xs
xsm
sm
md
lg

เศร้า “พลายชมพู” ล้มแล้ว ชี้โรคเฉพาะช้างป่ากำเริบทำไตวายเฉียบพลัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ลำปาง - สัตวแพทย์วิ่งกันอลหม่านระหว่างพักทานข้าว “พลายชมพู” ล้มกะทันหัน พยายามฉีดยากระตุ้นหลายรอบ แต่ยื้อไม่อยู่ สุดท้ายช้างป่าตกคลองชมพู สิ้นลมอย่างสงบ เบื้องต้น คาดโรคเฉพาะช้างป่ากำเริบ กล้ามเนื้อสลาย กลายเป็นสารพิษทำไตวายเฉียบพลัน



ทีมสัตวแพทย์ต่างวิ่งกันอลม่าน หลังพลายชมพู ช้างป่าที่นำตัวมารักษาที่สถาบันคชบาลแห่งชาติ จ.ลำปาง อยู่ๆ ก็ล้มลงอย่างสงบเมื่อคืนที่ผ่านมา (21 ต.ค.) ทั้งๆ ที่ก่อนหน้าไม่ถึงครึ่งชั่วโมง เพิ่งช่วยกันเปลี่ยนสายคล้องตัวใหม่ เป็นคล้องที่ขาสองข้างกับลำตัว พร้อมใช้รถแบ็กโฮยกร่างขึ้นยืนขึ้น และสวนทวารอีกรอบเพื่อให้ถ่ายท้อง ซึ่งดูเหมือนช้างพลายชมภูจะตอบสนองดี

จากนั้นสัตวแพทย์ได้ให้ช้างพักผ่อน ก่อนที่จะทำการทดสอบที่รองตัวใหม่ ซึ่งทางทีมสัตวแพทย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ประดิษฐ์ขึ้้นเมื่อคืนที่ผ่านมา(20 ต.ค.) เพื่อจะนำมาทดสอบว่าจะใช้สำหรับพลายชมพู ได้หรือไม่

แต่ระหว่างทีมสัตวแพทย์พักรับประทานอาหาร และประชุมเพื่อเตรียมการดังกล่าว ปรากฏว่า บริเวณขมับของพลายชมพู มีน้ำมันไหลออกมา นสพ.ทวีโภค อังควานิช ผู้จัดการส่วนงานอนุรักษ์และบริบาลช้าง ประจำโรงพยาบาลช้าง ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย ได้เข้าไปดู แล้วอยู่ๆ พลายชมพู ก็ล้มลงนอนงวงตกราบกับพื้น และหยุดหายใจ

แม้ว่าทีมสัตวแพทย์จะฉีดยากระตุ้นหลายครั้ง แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถยื้อชีวิตของพลายชมพูไว้ได้ และจากไปอย่างสงบโดยไม่แสดงอาการเจ็บปวดแต่อย่างใด ท่ามกลางความเสียใจ และมึนงงของคณะสัตวแพทย์ และทีมงานที่ได้ร่วมแรงร่วมใจกันทำการรักษาอย่างเต็มที่แล้ว

รศ.นสพ.ดร.นิกร ทองทิพย์ จากคณะสัตวแพทย์ ม.เกษตรศาสตร์ นสพ.ทวีโภค อังควานิช จากสถาบันคชบาลแห่งชาติ ผศ.นสพ.ดร.วีรพงศ์ ตั้งจิตเจริญ จากคณะสัตวแพทย์ มช. ได้สรุปผลการเสียชีวิตของพลายชมพู ว่า พลายชมพู ได้ตายลงในเวลา 20.20 น.อย่างสงบ

เบื้องต้น สันนิษฐานว่าเสียชีวิตจากอาการบาดเจ็บ โดยช้างป่าจะมีโรคหนึ่งที่เกิดจากความเครียดของตัวเองทำให้กล้ามเนื้อสลาย และกลายเป็นสารพิษพุ่งไปที่ไต และทำให้ไตวาย ซึ่งดูจากค่าเลือดก็ได้มีการเฝ้าดูอย่างใกล้ชิด แต่ก็สามารถไปได้ทุกเมื่อ ซึ่งเป็นเหตุสุดวิสัย ทีมสัตวแพทย์พยายามเต็มที่ และทำดีที่สุดแล้ว

รศ.นสพ.ดร.นิกร ทองทิพย์ จากคณะสัตวแพทย์ ม.เกษตรศาสตร์ กล่าวว่า เกิดจากกล้ามเนื้ออักเสบอย่างรุนแรงเพราะความเครียด ซึ่งทีมสัตวแพทย์ได้ช่วยเหลือตั้งแต่เคลื่อนย้ายมา แต่โดยธรรมชาติของสัตว์ป่าจึงเสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้เป็นพิเศษ ทำให้กล้ามเนื้อแตกสลาย และเม็ดสี หรือไมโครโกลบินที่อยู่ในกล้ามเนื้อปลดปล่อยออกมาสู่กระแสเลือด ทำให้เป็นพิษต่อไตค่อนข้างมาก ทำให้เกิดภาวะไตวายอย่างเฉียบพลัน

อย่างไรก็ตาม การรักษาพลายชมพู ในครั้งนี้ แม้ว่าจะไม่สามารถยื้อชีวิตไว้ได้ แต่ก็จะเป็นประโยชน์ในการที่จะได้นำผลการศึกษาไปใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ช้างเชือกอื่น หากเกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้ ซึ่งถือว่ามีประโยชน์มาก






กำลังโหลดความคิดเห็น