xs
xsm
sm
md
lg

สมัชชาสภาพลเมืองอีสานยื่นรัฐฯ แก้ปัญหาปากท้อง ‘สนธิรัตน์’ รุกใช้อี-คอมเมิร์ซปั้นยอดสินค้าชุมชน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
นครราชสีมา - ขบวนองค์กรชุมชนภาคอีสาน 20 จังหวัดจัดงาน “สมัชชาสภาพลเมือง ‘ตุ้มโฮม ฮักแพง แบ่งปัน’ อีสานหนึ่งเดียว” ระดมข้อเสนอเชิงนโยบาย ทั้งด้านเกษตรและความมั่นคงด้านอาหาร ทรัพยากรธรรมชาติ ที่ดินทำกิน เศรษฐกิจฐานราก แก้กฎหมายลดความเหลื่อมล้ำ เสนอ รมว.พาณิชย์แก้ปัญหาปากท้อง ยุติการใช้สารเคมีการเกษตร เลิกสร้างเขื่อน จัดตั้งกองทุนธนาคารที่ดินเพื่อการเกษตรปีละ 1 แสนล้าน ‘สนธิรัตน์’ เผยรัฐบาลเตรียมทุ่มงบบัตรสวัสดิการเฟส 2 อีก 35,000 ล้านบาท รุกใช้ e-commerse ให้โชวห่วยทั่วประเทศขายสินค้าชุมชน ใช้เวลาที่เหลืออีกปีแก้ปัญหาความยากจน

ระหว่างวันที่ 26-27 ม.ค.ที่ผ่านมา ขบวนองค์กรชุมชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด ร่วมกับ 20 องค์กรภาคี จัดงาน “สมัชชาสภาพลเมือง ‘ตุ้มโฮม ฮักแพง แบ่งปัน’ อีสานหนึ่งเดียว” (การร่วมแรง ร่วมใจ แบ่งปันรวมพลังอีสาน) ที่หอประชุม อ.ลำทะเมนชัย จ.นครราชสีมา มีประชาชนจากเครือข่ายต่างๆ ในภาคอีสานเข้าร่วมงานประมาณ 2,000 คน ภายในงานมีการจัดแสดงนิทรรศการขององค์กรชุมชน แสดงสินค้าชุมชน การแสดงศิลปวัฒนธรรม การจัดประชุมกลุ่มย่อยในประเด็นต่างๆ เพื่อนำข้อเสนอจากที่ประชุมมาประมวลเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายยื่นต่อ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเดินทางมาร่วมงานและรับมอบข้อเสนอเชิงนโยบายจากตัวแทนสมัชชาฯ เมื่อวันที่ 27 ม.ค.ที่ผ่านมา

นายวิรัตน์ สุขกุล ประธานคณะอนุกรรมการภาคอีสาน กล่าวว่า งานสมัชชาพลเมืองอีสานฯ จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1. กระตุ้นและขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้พึ่งพาตนเอง โดยผ่านการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในระบบคลัสเตอร์ เกษตรอินทรีย์ วิสาหกิจชุมชน และการท่องเที่ยวโดยชุมชน 2. เพื่อสรุปบทเรียน “เหลียวหลังแลหน้าการขับเคลื่อนงานพัฒนาภาคประชาชนอีสาน” เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนตำบลภาคอีสาน และการยื่นข้อเสนอเชิงนโยบายต่อรัฐบาล 3. ตุ้มโฮมขบวนองค์กรชุมชนในภาคอีสาน เพื่อระดมทุนสมทบกองทุนเพื่อการพัฒนา และธนาคารเมล็ดพันธุ์พืช และ 4. เพื่อเชื่อมร้อย สร้างพลัง และยกระดับขบวนองค์กรชุมชนภาคอีสานทุกระดับสู่ชุมชนพึ่งตนเองตามศาสตร์พระราชา

