xs
xsm
sm
md
lg

สคร.10 อุบลฯ เตือนคนทำงานกลางแจ้งเสี่ยงป่วยลมแดด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


อุบลราชธานี - สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 จังหวัดอุบลราชธานี เตือนประชาชนทำงานกลางแดด ดื่มแอลกอฮอล์ขณะอากาศร้อน ป่วยเป็นโรคลมแดด เสี่ยงถึงขั้นเสียชีวิต เผยมีนาคม-เมษายน 59 พบผู้เสียชีวิตถึง 21 ราย แนะวิธีป้องกันไม่ควรอยู่กลางแดดที่ร้อนจัดเป็นเวลานาน โดยเฉพาะผู้สูงอายุ หรือเด็กที่มีโรคประจำตัว
สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 จังหวัดอุบลราชธานี เตือนประชาชนทำงานกลางแจ้ง เสี่ยงป่วยเป็นโรคลมแดด
นางศุภศรัย สง่าวงศ์ นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการพิเศษ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 จังหวัดอุบลราชธานี (สคร.10) เปิดเผยว่า โรคลมแดด เกิดจากร่างกายปรับตัวไม่ทันกับความร้อนที่เกิดขึ้น จนเกิดภาวะวิกฤต ปกติแล้วร่างกายมนุษย์มีอุณหภูมิอยู่ที่ 37 องศาเซลเซียส แต่ถ้าร่างกายเผชิญกับอากาศที่ร้อนกว่านี้ และไม่สามารถปรับลดอุณหภูมิได้ อาจเกิดโรคลมแดด หรือฮีทสโตรก (Heat Stroke)

ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตจากการทำงานที่ผิดปกติของระบบสมอง หากได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีจะรักษาชีวิตไว้ได้ พร้อมลดความพิการ โดยผู้ป่วยจะมีอาการคือ ตัวร้อนจัดขึ้นเรื่อยๆ เกินกว่า 40 องศาเซลเซียส หายใจเร็ว ไม่มีเหงื่อออก อ่อนเพลีย คลื่นไส้ ปวดศีรษะ ความดันต่ำ กระสับกระส่าย มึนงง ชักเกร็ง และหมดสติ

ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค รายงานระหว่างวันที่ 1 มีนาคม-17 เมษายน 2559 พบผู้เสียชีวิตจากโรคลมร้อน 21 ราย เป็นชาย 20 ราย หญิง 1 ราย อายุระหว่าง 29-72 ปี ส่วนใหญ่เสียชีวิตในที่สาธารณะ และเป็นผู้ประกอบอาชีพรับจ้างที่ต้องทำงานกลางแดด และมีผู้เสียชีวิตถึง 8 รายที่เกิดจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงอากาศร้อน

นางศุภศรัยกล่าวต่อว่า กลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสเกิดโรคลมแดด 6 กลุ่มเสี่ยง ได้แก่ 1. ผู้ที่ทำงานหรือทำกิจกรรมกลางแดด เช่น เล่นกีฬา หรือฝึกทหาร โดยขาดการเตรียมตัวมาก่อน ผู้ใช้แรงงานกลางแดด เช่น กรรมกรก่อสร้าง เกษตรกร 2. เด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ และผู้สูงอายุ 3. ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคความดันโลหิตสูง 4. คนอ้วน 5. คนอดนอน และ 6. คนที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จัด

สำหรับการช่วยเหลือผู้ป่วยโรคลมแดดมี 5 ขั้นตอน ได้แก่ 1. นำผู้มีอาการเข้าร่ม นอนราบ ยกเท้าสูงทั้งสองข้าง ถอดเสื้อผ้าชั้นนอกออก 2. เทน้ำเย็นราดลงบนตัวเพื่อลดอุณหภูมิร่างกายให้ลดต่ำลงโดยเร็วที่สุด 3. ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นหรือน้ำแข็งประคบตามซอกคอ รักแร้ ขาหนีบ 4. ไม่ควรใช้ผ้าเปียกคลุมตัวเพราะจะขัดขวางการระเหยของน้ำออกจากร่างกาย 5. รีบนำส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด หรือขอความช่วยเหลือจากหน่วยแพทย์ฉุกเฉิน 1669

ส่วนการปฏิบัติตัวไม่ให้เป็นลมแดดควรเลี่ยงอยู่กลางแดดที่ร้อนจัด โดยเฉพาะเด็ก ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัวด้านหลอดเลือด หรือหัวใจ หากจำเป็นให้กางร่มหรือใส่หมวก ดื่มน้ำเปล่ามากๆ ตลอดทั้งวันโดยไม่ต้องรอหิวน้ำ ไม่ทิ้งเด็กเล็ก หรือผู้ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ไว้ในรถที่จอดตากแดดเพราะอาจเสียชีวิตจากความร้อนได้ หากรู้สึกหิวน้ำมาก ตัวร้อนแต่เหงื่อไม่ออก หายใจถี่ ปากคอแห้ง วิงเวียนศีรษะ ให้รีบไปพบแพทย์ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422
กำลังโหลดความคิดเห็น