xs
xsm
sm
md
lg

ยางพาราลาวทะลักข้ามโขง เอกชนจีนหนุนปลูกเพิ่ม หลังกล้วยมีปัญหา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เชียงราย - กล้วยลาวหมดอนาคต ราคาตกทุกปีเหลือกิโลฯ ละไม่ถึงหยวน ล่าสุดเอกชนจีนหนุนปลูกยางพาราเพิ่มแทน ทำผลผลิตยาง สปป.ลาวทะลักข้ามโขงต่อเนื่อง บอกได้ราคาดียางเครป กก.ละ 9,000 กีบ หรือราว 37-38 บาท ขณะที่ยางก้อนถ้วย จีนรับซื้อ 22-23 บาท

ท่านวิไช บุนสุวัน หัวหน้าตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) เชียงกก แขวงหลวงน้ำทา สปป.ลาว กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2546-2547 บริษัทเกี่ยวกับยางพาราจากจีน ซึ่งขึ้นทะเบียนต่อรัฐบาล ได้เข้ามาดำเนินโครงการปลูกพืชทดแทนการปลูกฝิ่นใน สปป.ลาว โดยเฉพาะในแขวงหลวงน้ำทา ปัจจุบันคาดว่าจะมีคนปลูกยางพารากันถึง 80-95% ของประชากรทั้งหมด

เพราะผลผลิตที่ได้จะส่งขายให้เอกชนจีนในราคาดี เพราะมีข้อตกลงทางการค้าระหว่างประเทศที่มีอาณาเขตติดกัน คือ แขวงหลวงน้ำทา และจีนตอนใต้ รวมทั้งได้รับสิทธิพิเศษด้านภาษี ทำให้มีการส่งออกยางจากลาวเข้าจีนเดือนละกว่า 3 พันตัน

ท่าเรือเชียงกก ก็เป็นจุดส่งออกยางพาราที่สำคัญ โดยมีการขนส่งมาจากหลายแห่ง ทั้งในแขวงหลวงน้ำทา และจากแขวงอื่นๆ แม้แต่ทางบุลิคำไซก็ยังขนมา เพื่อจะส่งต่อไปยังท่าเรือสบหรวย ของพม่า

ล่าสุดเอกชนจีนในโครงการรับซื้อยางเครป ราคากิโลกรัมละประมาณ 37-38 บาท หรือราว 9,000 กีบ ซึ่งใกล้เคียงกับยางกัมพูชาที่มีราคากิโลกรัมละกว่า 9,900 กีบ ส่วนยางก้อนถ้วยทั่วไปขายได้กิโลกรัมละ 22-23 กว่าบาท หรือราวๆ 5,500 กีบ โดยเอกชนจีน เป็นผู้ตรวจสอบคุณภาพ-กำหนดราคา แต่ให้ราคาดี เพราะนอกจากจะอยู่ในโครงการแล้วยังเป็นยางคุณภาพดี ไม่มีการใช้สารเคมี

ราคายางพาราในลาว แม้จะประสบปัญหาราคาลดต่ำลงตามตลาดโลกบ้าง โดยในปี 2559 ที่ผ่านมายางก้อนถ้วยมีราคากิโลกรัมละกว่า 7,000-8,000 กีบ แต่ก็ยังถือว่าสูง และดีกว่าการปลูกกล้วยเสียอีก เพราะราคากล้วยที่เอกชนจีนเคยเข้ามาส่งเสริม-เช่าที่ดินปลูกเป็นเวลา 5 ปีราคาตกทุกปี

ปีแรกเก็บขายได้กิโลกรัมละ 3.4 หยวน ปีต่อมาก็ลดลงเหลือกิโลกรัมละ 1.5 หยวน และล่าสุดในปีนี้ลดลงเหลือไม่ถึง 1 หยวน หรือราวๆ 0.8 หยวน รวมทั้งมีปัญหาการเข้มงวดเรื่องการใช้สารเคมีเพื่อดูแลสิ่งแวดล้อม ทำให้เลิกรากันไปเป็นจำนวนมาก และหันมาปลูกยางพาราแทนการปลูกกล้วยมากขึ้นเรื่อยๆ






กำลังโหลดความคิดเห็น