ประธานคณะอนุกรรมการภาคอีสานกล่าวต่อว่า ชุมชนชาวอีสานส่วนใหญ่เป็นชาวไร่ ชาวนา มีวิถีชีวิตและการกินอยู่อย่างเรียบง่าย อิงอาศัยฐานทรัพยากรธรรมชาติอย่างลึกซึ้ง แต่ผลจากการพัฒนาในช่วง 50 ปีที่ผ่านมาได้ส่งผลกระทบต่อสังคมชุมชนภาคอีสานอย่างกว้างขวาง แบบแผนการใช้ชีวิตและการบริโภคของผู้คนเปลี่ยนแปลงไป ต้องดิ้นรนกับการหาเงินหารายได้ ละทิ้งการผลิตที่หลากหลายเพื่อเลี้ยงชีพ มีการพึ่งพาอาหารจากระบบตลาดมากขึ้น การดำรงชีพต้องผ่านเงินตรามากขึ้น ดังนั้นเพื่อรักษาความมั่นคงอาหารบนฐานทรัพยากร รวมถึงอำนาจการจัดการของชุมชน แบบแผนการผลิต การบริโภคเพื่อสุขภาพ ความเป็นธรรมและสิ่งแวดล้อม ผู้ผลิตที่ใช้แบบแผนการผลิตที่ยั่งยืนยืน สมัชชาพลเมืองภาคอีสานฯ จึงมีข้อเสนอเชิงนโยบายต่อรัฐบาล ดังนี้

1. รัฐบาล โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องใช้อำนาจตาม พ.ร.บ. วัตถุอันตราย พ.ศ. 2551 ยุติการใช้สารเคมีการเกษตรกำจัดศัตรูพืชอันตราย 5 ชนิด ได้แก่ พาราควอต ไกลโฟเสต คลอร์ไพริฟอส คาร์โบฟูราน และเมทโทมิล

2. รัฐต้องทบทวนมาตรการการควบคุมสารเคมีการเกษตร ภายใต้ พ.ร.บ.อันตราย 2551 ที่มีช่องว่างและมีนัยสำคัญต่อการแทรกแซงผลประโยชน์ โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในคณะกรรมการวัตถุอันตราย และกำหนดมาตรการลดการใช้สารเคมีเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อให้ประเทศไทยเป็นพื้นที่ทางอาหาร และเกษตรปลอดภัยแห่งอาเซียน ภายใน 5 ปี

3. รัฐต้องสนับสนุนงบประมาณ การพัฒนาการผลิตที่ยั่งยืนในรูปแบบที่เหมาะสมกับภูมินิเวศวัฒนธรรม เช่น การจัดการเมล็ดพันธุ์ท้องถิ่น การจัดการน้ำเพื่อการผลิต และเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับเกษตรกรรายย่อย

4. รัฐต้องมีนโยบายส่งเสริมสนับสนุนให้กลุ่มองค์กรชุมชนของสภาองค์กรชุมชนในระดับตำบลให้เป็นกลไกหลักในการเฝ้าระวัง ปกป้อง คุ้มครองพื้นที่อาหารของชุมชนท้องถิ่น

5. รัฐต้องมีนโยบายต่อการกำหนดมาตรการป้องกันภัยคุกคามฐานทรัพยากรอาหารของชาติ ที่กำลังถูกรุกรานโดยทุนข้ามชาติทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น การคุ้มครองพื้นที่การเกษตร และพื้นที่ทางอาหาร

6. รัฐต้องส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจฐานราก การเพิ่มพื้นที่เกษตรกรรมยั่งยืน และระบบการผลิตอาหารที่ปลอดภัย ตลาดเขียว เพื่อเป็นแหล่งอาหารของชุมชน และมีมาตรการสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรผลิตการเกษตรอินทรีย์มีจำนวนมากขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่น รัฐต้องทบทวน ยกเลิกแผนการสร้างเขื่อนทุกเขื่อนที่เกี่ยวข้องทั้งในและนอกประเทศไทย รัฐควรส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือกที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ลม แสงอาทิตย์ โดยมุ่งให้เกิดประโยชน์โดยรวมโดยเฉพาะประชาชน ชุมชนท้องถิ่น มากกว่ากลุ่มทุน รัฐต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมทุกขั้นตอนในการบริหารจัดการน้ำ โดยให้ภาคประชาชนมีจำนวนอย่างน้อยร้อยละ 50 ของคณะกรรมการ กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมทั้งการบริหารจัดการกองทุนเพื่อการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ (ดิน น้ำ ป่าไม้ และภัยพิบัติ)

