xs
xsm
sm
md
lg

ขาประจำตรึม ร่วมเวทีร่างกฎหมายประกอบ รธน.ชงลดอิทธิพลคน มท.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เชียงราย - แกนนำกลุ่มก้อนการเมือง และมวลชนขาประจำ แห่ร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็นร่างกฎหมายประกอบ รธน.เสนอรื้อ กกต.ใหม่ ตั้งให้ถึงระดับหมู่บ้าน พร้อมห้ามใช้คนมหาดไทย-ตำรวจ ร่วมตรวจสอบเลือกตั้ง

วันนี้ (15 พ.ย.) นายบุญส่ง เตชะมณีสถิตย์ ผู้ว่าราชการ จ.เชียราย เป็นประธานเปิดการสัมมนาเรื่อง “การรับฟังความคิดเห็นต่อร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ” คณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ร่วมกับสถาบันพระปกเกล้า จัดขึ้นที่ห้องหิรัญนคร โรงแรมเวียงอินทร์ ริเวอร์ไซต์ รีสอร์ท อ.เมือง จ.เชียงราย

โดยมี รศ.ธิติพันธุ์ เชื้อบุญชัย กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ บรรยายสาระสำคัญและประเด็นการรับฟังความคิดเห็นท่ามกลางขาประจำทางการเมือง ที่เข้าร่วม เช่น นายอิทธิเดช แก้วหลวง อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เชียงราย พรรคเพื่อไทย, นายสมพงษ์ กูลวงศ์ อดีตนายกเทศมนตรีนครเชียงราย, นายวิรุณ คำภิโล อดีตประธานหอการค้า จ.เชียงราย, น.ส.จิรนันท์ จันทวงษ์ จากสถานีวิทยุชุมชน FM 104 MHz, นายสุเทพ ล้อสีทอง ผู้นำมวลชนหลายกลุ่มจาก อ.เชียงแสน, นักวิชาการจากทั้งมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) และมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย (มร.ชร.), ดร.เสรีพิสุทธิ์ ใจสนิท อดีต กกต.เชียงราย, นายเจริญ กาวิล ประธานสาขาพรรคประชาธิปัตย์ เชียงราย ฯลฯ

ในเวทีการสัมมนาครั้งนี้ มีให้ข้อมูลเรื่องร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อใช้เป็นต้นแบบ เช่น เดิมพรรคการเมืองมีคณะกรรมการบริหารพรรคที่มีอำนาจสูงสุด แต่ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เปิดให้สมาชิก และประชาชนมีบทบาทในพรรคมากขึ้น,การกำหนดให้พรรคหาสมาชิกให้ได้ 5,000 คนใน 1 ปี, มีสาขาอย่างน้อยภาคละ 1 สาขา ฯลฯ กฎหมายลูกจะทำให้ประชาชนมีความเข้มแข็งมากขึ้นโดยประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็นได้

จากนั้นมีการจัดให้แบ่งกลุ่มเสวนาย่อยแบ่งเป็น 2 หัวข้อ คือ 1. ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยพรรคการเมือง 2. ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งในหัวข้อร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยพรรคการเมือง มีการเสนอให้มีสาขาพรรคการเมืองถึงระดับจังหวัด และอาจถึงระดับหมู่บ้าน เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารพรรค ลดปัญหาความขัดแย้งนอกระบบของคนในชุมชน ที่เลือกฝ่ายการเมืองต่างๆ หรือสีเสื้อต่างๆ อยู่ในขณะนี้, กำหนดการเป็นสมาชิกพรรคมีอายุ 1 ปี เพื่อแก้ไขการผูกขาด แต่หากอยากอยู่พรรคเดิมก็ต่ออายุได้ และให้ต่ออายุพรรคการเมืองเป็น 5 ปี แทนที่กำหนดเอาไว้ 4 ปี,กำหนดให้เป็นสมาชิกพรรคอย่างน้อย 1 ปีแล้วจึงเปลี่ยน,ให้สมาชิกพรรคสมัครเป็นเงินคนละ 100-200 บาทต่อปี เพื่อให้มีส่วนร่วม, สมาชิกพรรคควรมีตัวแทนจากทุกภาค,ผู้ก่อตั้งควรมีอย่างน้อย 20 คนขึ้นไป, ควรมีสมาชิกพรรคภาคละ 300-500 คน, ควรกำหนดให้พรรคหาสมาชิกเป็นระดับ เช่น 6 เดือนให้ได้ 3,000 คน 1 ปี เพิ่มเป็น 5,000 คนตามกฎหมาย เป็นต้น

ส่วนหัวข้อร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) มีการเสนอให้เลือกตั้ง กกต.จังหวัด แทนการสรรหา, ควรมี กกต.ประจำหมู่บ้าน, ให้เจ้าหน้าที่ระดับท้องถิ่นตรวจสอบแก้ไขการทุจริตเลือกตั้งได้ทันที แทนการรอฟัง กกต.จังหวัด เพื่อลดความล่าช้าเพราะการทุจริต เช่น ซื้อเสียงเกิดขึ้นเร็ว ฯลฯ ทั้งยังลดภาระของ กกต.จังหวัดให้น้อยลง

นอกจากนี้ยังเสนอให้ กกต.จัดสรรงบประมาณ เพื่อเอื้อให้กลุ่มการเมืองเล็กๆ จัดตั้งพรรคได้ง่ายขึ้น เปิดโอกาสให้คนจนเข้ามามีส่วนร่วม, ตรวจสอบคุณสมบัติผู้จะลงสมัครให้เข้มงวด และให้อำนาจ กกต.ในการกวดขันจับกุมคนกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง, เสนอศาลยุติธรรมตัดสินคดีเลือกตั้งมากกว่า กกต.

พร้อมกันนั้นยังมีการเสนอ ห้ามนำคนกระทรวงมหาดไทยกลับเข้ามามีบทบาทในการเลือกตั้งมากขึ้น เพราะเดิมแก้ปัญหาไม่ให้กระทรวงมหาดไทย จัดการเลือกตั้ง ด้วยการตั้ง กกต.เพื่อให้เป็นองค์กรอิสระ แต่ที่ผ่านมากลับให้ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็น กกต.โดยตำแหน่ง

นอกจากนี้ มีการเสนอให้ใช้ข้าราชการเป็นเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้งทั้งหมด เช่น ครู ทหาร ฯลฯ เพราะที่ผ่านมามีการใช้กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน ที่เป็นคนของนักการเมืองเข้าไปทำหน้าที่ ทั้งที่คนเหล่านี้ก็เป็นคนซื้อเสียงเอง จึงเป็นการใช้คนซื้อเสียงไปดูแลการเลือกตั้ง ทำให้การแก้ไขปัญหาทุจริตเลือกตั้งไม่ได้ผล พร้อมให้เพิ่มเจ้าหน้าที่สืบสวนสอบสวน หรือกำลังพลของ กกต.เพราะที่ผ่านมา แต่ละจังหวัด มีมากสุดแค่ 2 คน และต้องพึ่งผู้ว่าฯ-ตำรวจ ทั้งที่ทราบกันดีว่า เป็นคนของนักการเมือง และหากผู้ว่าฯ เป็นฝ่ายไหน ฝ่ายนั้นก็จะได้รับการเปรียบ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ทางคณะผู้จัดการสัมมนาจะได้นำข้อเสนอไปสรุปผลต่อไป





กำลังโหลดความคิดเห็น