xs
xsm
sm
md
lg

น่องเหล็กทั่วทิศร่วมปั่นสองน่องท่องทุ่งบัวตองคึกคัก ป่าไม้โต้ดรามาบัวตองสยองขวัญ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


แม่ฮ่องสอน - ผอ.ป่าไม้เมืองสามหมอกโต้ประเด็นดรามา “ดอกบัวตองสยองขวัญ-เอเลียนสปีชีส์” บอกเห็นกับตาทุ่งบัวตองถูกเฟิร์นรุกรานเสี่ยงสูญพันธุ์เกลี้ยงดอยแม่อูคอ ขณะที่น่องเหล็กทั้งใน-ต่างจังหวัดร่วมขบวน “ปั่นสองน่องท่องทุ่งบัวตอง” กันคึกคัก

วันนี้ (26 พ.ย.) ว่าที่ ร้อยตรี ณรงค์ชัย จินดาพันธ์ นายอำเภอขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน ได้เป็นประธานเปิดกิจกรรมปั่นจักรยานขึ้นสู่ทุ่งบัวตองเพื่อสุขภาพและการท่องเที่ยวทุ่งบัวตอง ครั้งที่ 2 ประจำปี 2560 “ปั่นสองน่อง ท่องทุ่งบัวตอง” ที่ชมรมนักปั่นจักรยานอำเภอขุนยวม ร่วมกับอำเภอขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน จัดขึ้น

ในการนี้มีนักปั่นทั้งในและต่างจังหวัดนำจักรยานคู่ใจเข้าร่วมปั่น 250 คัน เริ่มสตาร์ทจากหน้าที่ว่าการอำเภอขุนยวม ปั่นขึ้นไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1362 ขุนยวม-แม่แจ่ม ถึงจุดสามแยกป้อมตำรวจ เลี้ยวซ้ายขึ้นไปตามถนนทางหลวงชนบท หมายเลข 1009 ขุนยวม-ทุ่งบัวตอง สิ้นสุดบนลานพลับพลาที่ประทับ ซึ่งมีความสูงจากระดับน้ำทะเล 1,600 เมตร รวมระยะทาง 20 กม.

อีกทั้งในปีต่อๆ ไปทางอำเภอขุนยวมจะร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งจัดกิจกรรมดังกล่าวขึ้นอีกในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน ซึ่งเป็นช่วงที่ดอกบัวตองบานเต็มที่และสวยงาม

ขณะที่ นายมานพ สายอุ่นใจ ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 สาขาแม่ฮ่องสอน ได้เขียนโพสต์นำเสนอผ่านเพจดังเกี่ยวกับ “ดอกบัวตอง “ หลังจากมีนักวิชาการออกมาระบุในเฟซบุ๊กว่า ดอกบัวตองเป็นเอเลียนสปีชีส์ที่เป็นอันตรายต่อพืชท้องถิ่น

นายมานพระบุว่า วานนี้ (25 พ.ย. 60) มีโอกาสไปเยี่ยมทุ่งดอกบัวตอง บ้านแม่อูคอ ตามคำร่ำลือ และสังเกตพบว่าทุ่งบัวตองบางแห่งมีดอกบัวตองออกดอกแบบเป็นหย่อมๆ ไม่สวยงาม จึงสงสัยว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น..!? แล้วก็พบว่าบริเวณที่ดอกบัวตองไม่ออกดอกนั้นมันไม่มีต้นดอกบัวตองขึ้นอยู่ แล้วอะไรทำให้ต้นดอกบัวตองไม่งอกขึ้นมาเจริญเติบโตออกดอกโดยพร้อมเพรียงกันล่ะ จึงเข้าไปดูใกล้ๆ และพบว่ามีต้นเฟิร์นสีเขียวขึ้นเต็มไปหมด

จากการสังเกตพบว่าเฟิร์นพวกนี้ขยายพันธุ์ด้วยการแตกหน่อที่อยู่ใต้ดิน ฉะนั้นไฟไหม้มันก็ไม่ตาย จึงเป็นพืชที่ขยายพื้นที่ได้รวดเร็วกว่าดอกบัวตอง หากปล่อยทิ้งไว้แบบนี้อนาคตทุ่งบัวตองอาจหายไปกลายเป็นทุ่งเฟิร์น มันอยู่ที่ชาวแม่ฮ่องสอนจะต้องการแบบไหน หากต้องการรักษาเอกลักษณ์ของทุ่งบัวตองไว้ก็น่าจะกำจัดเฟิร์น (วัชพืช) ออกไปด้วยการถอนช่วงหน้าแล้งหลังจากผ่านพ้นช่วงท่องเที่ยวไปแล้ว ช่วยกันพิจารณาครับ

และสังเกตพบว่าบริเวณที่ดอกบัวตองขึ้นบางแห่งนั้นมีพืชหลายชนิดอาศัยร่วมกันอยู่ได้ เช่น กล้วย ฟักทอง ฉะนั้นดอกบัวตองจึงไม่ใช่พืชเลวร้ายที่พืชชนิดอื่นอาศัยอยู่ร่วมไม่ได้ ครับ คงต้องยอมรับในเบื้องต้นว่าต้นดอกบัวตองเป็นพืชที่ทำให้เศรษฐกิจส่วนหนึ่งของจังหวัดแม่ฮ่องสอนดีขึ้น










กำลังโหลดความคิดเห็น