รัฐต้องยุติการสัมปทานและอาชญาบัตรเหมืองแร่ทุกประเภท รวมทั้งพลังงานน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ให้มีการสำรวจแหล่งแร่ทุกชนิดเพื่อกักเก็บสำรองไว้เผื่อคนรุ่นลูกรุ่นหลานได้ใช้ในอนาคต และเปิดเผยข้อมูลการสำรวจให้กับชุมชนซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ได้รับรู้ กำหนดบทลงโทษผู้ประกอบการที่ก่อให้เกิดผลกระทบอย่างชัดเจน และมีการบังคับใช้ กฎหมาย และดำเนินการเอาผิดผู้ประกอบการเหมืองแร่

รัฐต้องทบทวนและเร่งรัดผลักดัน พ.ร.บ.และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การบริหารจัดการทรัพยากรที่ดินในพื้นที่ป่า ทรัพยากรป่าไม้ ความหลากหลายทางชีวภาพ ให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน และเกิดประสิทธิภาพสูงสุด จึงมีข้อเสนอให้มีการปฏิรูปกฎหมายเกี่ยวกับป่าไม้ และกฎหมายเกี่ยวกับที่ดินในพื้นที่ป่า ทบทวนและปฏิรูปการจัดที่ดินแก่ประชาชนทั้งระบบ โดยให้บุคคลและชุมชนมีสิทธิจัดการบํารุงรักษาและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืน

ส่วนข้อเสนอด้านที่ดินทำกิน กรณีพื้นที่มีข้อพิพาทระหว่างภาคประชาชนกับรัฐ ให้รัฐต้องยุติการไล่รื้อ จับกุม ดำเนินคดีต่อประชาชนที่อาศัยและทำกินในที่ดินของรัฐ ที่ดินเอกชนที่อยู่ระหว่างกระบวนการแก้ไขปัญหา ทั้งชุมชนเมืองและชนบท รัฐต้องเร่งพิสูจน์สิทธิที่ดินของประชาชนที่อาศัยอยู่ก่อนการประกาศเขตป่าของรัฐทุกประเภท และที่ราชพัสดุ เพื่อให้ประชาชนสามารถเป็นเจ้าของตามกฎหมาย

รัฐต้องสนับสนุนงบประมาณจัดตั้งกองทุนธนาคารที่ดินเพื่อการเกษตร ปีละ 1 แสนล้านบาท เพื่อนำเงินกองทุนไปซื้อที่ดินของเกษตรกรที่นำไปจำนองและกำลังจะหลุดมือ รวมทั้งจัดซื้อที่ดินที่เป็นทรัพย์ประกันหนี้เสียของธนาคารหรือสถาบันการเงิน ทั้งของรัฐและเอกชน มาบริหารให้กระจายไปยังเกษตรกรที่ไร้ที่ดินและที่มีที่ดินไม่เพียงพอ โดยให้ชุมชนเป็นผู้กำหนดระบบการบริหารจัดการที่ดิน ให้เป็นหลักประกันของคนจนและคนไร้ที่ดินทั่วประเทศ และการคุ้มครองที่ดินให้เป็นพื้นที่เกษตรกรรม

รัฐต้องทบทวนและแก้ไขกฎหมายในที่ดินของรัฐให้แก่ประชาชน เพื่อมาช่วยเหลือผู้ที่ไม่มีที่ดินทํากินหรือแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ เป็นการกระจายการถือครองที่ดิน เช่น ประมวลกฎหมายที่ดิน พระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511 พระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 ฯลฯ

ด้านเศรษฐกิจฐานราก ขอให้รัฐบาลกำหนดแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากเป็นวาระแห่งชาติด้วยการจัดตั้งกองทุน “การสร้างเศรษฐกิจชุมชนฐานรากตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ” ภายใต้การดำเนินงานขึ้นตรงต่อสำนักนายกรัฐมนตรี มีคณะทำงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากครอบคลุมพื้นที่ 5 ภูมิภาค กำหนดพื้นที่เชิงยุทธศาสตร์แบบบูรณาการ ตั้งแต่ระดับตำบลจนถึงระดับประเทศ โดยใช้สภาองค์กรชุมชนตำบล จำนวน 6,590 แห่ง เป็นแกนกลางสำคัญในการขับเคลื่อนโดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้งสร้างความร่วมมืออย่างเป็นระบบ

