xs
xsm
sm
md
lg

กองทัพเรือเปิดแถลงข่าวโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำอย่างเป็นทางการ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวศรีราชา - กองทัพเรือ เปิดแถลงข่าวโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำ 3 ลำ ภายใต้งบ 13,500 ล้านบาท อย่างเป็นทางการ ชี้มีการศึกษาข้อเปรียบเทียบจากบริษัทผู้ผลิตใน 6 ประเทศทั่วโลก พบข้อเสนอของจีน ในการสร้างเรือดำน้ำดีเซล-ไฟฟ้า ชั้นหยวน S26T พร้อมระบบอาวุธ และระบบสนับสนุนต่างๆ มีจุดเด่น และคุณสมบัติด้านการซ่อนพรางมากที่สุด ยันโปร่งใสทุกกระบวนการ

วันนี้ (1 พ.ค.) พล.ร.อ.ณะ อารีนิจ ผู้บัญชาการทหารเรือ ได้มอบหมายให้ พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ เสนาธิการทหารเรือ ในฐานะประธานกรรมการบริหารโครงการจัดหาเรือดำน้ำ พร้อมคณะประกอบด้วย พล.ร.อ.จุมพล ลุมพิกานนท์ หัวหน้าคณะนายทหารฝ่ายเสนาธิการประจำผู้บังคับบัญชา (โฆษกกองทัพเรือ) พล.ร.ท.พัชระ พุ่มพิเชฏฐ์ รองเสนาธิการทหารเรือ พล.ร.ต.กฤษฎาภรณ์ พันธุมโพธิ ผอ.สนง.จัดหายุทโธปกรณ์กองทัพเรือ และ พล.ร.ต.วิศาล ปัณฑวังกูร ผู้บัญชาการกองเรือดำน้ำ ร่วมแถลงข่าวชี้แจงโครงการจัดหาเรือดำน้ำต่อสื่อมวลชน ณ เรือหลวงจักรีนฤเบศร ท่าเรือจุกเสม็ด การท่าเรือสัตหีบ ฐานทัพเรือสัตหีบ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี

พล.ร.อ.ลือชัย กล่าวว่า จากการที่กองทัพเรือมีหน้าที่ในการปกป้องอธิปไตย และรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ที่มีมูลค่ากว่า 24 ล้านล้านบาท และสินค้านำเข้าส่งออกร้อยละ 95 ต้องใช้เส้นทางคมนาคมทางทะเล กองทัพเรือ จึงต้องมีการวางแผนพัฒนากำลังรบเพื่อเตรียมความพร้อมของกำลังทางเรือในการปฏิบัติภารกิจดังกล่าว ทั้งนี้ ความต้องการเรือดำน้ำ เป็นไปตามการประเมินยุทธศาสตร์ของกองทัพเรือ ที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และเป็นระบบ และอาจกล่าวได้ว่า การจัดหาเรือดำน้ำแท้จริงไม่ใช่ความต้องการของกองทัพเรือเท่านั้น แต่เป็นความจำเป็นของประเทศชาติ เพราะเป็นอาวุธทางยุทธศาสตร์ของประเทศ และอาวุธทางยุทธการของกองทัพไทย

ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลายาวนานกว่า 60 ปี ที่กองทัพเรือแห่งราชนาวีไทย ไม่มีเรือดำน้ำประจำการ ซึ่งปัจจุบันเทคโนโลยีเกี่ยวกับเรือดำน้ำมีความก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว นานาประเทศต่างจัดหาเรือดำน้ำเข้าประจำการ และพัฒนาขีดความสามารถด้านนี้อย่างก้าวกระโดด ให้มีศักยภาพที่เพียงพอต่อการคุ้มครองผลประโยชน์ทางทะเลที่มีมูลค่ามหาศาล และเป็นหลักประกันด้านความมั่นคง รวมทั้งมีการวิเคราะห์แล้ว เรือดำน้ำเป็นอาวุธที่ตอบโจทย์การรักษาความมั่นคงทางทะเล และมีความคุ้มค่าอย่างยิ่งกว่า 60 ปีที่ผ่านมา กองทัพเรือได้สูญเสียขีดความสามารถด้านนี้อย่างสิ้นเชิง ทั้งองค์ความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ของกำลังพล ดังนั้น การจัดหาเรือดำน้ำจึงถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญต่อการพัฒนาขีดความสามารถ และการวางรากฐานในการทำสงครามใต้น้ำให้แก่กองทัพเรือ

ส่วนประเด็นปัจจัยความลึกของอ่าวไทย โดยเฉลี่ยประมาณ 50 เมตร เรือดำน้ำขนาดกลางสามารถปฏิบัติการได้แบบสบายๆ ดังเห็นได้จากสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เรือดำน้ำของสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรก็เข้ามาปฏิบัติการในอ่าวไทยหลายครั้ง แต่ละครั้งก็สร้างความเสียหายต่อประเทศไทยอย่างมาก รวมทั้งเรือหลวงสมุย ที่ปฏิบัติภารกิจช่วยลำเลียงน้ำมันเชื้อเพลิงเข้าสู่ประเทศในขณะนั้นก็จมลงด้วยฝีมือของเรือดำน้ำ ปัจจุบันกองทัพเรือไทย ได้ทำการฝึกกับเรือดำน้ำสหรัฐฯ ขนาด 6,000 ตัน อยู่เป็นประจำสามารถปฏิบัติการได้อย่างไม่มีอุปสรรค

