xs
xsm
sm
md
lg

ธ.ก.ส.ประกาศยุทธศาสตร์ “หนี้นอกระบบเป็นศูนย์” ขจัดความยากจนภาคการเกษตร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ชัยนาท - ธ.ก.ส.ประกาศยุทธศาสตร์ “หนี้นอกระบบเป็นศูนย์” ขจัดความยากจนภาคการเกษตร บรูณาการ 3 มาตรการ 9 โครงการ ตามแนวทาง “พัฒนาตนเอง พัฒนาอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ ลดภาระหนี้สิน” ภายใต้วงเงินสินเชื่อ 9.5 หมื่นล้านบาท ช่วยแก้จนให้เกษตรกร

วันนี้ (25 ม.ค.) ดร.สุวิทย์ พูลศิลป์ ผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) พร้อมด้วย นายประภาส วันเดีย นายอำเภอสรรพยา จ.ชัยนาท ร่วมกันเป็นประธานจับรางวัลเงินฝากออมทรัพย์ทวีโชค ครั้งที่ 2/2560 ณ หอประชุมที่ว่าการอำเภอสรรพยา จ.ชัยนาท เพื่อมอบโชคให้แก่ลูกค้า ธ.ก.ส.ในจังหวัดชัยนาท ที่ฝากเงินประเภทเงินฝากออมทรัพย์ทวีโชค กับ ธ.ก.ส. จำนวนยอดเงินฝากรวมทั้งสิ้น 1,426 ล้านบาท จำนวนบัตรรางวัล 1,659,214 ฉบับ มูลค่าของรางวัลรวมทั้งสิ้นเป็นเงิน 2.9 ล้านบาท โดยผู้โชคดีได้รับรางวัลที่ 1 เป็นรถยนต์เก๋งโตโยต้า ยาริส ได้แก่ นางสมพร ส้มไม้ ลูกค้า ธ.ก.ส.สาขานางลือ

ดร.สุวิทย์ พูลศิลป์ ผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ได้แถลงข่าวโครงการตามนโยบายรัฐบาล โดยในปี 2561 ธ.ก.ส.ตั้งเป้าจะแก้ปัญหาความยากจนให้แก่เกษตรกร และให้เกษตรกรหลุดพ้นจากวงจรหนี้นอกระบบอย่างถาวร โดยใช้ 3 มาตรการ 9 โครงการ ตามแนวทางพัฒนาตนเอง พัฒนาอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ และลดภาระหนี้สิน

ดร.สุวิทย์ พูลศิลป์ เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลได้มอบหมายให้ ธ.ก.ส.เป็นจุดรับลงทะเบียนโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐปี 2560 พบว่า มีเกษตรกรลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 3,959,030 ราย อาชีพเกษตรกร จำนวน 3,322,214 ราย และอาชีพรับจ้างภาคเกษตร จำนวน 636,816 ราย โดยผู้ลงทะเบียน 460,487 ราย มีหนี้นอกระบบมูลหนี้กว่า 27,489 ล้านบาท ซึ่งคณะกรรมการ ธ.ก.ส.ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว และได้ให้ความสำคัญต่อการยกระดับเกษตรกรผู้มีรายได้น้อยให้มีรายได้ และหลุดพ้นความยากจน

จึงมีมติเห็นชอบให้ดำเนินการมาตรการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้มีรายได้น้อยที่ลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ผ่านระบบ ธ.ก.ส. ตามนโยบายรัฐบาล ประกอบด้วย มาตรการที่ 1 พัฒนาตนเอง ผ่านโครงการให้ความรู้ทางการเงินแก่เกษตรกร ลูกค้าผู้มีรายได้น้อยที่ลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2560 และโครงการเงินฝากกองทุนทวีสุข และกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) มาตรการที่ 2 พัฒนาอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ ผ่านโครงการสินเชื่อชุมชนปรับเปลี่ยนการผลิตเพื่อพัฒนาอาชีพของผู้มีรายได้น้อย (XYZ) และโครงการสินเชื่อเพื่อพัฒนาอาชีพของผู้มีรายได้น้อยที่ลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ

มาตรการที่ 3 คือ ลดภาระหนี้สินทั้งในระบบและนอกระบบ จำนวน 5 โครงการได้แก่ โครงการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของผู้มีรายได้น้อยในระบบ ธ.ก.ส. โครงการชำระดีมีคืน โครงการแก้ไขหนี้นอกระบบของเกษตรกรและบุคคลในครัวเรือนระยะที่ 3 โครงการสนับสนุนสินเชื่อกองทุนหมู่บ้านและสถาบันการเงินชุมชน เพื่อแก้ไขและป้องกันหนี้นอกระบบ โครงการสนับสนุนสินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉินระยะที่ 2 ทั้งนี้ การดำเนินมาตรการทั้ง 3 มาตรการ 9 โครงการ ใช้วงเงินสินเชื่อรวมทั้งสิ้น จำนวน 95,000 ล้านบาท




กำลังโหลดความคิดเห็น