xs
xsm
sm
md
lg

โขลงช้างป่าอาละวาดหนักข้ามแม่น้ำปราณบุรี บุกกัดกินโค่นไร่กล้วยเกือบ 10 ไร่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ประจวบคีรีขันธ์ - โขลงช้างป่าแก่งกระจานนับ 10 ตัว อาละวาดหนักข้ามแม่น้ำปราณบุรี บุกเข้ากัดกินไร่กล้วยหอมทอง และกล้วยน้ำว้า ของเกษตรกรในโครงการสหกรณ์ห้วยสัตว์ใหญ่ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ฝั่งบ้านป่าเด็ง รอยต่อป่าละอู เสียหายเกือบ 10 ไร่ เผยปัญหาช้างป่าเริ่มทวีความรุนแรง ขณะที่แนวโน้มการประกาศเป็นเขตประสบภัยพิบัติเพื่อเยียวยาความเสียหายอาจไม่สามารถดำเนินการได้

วันนี้ (14 ธ.ค.) หลังเกิดเหตุการณ์ช้างป่าในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ออกจากป่าบุกเข้ากัดกินโค่นต้นทุเรียน และทำลายรถยนต์ของชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในโครงการสหกรณ์ห้วยสัตว์ใหญ่ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ต.ห้วยสัตว์ใหญ่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ อย่างต่อเนื่อง ถึงแม้วานนี้ นายโชตินรินทร์ เกิดสม รอง ผวจ.ประจวบฯ และหน่วยงานภาครัฐจะลงมาติดตามหาแนวทางการแก้ไขปัญหา และหาทางเยียวยา

โดยเฉพาะในส่วนของรถยนต์ที่พังนั้น เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และหน่วยงานต่างๆได้นำเงิน จำนวน 30,000 บาท มาเป็นค่าซ่อมรถในเบื้องต้นให้แก่ นายสุวิทย์ บุญมี เจ้าของรถเก๋ง เพื่อให้นำรถไปซ่อม หลังจากนั้น จะมอบเงินให้อีก 30,000 บาท ในภายหลัง ส่วนพืชผลทางการเกษตรที่เสียหาย โดยเฉพาะต้นทุเรียนนั้นแนวทางคือ ทางจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จะช่วยเหลือเป็นพันธุ์ทุเรียนในเบื้องต้นให้แก่ ป้าประเทือง นุ่มน้อย เกษตรกรชาวสวนต่อไป ซึ่งทั้งหมดอยู่ระหว่างการพิจารณา

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ นางสุนันทา พิมพ์ไทย นายก อบต.ห้วยสัตว์ใหญ่ จะได้เก็บข้อมูลความเสียหายกรณีช้างป่าเข้าทำลายพืชผลทางการเกษตร ทรัพย์สิน บ้านเรือน และรถยนต์ที่ได้รับความเสียหายในช่วงระยะนี้ตามที่ นายโชตนรินทร์ เกิดสม รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่เดินทางลงพื้นที่ในจุดที่เสียหายทั้งสวนทุเรียน และรถยนต์เก๋งที่ถูกช้างพังแล้วก็ตาม และได้แนะนำให้ทาง อบต.ห้วยสัตว์ใหญ่ ดำเนินการทางเอกสารส่งเรื่อง

เพื่อนำเสนอต่อนายอำเภอหัวหิน ในวันประชุมคณะกรรมการดำเนินการแก้ปัญหาช้างป่าในวันที่ 15 ธันวาคม 2560 นี้ เพื่อนำส่งต่อให้ทาง นายพัลลภ สิงหเสนี ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้พิจารณาหลักเกณฑ์ในการที่จะประกาศเป็นเขตพื้นที่ภัยพิบัติ เพื่อสามารถช่วยเหลือเยียวยาชาวบ้านได้นั้น

