xs
xsm
sm
md
lg

สมาคมโรงมันฯเร่งเพิ่มผลผลิตมันสดเท่าตัวป้อนเอทานอล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นิยม จุฬาเสรีกุล
ศูนย์ข่าวศรีราชา - สมาคมโรงงานผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังไทย วางแผนเร่งขยายผลผลิตหัวมันสดอีกเท่าตัว เป็น 50 ล้านตันต่อปีในพื้นที่ปลูกทั่วประเทศ 6 ล้านไร่ จากเดิมที่ได้ผลผลิตเพียง 25 ล้านตันต่อปี เพื่อสนองความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งโรงงานผลิตเอทานอลที่จ่อคิวเปิดเดินเครื่องจำนวนมาก โดยเริ่มทดลองที่ศูนย์เพาะปลูกบ้านห้วยปรงจ.นครราชสีมา ด้วยการนำหลักวิชาการแนวใหม่และระบบสปริงเกอร์มาใช้ เพื่อลดการพึ่งพาน้ำฝนจากธรรมชาติ

นายนิยม จุฬาเสรีกุล นายกสมาคมโรงงานผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังไทย เผยว่า ในการสัมมนาทางวิชาการเรื่องยุทธศาสตร์มันสำปะหลังไทย ซึ่งจัดโดยนักวิชาการ และทีดีอาร์ไอ ที่กรุงเทพฯ เมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีการพูดถึงอนาคตการส่งออกหัวมันสดไปยังตลาดหลัก ทั้งประเทศจีน และประเทศแถบยุโรป ว่า อาจมีปัญหา เนื่องจากผลผลิตหัวมันสดไทยมีแนวโน้มไม่เพียงพอกับความต้องการ ซึ่งเป็นผลมาจากจำนวนผลผลิตที่ลดลงจากผลกระทบของสภาวะอากาศและการขาดแคลนน้ำ เห็นได้จากตัวเลขผลผลิตหัวมันสดที่สมาคม คาดว่า ในปี 2550 จะมีจำนวน 25 ล้านตัน จากพื้นที่ปลูกรวมทั่วประเทศ 6 ล้านไร่ ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่เฉียดฉิวต่อความต้องการทั้งภายในและต่างประเทศ

ทั้งนี้ หากยังเป็นเช่นนี้ในปีหน้าหัวมันสดไทยอาจขาดตลาดและไม่เพียงพอที่จะป้อนการผลิตเอทานอล ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีโรงงานผลิตเอทานอล ที่ได้รับอนุญาตถูกต้อง 45 โรงงาน จากจำนวนที่ขออนุญาตดำเนินการ 60 โรงงาน ดังนั้น ทางออกที่เป็นไปได้ คือ การเพิ่มผลผลิตหัวมันสดต่อไร่ให้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น โดยไม่ขยายพื้นที่ปลูกเพิ่ม ซึ่งขณะนี้สมาคมได้นำหลักวิชาการสมัยใหม่เข้ามาใช้ในการเพิ่มผลผลิตแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการใช้ปุ๋ยเคมีที่มีประสิทธิภาพ การนำพันธุ์มันสำปะหลังใหม่ที่มีความแข็งแรงและคงทนเข้ามาปลูก รวมทั้งใช้ระบบสปริงเกอร์เพื่อกระจายน้ำในพื้นที่ปลูกอย่างต่อเนื่องลดการพึ่งพาน้ำฝนจากธรรมชาติ ซึ่งในอนาคตประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะขาดแคลนน้ำมากกว่าที่เป็นอยู่

“ตอนนี้เราได้ทดลองปลูกด้วยการนำหลักวิชาการสมัยใหม่เข้ามาใช้ ที่ศูนย์เพาะปลูกบ้านห้วยปรง จังหวัดนครราชสีมา โดยหลักการนี้จะสามารถเพิ่มผลผลิตหัวมันสำปะหลังสดต่อไร่ได้มากถึง 8 ตัน และคาดว่าในอีก 2 ปีข้างหน้าเราจะสามารถผลิตหัวมันสดป้อนตลาดได้มาก 40-50 ล้านตันต่อปี โดยไม่จำเป็นต้องขยายพื้นที่ปลูก ซึ่งปัจจุบันพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังรายใหญ่อยู่ที่ภาคอีสาน ส่วนภาคตะวันออก มีกำลังผลิตแค่ 30% ของทั้งประเทศ และหากผลการศึกษาได้ผล ก็จะนำเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังทั่วประเทศเข้าศึกษางาน เพื่อให้นำความรู้ที่ได้ไปขยายผลผลิตของตน”

นายนิยม ยังเผยถึงแนวคิดที่จะตั้งโรงงานผลิตเอทานอลในจังหวัดชลบุรี ซึ่งเดิมเคยวางแผนว่า จะลงทุนประมาณ 1-2 พันล้านบาท เนื่องจากพื้นที่จังหวัดชลบุรีเป็นอีกพื้นที่หนึ่ง ที่มีการปลูกมันสำปะหลังและอ้อยเป็นจำนวนมากและคาดว่าจะเป็นแหล่งวัตถุดิบสำคัญที่จะป้อนให้แก่โรงงานที่จัดตั้งขึ้นว่า ปัจจุบันแนวคิดนี้ได้ยกเลิกไปแล้วเนื่องจากการผลิตเอทานอลยังต้องพึ่งพิงผู้ผลิตรายใหญ่อย่างปตท.และบางจาก ดังนั้นตนจึงผันตัวเองเป็นซัปพลายเออร์ป้อนวัตถุดิบให้แก่โรงงานผลิตเอทานอลที่มีอยู่แทน

นายนิยม กล่าวอีกว่า ที่สำคัญ ในการสัมมนายังขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง วางแผนกระจายผลผลิตมันสำปะหลังให้ออกป้อนตลาดได้ตลอดทั้งปี โดยแบ่งโซนของผลผลิตเป็น 2 ช่วง ไม่ใช่ช่วงเดียวกันที่มีระยะเวลาการเก็บเกี่ยวเพียง 4-5 เดือน ผลกระทบที่ตามมาคือ ผลผลิตที่ออกมาล้นตลาด ซึ่งหากมีการกระจายผลผลิตให้ออกไม่พร้อมกันจะทำให้ราคาหัวมันสดดีขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น