xs
xsm
sm
md
lg

กลุ่มรักสัตว์จ่อฟ้อง จนท.ทำเกินกว่าเหตุ หลังกำจัดสุนัข-แมวแทบเกลี้ยงหมู่บ้านสกัดพิษสุนัขบ้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เชียงราย - เครือข่ายกลุ่มพิทักษ์สัตว์หารือทีมกฎหมาย จ่อฟ้องดำเนินคดีกรมปศุสัตว์-เจ้าหน้าที่ทำเกินกว่าเหตุ หลังจับสุนัข-แมวหมู่บ้านชายแดนแม่ฟ้าหลวงกำจัดแทบเกลี้ยงหมู่บ้านไม่ต่ำกว่า 130 ตัว สกัดโรคพิษสุนัขบ้า

วันนี้ (1 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้ากรณีเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ จ.เชียงราย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำสุนัขและแมวของชาวบ้านจะลอ หมู่ 10 ต.แม่ฟ้าหลวง อ.แม่ฟ้าหลวง ประมาณ 100 ตัวไปกำจัดเพื่อควบคุมการระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าเมื่อวันที่ 27 ม.ค.ที่ผ่านมา หลังพบการระบาดของโรคในหลายตำบลจจนต้องประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติ

ล่าสุดชาวบ้านในหมู่บ้านจะลอที่ไม่ยอมส่งมอบสุนัขจำนวน 4 ตัว ได้เร่งสร้างกรงขังสัตว์เลี้ยงของตัวเองอย่างแน่นหนาเพื่อให้เป็นไปตามระเบียบที่เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์แนะนำ

กลุ่มองค์กรพิทักษ์สัตว์หลายองค์กร เช่น กลุ่มรักหมาจัง, องค์กรสวัสดิภาพสัตว์, มูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม, sos animals thailand, the hop thailand ฯลฯ ได้หารือกับทีมกฎหมายเพื่อจะดำเนินคดีต่อเจ้าหน้าที่เรื่องการกระทำเกินกว่าเหตุ และปฏิบัติหน้าที่ไม่เป็นไปตามกรอบวิธีการปฏิบัติตามลำดับใน พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ และ พ.ร.บ.ควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าแล้ว

น.ส.ฎายิน เพชรรัตน์ ผู้ก่อตั้ง sos animals thailand กล่าวว่า ถือว่าเจ้าหน้าที่ทำเกินกว่าเหตุ เพราะกำจัดสุนัขและแมวไปทั้งหมด 130 ตัว ทำให้ชาวบ้านประมาณ 60 ครอบครัวต้องสูญเสีย โดยหนึ่งในจำนวนนี้เป็นแมวที่เพิ่งคลอดลูกตัวเล็กๆ อยู่ด้วย ขณะที่พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบก็มีหลายหมู่บ้าน ไม่ใช่เฉพาะหมู่บ้านจะลอเท่านั้น แต่พื้นที่อื่นมีการกำจัดเฉพาะสัตว์ที่ติดเชื้อ ส่วนตัวที่ต้องสงสัยก็ให้กักไว้ดูอาการ แต่ที่หมู่บ้านจะลอกลับมีสัตว์เลี้ยงถูกกำจัดจำนวนมาก รวมทั้งลักษณะการปฏิบัติยังรวบรัดมาก

ดังนั้น ทางองค์กรฯ จึงได้ส่งหนังสือไปถึงอธิบดีกรมปศุสัตว์เพื่อสอบถามข้อเท็จจริง แต่ก็ไม่ได้รับคำตอบ จึงได้ร่วมกับองค์กรต่างๆ ดังกล่าวเรียกร้องขอความเป็นธรรมให้แก่ชาวบ้าน และจัดทำเป็นหนังสือสอบถามกรมควบคุมโรคติดต่อ เรื่องระเบียบวิธีการปฏิบัติที่ถูกต้อง และเตรียมแจ้งความเอาผิดผู้ที่เกี่ยวข้อง คาดว่าจะใช้เวลาอีกราว 1-2 วันจึงจะได้ข้อสรุป

ด้านนายนพพร มหากันธา ปศุสัตว์ จ.เชียงราย กล่าวว่า เมื่อมีการระบาดของโรค และเข้าถึงคน เจ้าหน้าที่ก็จำเป็นต้องป้องกันและควบคุมเอาไว้ให้ได้ ซึ่งตามหลักการก็จะมีการกักสัตว์กลุ่มเสี่ยงเอาไว้ แต่เนื่องจากพื้นที่เกิดเหตุครั้งนี้เป็นภูเขาสูง และไม่มีรั้วรอบขอบชิดชัดเจน การจะกักสัตว์เป็นระยะเวลา 6 เดือนเพื่อไม่ให้สัตว์ไปแพร่เชื้อจึงทำได้ยากมาก และชาวบ้านส่วนใหญ่ก็แจ้งว่าไม่สามารถทำได้ ดังนั้นจึงเห็นพ้องร่วมกันในการกำจัดผ่านการทำประชามติทั้งหมู่บ้านแล้ว

“ยืนยันว่าทั้งผมและเจ้าหน้าที่ไม่ได้อยากจะทำแบบนี้ ทุกคนรู้สึกเสียใจ แต่มีความจำเป็นต้องทำตามหน้าที่”

นายนพพรกล่าวอีกว่า การกำจัดก็เป็นไปตามหลักวิชาการของกรมปศุสัตว์ โดยไม่มีการทารุณและไม่ทำให้ทรมาน รวมทั้งมีหน่วยงานด้านสาธารณสุขเข้าร่วมด้วย ส่วนกรณีเจ้าของสัตว์ที่สามารถกักสัตว์ของตัวเองได้ ทางเจ้าหน้าที่ก็ยินยอมโดยให้ปฏิบัติตามระเบียบของกรมปศุสัตว์อย่างเคร่งครัด แต่เมื่อมีการร้องเรียนกัน ทางกรมปศุสัตว์ก็จะพยายามทำความเข้าใจกับกลุ่มพิทักษ์สัตว์ต่อไป





กำลังโหลดความคิดเห็น