้านเจาะกือแย อ. สายบุรี จ. ปัตตานี เล่าถึงปัญหาโภชนาการของเด็กในโรงเรียนว่า “นักเรียนกว่า 400 คนของที่นี่ส่วนใหญ่มีฐานะยากจน และขาดโอกาส ผู้ปกครองของเด็กต้องออกไปกรีดยางตั้งแต่ตีสาม หรือบางคนก็ไปทำงานที่มาเลเซีย เด็กๆ จึงไม่ได้รับการดูแลด้านอาหาร และโภชนาการที่ดีเหมือนเด็กในเมือง เด็กหลายคนไม่ได้รับประทานอาหารเช้า และบางคนก็ไม่มีอาหารเย็นให้รับประทานหลังกลับจากโรงเรียน นอกจากนี้ บางคนยังสูญเสียพ่อแม่ หรือญาติผู้ใหญ่จากเหตุการณ์ความไม่สงบ ซึ่งส่งผลกระทบต่อจิตใจ ทำให้ขาดแรงจูงใจที่จะมาเรียนหนังสือ รวมถึงการดูแลโภชนาการของตนเอง”

เพราะเชื่อว่าหากเด็กมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง ย่อมส่งผลดีต่อสติปัญญาตามมา โรงเรียนบ้านเจาะกือแย จึงเดินหน้าส่งเสริมสุขภาพเด็กในโรงเรียน ด้วยการเข้าร่วมโครงการเด็กไทยสุขภาพดี ซึ่งริเริ่มโดยบริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด ร่วมกับกรมอนามัย คณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ โดยคุณครูได้นำชุดสื่อการสอนด้านโภชนาการ และการออกกำลังกาย รวมถึงแนวคิดหลัก 4 ประการเพื่อเด็กไทยสุขภาพดี ได้แก่ อ่าน - อ่านฉลากโภชนาการ ปรับ - หันมากินอาหารที่หลากหลาย เพิ่มผักผลไม้ ขยับ - กินเท่าไหร่ ต้องใช้ให้หมด เปลี่ยน - เปลี่ยนมากินอาหารที่มีความหวาน มัน เค็ม แต่พอดี มาบูรณาการเข้ากับกลุ่มสาระการเรียนรู้ต่างๆ ภายใต้บริบทที่เหมาะสมต่อสภาพแวดล้อมภายในโรงเรียน และของชุมชน
ครูสีตีฮามีด๊ะ มาหะมะ
กระทรวงศึกษาธิการ โดยคุณครูได้นำชุดสื่อการสอนด้านโภชนาการและการออกกำลังกาย รวมถึงแนวคิดหลัก 4 ประการเพื่อเด็กไทยสุขภาพดี ได้แก่ อ่าน - อ่านฉลากโภชนาการ ปรับ - หันมากินอาหารที่หลากหลาย เพิ่มผักผลไม้ ขยับ - กินเท่าไหร่ ต้องใช้ให้หมด เปลี่ยน - เปลี่ยนมากินอาหารที่มีความหวาน มัน เค็ม แต่พอดี มาบูรณาการเข้ากับกลุ่มสาระการเรียนรู้ต่างๆ ภายใต้บริบทที่เหมาะสมต่อสภาพแวดล้อมภายในโรงเรียนและของชุมชน

ครูสีตีฮามีด๊ะ กล่าวว่า เริ่มแรกได้ลองนำชุดสื่อการสอนของโครงการเด็กไทยสุขภาพดีที่ได้รับจากเนสท์เล่มาปรับใช้กับชั้นเรียนคณิตศาสตร์ของตนเองก่อน เช่น การบูรณาการการอ่านฉลากในวิชาคณิตศาสตร์ โดยให้นักเรียนนำขนมที่ชอบมาศึกษาฉลากดูว่า ให้พลังงานเท่าไร มีปริมาณน้ำตาล ไขมัน โซเดียมมากน้อยแค่ไหน แล้วช่วยกันนำเสนอข้อมูลในรูปแบบแผนภูมิแท่งเพื่อเปรียบเทียบพลังงาน และสารอาหารแต่ละประเภท ซึ่งนอกจากนักเรียนจะได้ซึมซับข้อมูลที่ได้จากการศึกษาด้วยตนเองแล้ว ครูยังสามารถสอดแทรกความรู้ เช่น โทษของการทานขนมกรุบกรอบมากเกินไป และวิธีการเลือกรับประทานอาหารให้ได้พลังงาน และสารอาหารในปริมาณที่เหมาะสมในแต่ละวันให้แก่นักเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย

“ก่อนหน้านี้ เคยสงสัยว่าเราจะสอนโภชนาการให้แก่เด็กในชั้นเรียนคณิตศาสตร์ได้อย่างไร แต่เมื่อได้ลองศึกษาสื่อการสอนของโครงการเด็กไทยสุขภาพดี และนำมาประยุกต์ใช้ในชั้นเรียนอย่างจริงจัง จึงพบว่า วิชาคณิตศาสตร์ และความรู้ด้านโภชนาการมีความเชื่อมโยงกันมากกว่าที่คิด และยิ่งเมื่อนำเทคนิคการสอนแบบแอ็กทีฟเลิร์นนิ่ง (Active Learning) ที่ให้เด็กได้มีส่วนร่วมในการปฏิบัติมากที่สุดมาปรับใช้ด้วย ผลที่ตามมาคือ เด็กมีความสนใจ ซึมซับ และตระหนักถึงความสำคัญของโภชนาการมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด” ครูสีตีฮามีด๊ะ กล่าว พร้อมยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่ตนเคยพานักเรียนไปทัศนศึกษา และเมื่อมีการจอดแวะพักที่ร้านสะดวกซื้อ ได้สังเกตเห็นว่านักเรียนช่วยกันศึกษาฉลากขนมกันก่อนที่จะตัดสินใจซื้อ และไม่เลือกซื้อน้ำหวาน น้ำอัดลมกันเหมือนเมื่อก่อน

ความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นนี้ ทำให้ครูสีตีฮามีด๊ะ มีกำลังใจที่จะส่งต่อความรู้และขยายผลโครงการเด็กไทยสุขภาพดีไปสู่คุณครูในกลุ่มสาระการเรียนรู้อื่นๆ เช่น การเรียนรู้คำศัพท์ด้านโภชนาการในชั้นเรียนวิชาภาษาอังกฤษ กิจกรรมเกมบันไดงูโภชนาการในชั้นเรียนสุขศึกษา ตลอดจนการต่อยอดไปสู่การจัดงานวันเด็กไทยสุขภาพดีเพื่อให้ครู และนักเรียนทุกคนได้ร่วมทำภารกิจพิชิตสุขภาพดี ผ่าน 4 ฐานกิจกรรมเพื่อเรียนรู้เรื่องการกินหลากหลายเพิ่มผักผลไม้ กินหวานมันเค็มแต่พอดี อ่านฉลากโภชนาการ และกินเท่าไหร่ต้องใช้ให้หมด รวมถึงการบรรจุกิจกรรมแกนนำนักเรียนไทยสุขภาพดี เป็นหนึ่งในกิจกรรมการเรียนรู้ผ่านการลงมือปฏิบัติ (Active Learning) ของโรงเรียนบ้านเจาะกือแย

“นอกจากการขยายผลการเรียนรู้ด้านโภชนาการ และการสร้างเสริมสุขภาพให้ครอบคลุมทั้งโรงเรียนแล้ว เรายังต้องการขยายผลไปสู่ชุมชน โดยมีนักเรียนแกนนำทำหน้าที่หลักในการสานต่อภารกิจนี้ เนื่องจากบริเวณชุมชนบ้านเจาะกือแย ใช้ภาษาท้องถิ่นมลายูเป็นภาษาหลัก ผู้ปกครองบางคนจะไม่ถนัดภาษาไทย ในขณะที่หนังสือ สื่อการสอน หรือแม้แต่คู่มือโภชนาการสำหรับผู้ปกครองจะเป็นภาษาไทย เราจึงต้องให้เด็กเป็นตัวกลางเพื่อสื่อสารกับผู้ปกครองถึงความรู้ด้านโภชนาการที่ถูกต้อง นักเรียนแกนนำกลุ่มนี้มาจากการคัดเลือกของนักเรียนด้วยกันเอง

นอกจากจะมีหน้าที่สำคัญในการนำเพื่อนๆ ทำกิจกรรมต่างๆ เช่น เป็นแกนนำในการออกกำลังกายทุกเช้า คิดค้นเกมและกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพและโภชนาการในแต่ละสัปดาห์ให้กับเพื่อนๆ แล้ว เราคาดหวังว่า พวกเขาจะสามารถสื่อสารกับผู้ปกครองถึงความสำคัญของโภชนาการภายในครอบครัวด้วย ซึ่งล่าสุด เราพบว่ามีเด็กหลายคนได้นำเมนูสุขภาพที่เรียนรู้มาจากโรงเรียนไปแนะนำให้ผู้ปกครองปรุงให้ทานที่บ้าน นับเป็นความสำเร็จอีกก้าวของโครงการฯ ในการขยายผลสู่บ้าน” ครูสีตีฮามีด๊ะ กล่าว
อ. สุกัญญา งามบรรจง
“นอกจากนี้ เราพยายามขับเคลื่อนสู่ชุมชนให้มากขึ้นด้วยการออกไปพบปะเยี่ยมเยียนผู้ปกครองและชุมชนเพื่อให้ความรู้เรื่องโภชนาการที่เหมาะสมสำหรับเด็กวัยเรียน รวมถึงชี้แจงให้ผู้ปกครองเข้าใจว่า เด็กนักเรียนโดยเฉพาะชั้นอนุบาล ไม่จำเป็นต้องมีขนมกรุบกรอบ และน้ำหวานติดตัวมาที่โรงเรียนด้วย เนื่องจากทางโรงเรียนมีการจัดเตรียมมื้อกลางวัน น้ำสมุนไพรหวานน้อย และอาหารว่างเพื่อสุขภาพให้นักเรียนทุกคนอยู่แล้ว เป็นต้น”