ข้อเสนอเกี่ยวกับการจัดทำกฎหมายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ เช่น ให้มีกฎหมายที่ดินในอัตราภาษีก้าวหน้า ให้มีกฎหมายกระจายถือครองที่ดินทำกิน และปรับปรุงกฎหมายที่ล้าหลัง ให้คงสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แก้ไข พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ. 2551 เพื่อยกระดับเป็นสภาพลเมือง และให้สิทธิการมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายสาธารณะ ฯลฯ

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า วันนี้ขบวนองค์กรชุมชนภาคอีสาน 20 จังหวัดเข้มแข็งพอสมควร แต่จะให้พี่น้องขบวนองค์กรชุมชนเข้มแข็งโดยลำพังไม่ได้ รัฐจึงต้องเข้ามาช่วย โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจชุมชนหรือเศรษฐกิจฐานราก จึงมีนโยบายทำบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเฟสที่ 2 ที่จะลงมาอีกในเร็วๆ นี้จำนวน 35,000 ล้านบาท เพื่อมาดูแลประชาชนประมาณ 11 ล้านคนที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาท และเพื่อช่วยเหลือพี่น้องร้านค้าโชวห่วยให้อยู่ได้ ร้านค้าเหล่านี้ปัจจุบันมีอยู่ 20,000 ร้านค้า และจะขยายเป็น 40,000 ร้าน แต่จะต้องนำสินค้าชุมชนต่างๆ เช่น ข้าวถุง ปลาร้า ไปวางขาย

“เอาบัตรไปรูดปลาร้าก็ต้องได้ จะซื้อข้าวสารต้องข้าวสารพี่น้องเราเองไปรูดบัตรซื้อ ผมจะให้พาณิชย์จังหวัดทุกจังหวัดเป็นคนคัดสินค้า สินค้าพี่น้องต้องมีคุณภาพ ทำข้าว ปลาร้าให้มีมาตรฐาน ติดฉลาก มีตรา อย. หากขายดีจะขายไปทั่วประเทศได้เพราะมีร้านค้าอยู่ถึง 40,000 แห่งทั่วประเทศ และต่อไปร้านค้าเหล่านี้จะต้องมีอินเทอร์เน็ต เพราะรัฐบาลลงทุนทำอินเทอร์เน็ตหมู่บ้านแล้ว และใช้ e-commerse ในการซื้อขาย” รมว.พาณิชย์กล่าว และว่า ตนได้สั่งให้อธิบดีกรมกิจการค้าทำ website ของดีทั่วประเทศไทย ซึ่งต่อไปจะสามารถสั่งซื้อขายสินค้าผ่านโทรศัพท์มือถือได้ทั่วประเทศ

สำหรับข้อเสนอของขบวนองค์กรชุมชนภาคอีสานที่ยื่นมานั้น รมว.พาณิชย์กล่าวว่า ตนจะนำข้อเสนอทั้งหมดไปดูว่าเกี่ยวข้องกับกระทรวงใดบ้าง เพื่อให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องนำไปพิจารณาดำเนินการโดยเร็ว เพราะรัฐบาลมีเวลาเหลืออยู่เพียง 1 ปีจึงต้องดำเนินการให้เร็วที่สุดเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนให้แก่พี่น้องประชาชน ซึ่งในส่วนของข้อเสนอต่างๆ ที่จะรีบดำเนินการ เช่น การแก้ไขปัญหาเรื่องแหล่งน้ำ ทรัพยากรธรรมชาติและที่ดินทำกิน รวมทั้งเรื่องการจัดตั้งกองทุนการสร้างเศรษฐกิจชุมชนฐานรากฯ ก็จะรีบดำเนินการด้วย

“รัฐบาลนี้อาจไม่เก่งที่สุดในการแก้ไขปัญหา แต่รัฐบาลจะใช้เวลา 1 ปีที่เหลือทำสุดชีวิต จะทำสุดความสามารถ ทำอย่างไรให้พี่น้องยืนบนขาของตนเอง รัฐบาล พี่น้องประชาชน ภาคเอกชนต้องร่วมกัน เพื่อปากท้องของพี่น้องที่ลำบากอยู่ รัฐบาลจะมีโครงการทำให้พี่น้องหายจนให้ได้” รมว.พาณิชย์กล่าวย้ำในตอนท้าย


กำลังโหลดความคิดเห็น