ซึ่งเบื้องต้น ถึงแม้จะยังไม่มีการยื่นหนังสือ แต่ทางป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตรวจสอบแล้วหลักเกณฑ์ไม่สามารถประกาศได้ เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวไม่มีเอกสารสิทธิครอบครองที่ดิน เพราะเป็นพื้นที่เขตปลอดภัยทางทหาร และที่ดินตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ได้พระราชทานที่ดินทำกินให้แก่เกษตรกรที่ยากจนครอบครัวละ 23 ไร่ ตั้งแต่ปี 2520 ครอบครัวละ 23 ไร่ โดยห้ามขาย หรือโอนสิทธิให้แก่ผู้อื่นยกเว้นทายาท มีเพียงใบเสียภาษีบำรุงท้องที่เท่านั้นจึงไม่สามารถดำเนินการประกาศได้

ปัจจุบัน โขลงช้างป่ากว่า 200 ตัว ที่ทางอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน รวบรวมข้อมูลระบุว่า อาศัยหากินอยูในพื้นที่โดยรอบของตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ อ.หัวหิน จังหวัดประจวบฯ และตำบลป่าเด็ง อำเภอแก่กงระจาน จังหวัดเพชรบุรี โดยตกกลางคืนจะกระจายแบ่งเป็นโขลงย่อยโขลงละประมาณ 10-20 ตัว ออกจากป่าเข้ากัดกินพืชไร่ ในพื้นที่โครงการหมู่บ้านสหกรณ์ห้วยสัตว์ใหญ่ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งมีทั้งตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ และตำบลป่าเด็ง ซึ่งหนักสุดเป็นพื้นที่ตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ ซึ่งถือเป็นจุดวิกฤต

ล่าสุด กลางดึกที่ผ่านมา นายสำรวย ผาดศรี อายุ 72 ปี และนายบรรชา พุ่มเปี่ยม เกษตรกรชาวสวนในพื้นที่โครงการสหกรณ์ห้วยสัตว์ใหญ่ ซึ่งได้รับพระราชทานที่ดินทำกินจากพระบาทสมเด็จพระปรมิทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ครอบครัวละ 23 ไร่ มาถึง 40 ปี มาปลูกพืชสวนเกษตร และสวนผลไม้ ได้รับความเดือดร้อนจากโขลงช้าง กล่าวว่า โขลงช้างป่าจะไม่กินกล้วยหอมทอง แต่จะใช้วิธีเหยียบโค่น เนื่องจากใส้ขม ส่วนกล้วยน้ำว้า จะโค่นต้น และกินไส้ในของต้นกล้วย รวมทั้งหัวปลี ซึ่งส่วนใหญ่กล้วยเพิ่งเริ่มออกปลี บางต้นเริ่มเป็นเครือแล้วก็มี รวมทั้งต้นมะพร้าว และทุเรียนก็โค่นต้นลงมา ซึ่งสภาพที่เดินมาเห็นในช่วงเช้ามืดรู้สึกตกใจเป็นอย่างมากที่ได้รับความเสียหายอย่างหนักขนาดนี้

“ไม่นึกว่าโขลงช้างป่าจะข้ามแม่น้ำปราณบุรี เข้ามากัดกินทำลาย โดยตรวจสอบแล้วพบว่า ลักษณะเมื่อโขลงช้างขึ้นจากแม่น้ำมาแล้วได้เดินลัดเลาะกินหักโค่นมาตลอดจนถึงแปลงใหญ่ เป็นลักษณะตัวยู หลังจากนั้น ก็เดินกลับลงแม่น้ำปราณบุรี กลับไปยังพื้นที่ตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ ซึ่งส่วนที่เหลือคงจะไว้ใจไม่ได้โดยคงต้องมาเฝ้าไร่แล้วจะได้รักษาส่วนที่เหลือเอาไว้ ซึ่งความเสียหายเกือบแสนบาทในเบื้องต้น”



กำลังโหลดความคิดเห็น