xs
xsm
sm
md
lg

ผบ.ทร.ภ.1 “ย่ำเท้า เข้าท่า” ตรวจสอบท่าเรือประมงระยอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ระยอง - ผบ.ทร.ภ.1 พร้อมคณะนำเจ้าหน้าที่หลายหน่วยงานตรวจสอบท่าเรือประมงระยอง พร้อมติดบาร์โค้ด โครงการนำร่อง “ย่ำเท้า เข้าท่า” เพื่อแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย

วันนี้ (25 ม.ค.) พล.ร.ท.สุรศักดิ์ เมธยาภา ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 1 (ผบ.ทร.ภ.1) ผู้อำนวยการศูนย์ประสานการปฏิบัติในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลเขต 1 (ผอ.ศรชล.เขต 1) พร้อมคณะเดินทางมาตรวจสอบความเรียบร้อยท่าเทียบเรือ PMC ตำบลปากน้ำ อำเภอเมืองระยอง พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ชุดสำรวจ ประกอบด้วย ทหารเรือ ประมง ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 1 กรมควบคุมมลพิษ ตำรวจ เจ้าหน้าที่สอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ตำรวจน้ำ ตามโครงการ “ย่ำเท้า เข้าท่า”

ทั้งนี้ พล.ร.ท.สุรศักดิ์ เมธยาภา ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 1 กล่าวว่า ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) วันนี้เจ้าหน้าที่จะทำการตรวจสอบ และสำรวจความเรียบร้อยท่าเรือประมงในการรับสัตว์น้ำขึ้นท่าเรือ และความสะอาดเรื่องสาธารณสุขด้วย สิ่งเหล่านี้ก็จะทำให้เราสามารถผ่านการแก้ไขปัญหาประมงของไออียู

ในภาพรวมเราได้แสดงให้เห็นว่าเราได้ดำเนินการที่จะแก้ไขปัญหาเรื่องประมงผิดกฎหมายให้ถูกต้องมากขึ้น ขณะนี้การแก้ไขปัญหาเรามาถูกทางแล้ว เรื่องการขึ้นทะเบียน ตรวจสอบท่าเรือแพปลาซึ่งก็มีการตรวจสอบถูกต้อง เราสามารถยืนยันได้ว่าที่มาของสัตว์น้ำซึ่งสามารถตรวจสอบได้ การตรวจสอบท่าเรือเพื่อรวบรวมข้อมูลท่าเรือประมงขนถ่ายสัตว์น้ำของไทยให้มีมาตรฐาน สามารถตรวจสอบ/ควบคุมการขนถ่ายสัตว์น้ำ และการตรวจสอบย้อนกลับได้ ซึ่งจะทำการสำรวจและตรวจสภาพความเรียบร้อยทั้งหมด 22 จังหวัด รวมทั้งทั้งสิ้น 1,099 ท่า ให้เสร็จภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้

ด้านเจ้าหน้าที่ชุดตรวจสอบ กล่าวว่า โครงการ “ย่ำเท้า เข้าท่า” ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ทหารเรือร่วมกับตำรวจ และเจ้าหน้าที่หลายหน่วยงานเข้าตรวจสอบท่าเรือประมง พร้อมติดบาร์โค้ด หากชุดอื่นเข้าตรวจก็จะยิงเข้าบาร์โค้ดก็จะทราบข้อมูลที่ตรงกัน เจ้าหน้าที่ชุดตรวจสอบวันนี้เป็นชุดนำร่อง วันนี้เจ้าหน้าที่ที่จะเข้าตรวจท่าเรือประมงมี 2 ชุด คือ ชุดที่ 6 จะเข้าตรวจท่าเรือเกรียงไกร พิชิตสมุทร โชคเรืองชัย และโชควันดี ส่วนชุดที่ 7 จะเข้าตรวจท่าเรือศักดิ์ประเสริฐ 2 ปลาวิเศษ ซาบะ และโชควารี

ขณะที่ นายพรศักดิ์ แย้มกลิ่น นายกสมาคมอวนล้อมจับปลากะตัก ระยอง กล่าวว่า ประสบปัญหาความเดือดร้อนเรื่องขาดแคลนแรงงานอย่างมาก คือ เมื่อถึงเวลาของเขาแรงงานก็จะกลับบ้านเกิด พอถึงกำหนดต่อบัตรซึ่งมีระยะเวลาแค่ 2 เดือน ทำให้แรงงานกลับมาต่อบัตรไม่ทัน ก็จะไม่สามารถทำงานอีกได้ เนื่องจากไม่อนุญาตให้ทำบัตรใหม่ ทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนแรงงานประมง ขณะนี้ทางสมาคมประมงแห่งประเทศไทย ได้สำรวจความต้องการของแรงงานประมงอยู่ประมาณ 60,000 คน ส่วน จ.ระยอง ต้องการแรงงาน 10,000 คน เพราะเรืออวนล้อมแต่ละลำใช้แรงงาน จำนวน 40 คน ปัจจุบันเรือประมงต้องจอดถึง 40% อยากให้ภาครัฐหาทางผ่อนคลายเรื่องแรงงานประมง




กำลังโหลดความคิดเห็น