อ.สุกัญญา งามบรรจง ที่ปรึกษาด้านพัฒนากระบวนการเรียนรู้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) อธิบายว่า “โภชนาการและสุขภาพเป็นพื้นฐานที่สำคัญต่อการเรียนรู้ของเด็ก หากเด็กมีสุขภาพไม่แข็งแรง ต้องขาดเรียนบ่อย ก็จะส่งผลต่อศักยภาพการเรียนรู้ของพวกเขา การเรียนรู้ด้านโภชนาการไม่จำเป็นต้องกำจัดเฉพาะในชั้นเรียนสุขศึกษาเท่านั้น ครูผู้สอนสามารถบูรณาการความรู้ด้านโภชนาการ และการออกกำลังกายมาผูกโยงกับกลุ่มสาระการเรียนรู้วิชาต่างๆ ได้โดยนำสื่อการสอนจากโครงการเด็กไทยสุขภาพดีมาประกอบ

สิ่งสำคัญ คือ ครูจะต้องเปลี่ยนเทคนิคการสอนจากการเป็นผู้ให้หรือผู้บอกความรู้ (Passive learning) มาเป็นผู้อำนวยความสะดวกและกระตุ้นให้นักเรียนได้เรียนรู้ผ่านการลงมือปฏิบัติ (Active learning) ด้วยการตั้งคำถาม พร้อมนำสื่อ และกิจกรรมต่างๆ มาใช้ เพื่อกระตุ้นให้เด็กได้รู้จักการคิดวิเคราะห์ ไม่ใช่การเรียนรู้จากการจำคำสอนของครูเพียงฝ่ายเดียว กิจกรรมภายในห้องเรียน เช่น การให้เด็กๆ นำฉลากมาอ่าน หรือคิดคำนวณพลังงานด้วยกันภายในชั้นเรียน นอกจากเด็กนักเรียนจะได้ลงมือปฏิบัติจริงแล้ว ยังเป็นการนำสิ่งที่อยู่ในชีวิตประจำวันของเด็กมาใช้เป็นสื่อให้เด็กได้เห็นว่าสามารถนำความรู้นี้ไปใช้ได้ในชีวิตจริง จึงเกิดความสนใจ และซึมซับเอาความรู้นี้มาปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้โดยไม่รู้ตัว ผลสัมฤทธิ์ในการเรียนรู้จึงดีกว่าการฟังจากครูเพียงฝ่ายเดียว”
นางกนกทิพย์ ปริญญานุสสรณ์
นางกนกทิพย์ ปริญญานุสสรณ์ ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาและสื่อสารโภชนาการเพื่อสุขภาพ บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด กล่าวทิ้งท้ายว่า “เนสท์เล่ ตระหนักถึงความสำคัญของการส่งเสริมให้เยาวชนไทยมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง จึงได้ดำเนินโครงการเด็กไทยสุขภาพดีมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 14 เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจด้านโภชนาการที่สมดุล และพฤติกรรมสุขภาพที่เหมาะสมให้แก่เยาวชนไทยทั่วประเทศ โดยโครงการนี้ได้เข้าถึงคุณครู 7,578 คน และเด็กนักเรียนกว่า 1.67 ล้านคนทั่วประเทศ โครงการฯ จะยังคงเดินหน้าสร้างกำลังใจ และเชิดชูคุณครูที่ขับเคลื่อนโภชนาการ และสุขภาพของเด็กไทยอย่างจริงจัง ด้วยการเป็นผู้ช่วยคุณครูในการพัฒนาสื่อใหม่ๆ พร้อมแบ่งปันความรู้ และประสบการณ์จากครูต้นแบบให้เข้าถึงได้ง่ายขึ้น”

เนสท์เล่ ขอเชิญชวนผู้สนใจการเรียนการสอนด้านโภชนาการ สามารถดาวน์โหลดสื่อโครงการเด็กไทยสุขภาพดีได้ฟรี ที่ www.dekthaidd.com เพื่อใช้ประกอบการสอนให้เข้าใจง่าย และจัดกิจกรรมที่สนุกสนานในการส่งเสริมด้านโภชนาการ และการออกกำลังกายสำหรับเด็กวัยเรียน



กำลังโหลดความคิดเห็น