xs
xsm
sm
md
lg

เยี่ยม..ผู้ว่าฯแพร่ ดันเป็นต้นแบบ ชาวแม่พุงทำเกษตรอินทรีย์-ปลูกข้าวลืมผัว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


แพร่ - ผู้ใหญ่บ้านเสนอแผนงดใช้สารเคมีทั้งลุ่มน้ำ พ่อเมืองพอใจพัฒนาเป็นต้นแบบดึงระบบเกษตรกรรมยั่งยืน งดใช้สารเคมีบนภูเขา - พื้นที่เกษตร เปิดพื้นที่อินทรีย์ปลูก “ข้าวลืมผัว”- ใช้พันธุ์ข้าวไร่ท้องถิ่น เดินหน้าสู่ตลาดอาหารคุณภาพปลอดภัย

นายรณเกียรติ คำน้อย ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 15 ต.แม่พุง อ.วังชิ้น จ.แพร่ ได้นำเสนอแผนงดการใช้สารเคมีในแปลงปลูกข้าวไร่และข้าวนา ในลำห้วยแม่พุง แบบ 100% ต่อ นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ ซึ่งเดินทางลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมชาวบ้านที่อาคารเอนกประสงค์ของหมู่บ้านเมื่อเร็วๆ นี้

เกี่ยวกับแนวทางการเปลี่ยนแปลงระบบเกษตรกรรมเคมีไปสู่การทำเกษตรอินทรีย์ ภายใต้การควบคุมของคณะกรรมการในระดับชุมชนและมีการตรวจหาสารปนเปื้อนจากนักวิชาการใน มหาวิทยาลัยแม่โจ้ - แพร่ เฉลิมพระเกียรติ ซึ่งขณะนี้ได้กำหนดพื้นที่ข้าวไร่ หรือข้าวดอย ปลูกข้าวไร่พันธุ์ลืมผัว จำนวน 109 ไร่

นายรณเกียรติ กล่าวว่า ในชุมชนพยายามที่จะเปลี่ยนระบบการเกษตรมาเป็นเกษตรอินทรีย์มานานพอสมควร แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากราคาผลผลิตไม่จูงใจให้เกษตรกรเกิดการเปลี่ยนแปลง ล่าสุด ได้ประสานงานกับกลุ่มพืชเกษตรอินทรีย์ในภาคกลาง เครือข่ายกสิกรรมไร้สารพิษ จ.ลพบุรี ซึ่งพร้อมรับซื้อข้าวอินทรีย์ โดยเฉพาะข้าวลืมผัวเป็นข้าวเหนียวที่ตลาดต้องการสูง

นายติ๊บ หล้าบือ เกษตรกรผู้ปลูกข้าวอินทรีย์ในบ้านแม่พุงหลวง กล่าวว่า วางแผนงดใช้สารเคมีทั้งแปลงปลูกจำนวน 10 ไร่ โดยจะปลูกข้าวลืมผัวทั้งหมด ซึ่งขณะนี้มีสมาชิกทั้งหมด 33 รายแล้ว ถ้าเป็นไปตามแผนจะได้ข้าว 35 ตัน ในจำนวนนี้สามารถจำหน่ายได้ตันละ 20,000 บาท ทำให้ชาวบ้านมีรายได้ดีขึ้น มีมูลค่ารวมต่อหนึ่งรอบการปลูกถึง 700,000 บาท ซึ่งจะเป็นต้นแบบเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขยายวงออกไปในตำบล และน่าจะเป็นตัวอย่างการปลูกพืชอินทรีย์ที่ดีกว่าการปลูกพืชใช้สารเคมี

นายพงศ์รัตน์ ภิรมรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ กล่าวว่า ต้องขอชื่นชมชาวบ้านที่มีการรวมกลุ่มคิดก้าวหน้าในการทำการเกษตรอินทรีย์ ภายใต้การสนับสนุนของสถาบันการศึกษามหาวิทยาลัยแม่โจ้ - แพร่เฉลิมพระเกียรติ ที่เข้ามาเป็นที่ปรึกษางานวิชาการ รวมทั้งกรมการข้าวศูนย์วิจัยข้าวแพร่ เข้ามาร่วมสนับสนุน ซึ่งจะสามารถพัฒนาในแนวทางเกษตรแปลงใหญ่ได้

โดยแนวทางของชาวบ้านชี้ชัดว่าไม่ได้ทำให้ได้อาหารปลอดภัยเท่านั้น แต่ยังแก้ปัญหาป่าไม้ การจัดการน้ำ และปัญหาหมอกควัน ไปพร้อมๆ กัน หมู่บ้านยังมองเรื่องการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพของสายพันธุ์ไม้ท้องถิ่นอีกด้วย




กำลังโหลดความคิดเห็น