การดำเนินโครงการจัดหาเรือดำน้ำครั้งนี้ ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2558 ที่ได้มีการศึกษาเปรียบเทียบข้อเสนอจากบริษัทผู้ผลิตเรือดำน้ำจาก 6 ประเทศทั่วโลก บางประเทศก็ให้เฉพาะตัวเรือ ไม่มีระบบอาวุธ บางประเทศให้ทั้งตัวเรือ และระบบอาวุธ แต่ก็มีราคาสูงอะไหล่ในการซ่อมบำรุงที่สูงมาก บางประเทศไม่สนับสนุนการฝึกอบรม และถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้ ซึ่งกองทัพเรือได้พิจารณาคัดเลือกอย่างรอบคอบ

โดยยึดหลักการจัดหายุทโธปกรณ์ที่สำคัญ 3 ประการ คือ 1.ขีดความสามารถและความพร้อมตามความต้องการ 2.ความต่อเนื่องตลอดอายุการใช้งาน และ 3.ความสามารถในการจ่ายได้ ซึ่งข้อเสนอของสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการสร้างเรือดำน้ำดีเซล-ไฟฟ้า ชั้นหยวน S26T พร้อมระบบอาวุธม และระบบสนับสนุนต่างๆ รวมทั้งการจัดหลักสูตรการฝึกอบรมให้แก่กำลังพล เป็นข้อเสนอที่ตอบโจทย์ได้ตามหลักการในข้างต้นมากที่สุด

สำหรับเรือดำน้ำชั้นหยวน S26T เป็นเรือดำน้ำที่ได้รับการพัฒนามาจากเรือดำน้ำชั้น KILO ของรัสเซีย ที่เป็นเรือดำน้ำที่มีชื่อเสียงมากในอดีต ทั้งด้านสมรรถนะ และความเงียบ จีนได้นำมาพัฒนาต่อยอดโดยการวิจัยพัฒนาร่วมกับประเทศสวีเดนในการนำระบบ AIP เข้ามาใช้ในเรือดำน้ำชุดนี้ ซึ่งเป็นการเพิ่มระยะเวลาในการปฏิบัติงานใต้น้ำได้นานมากขึ้น จึงมีจุดเด่นในคุณสมบัติด้านการซ่อนพราง ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ต้องการมากที่สุดของเรือดำน้ำ

รวมทั้งได้มีการพัฒนาต่อยอดด้านระบบอาวุธที่มีประสิทธิภาพแม่นยำ และอำนาจการทำลาย ทั้งในมิติใต้น้ำด้วยกัน มิติผิวน้ำ และข้ามไปในมิติบนฝั่งได้อีกด้วย ซึ่งเรือดำน้ำรุ่นนี้ประจำการอยู่ในกองทัพเรือจีนมานานกว่า 10 ปี มีจำนวนทั้งสิ้น 12 ลำ ไม่เคยประสบปัญหาด้านความไม่ปลอดภัยและด้านการใช้งาน จนปัจจุบันมีหลายประเทศให้ความสนใจสั่งซื้อเรือดำน้ำรุ่นนี้ เพื่อนำไปใช้ด้วยเช่นเดียวกัน รวมทั้งศักยภาพของกองเรือดำน้ำจีนก็เป็นที่ประจักษ์ชัดว่าเป็นกองเรือดำน้ำที่ยิ่งใหญ่ในระดับต้นๆ ของโลก โดยเชื่อกันว่าในปัจจุบันจีนมีเรือดำน้ำทุกประเภทรวมกันมากกว่า 50 ลำ และมีการออกปฏิบัติการจริงในทะเลมากที่สุดในโลก

กองทัพเรือ ต้องการเรือดำน้ำอย่างน้อย 3 ลำ โดยแนวทางจะใช้ปฏิบัติการ 1 ลำ เตรียมพร้อมหมุนเวียน 1 ลำ และซ่อมตามวงรอบ 1 ลำ การจัดหาครั้งนี้เป็นการจัดหาลำที่ 1 วงเงิน 13,500 ล้านบาท ใช้งบประมาณที่มีอยู่ของกองทัพเรือ ทั้งนี้ กองทัพเรือจีนยังมีความยินดีที่จะร่วมกับกองทัพเรือในการตรวจยืนยันคุณภาพในทุกขั้นตอนให้มีความเป็นมาตรฐาน ทั้งคุณภาพตัวเรือ และอาวุธประจำเรือ

นอกจากนี้ กระทรวงกลาโหมจีน ยังยืนยันที่จะสนับสนุนด้านอาวุธที่มีความสำคัญต่อการปฏิบัติการทางยุทธการ และการฝึกเพิ่มเติมอีกเป็นจำนวนมาก นับว่าเป็นประโยชน์ต่อความพร้อมในการทำสงครามใต้น้ำอย่างมาก

สำหรับงบประมาณที่จะใช้ในการจัดหาเรือดำน้ำครั้งนี้ จำนวน 13,500 ล้านบาท กองทัพเรือใช้งบประมาณของกองทัพเรือที่ได้รับปกติในแต่ละปี โดยจะแบ่งผ่อนชำเป็นระยะเวลา 7 ปี โดยจะแบ่งจ่ายเป็นงวดตามความก้าวหน้าในการสร้างเรือ โดยจะมีงวดการชำระเงินทั้งหมด 17 งวด ในปี 2560 จำนวน 700 ล้านบาท ส่วนปี 2561-2566 จะชำระเงินเฉลี่ยปีละ 2,100 ล้านบาท โดยไม่เป็นภาระงบประมาณของประเทศ และไม่มีผลกระทบต่อการใช้งบประมาณด้านอื่นๆ ของกองทัพเรือ ที่ล้วนมีความโปร่งใสทุกกระบวนการ


กำลังโหลดความคิดเห็น