xs
xsm
sm
md
lg

สรุปดราม่า #ศาลรัฐธรรมนูญเหยียดเพศ ผู้เขียนบทความ “หนุนข่มขืน”?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



1.ชาวสีรุ้งเดือดหนักมาก!! เมื่อคำวินิจฉัยของ “ศาลรัฐธรรมนูญ” แสดงจุดยืนออกมาชัดเจนว่า ไม่ยอมรับ “การสมรสระหว่างเพศที่หลากหลาย” ด้วยข้อความที่รุนแรงต่อความรู้สึกของเพศทางเลือก จนเกิดเป็นแฮชแท็ก #ศาลรัฐธรรมนูญเหยียดเพศ ขึ้นมา

2.ประเด็นหลักๆ ที่ถูกวิจารณ์หนักมากคือ การตัดสินโดยอ้างว่า เหตุผลที่ “การสมรสระหว่างชาย-หญิง” ได้รับการสนับสนุนตามหลักกฎหมาย เพราะเป็นไปเพื่อ “การดำรงเผ่าพันธุ์-สืบทอดทายาท”

3.ในขณะที่ศาลรัฐธรรมนูญมองว่า “คู่ชีวิตเพศที่หลากหลาย” เป็นเพียงการทำตาม “ความรู้สึกพึงพอใจทางเพศ” ที่จะทำให้ “ชายจริง-หญิงแท้” ซึ่งอ้างว่าเป็น “มหาชนคนส่วนใหญ่” ได้รับความเดือดร้อน หากมีการเปลี่ยนแปลงตัวบทกฎหมาย

4.และถ้อยคำในเครื่องหมายคำพูดต่อไปนี้ คือส่วนหนึ่งของ “คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ” ที่ผลักให้เกิดไฟลุกท่วมโซเชียลฯ

เพราะกลุ่มคนผู้มีความหลากหลายทางเพศมองว่า มันไม่ใช่เหตุผลที่สมเหตุสมผลสำหรับ “การพิจารณาคดี” แต่เป็นเพียงข้ออ้างจาก “อคติทางเพศ” เพื่อต้องการเหยียดแยกเสียมากกว่า


5.“สิ่งที่ไม่เหมือนกันจะปฏิบัติให้เหมือนกันไม่ได้ การปฏิบัติให้ถูกต้องสอดคล้องกับวิถีของธรรมชาติ จะสร้างความเสมอภาคระหว่างชายหญิงได้

มิใช่ถือเอาผู้ที่กำหนดเพศไม่ได้ มารวมกับความเป็นหญิงชายที่แยกกันไว้อย่างชัดเจน การยอมรับสิ่งที่แตกต่างให้กลายเป็นสิ่งที่ไม่แตกต่าง จึงไม่อาจกระทำได้"

6.“หากวิทยาการก้าวหน้า มีการค้นพบรายละเอียดเพิ่มขึ้นว่า สัตว์โลกบางประเภทมีพฤติกรรม หรือลักษณะทางชีวภาพแปลกแยกออกไป ก็จัดให้เป็นกลุ่มต่างหาก เพื่อแยกศึกษาต่อไป

เช่นเดียวกับรัฐหรือผู้บัญญัติกฎหมาย พบกลุ่มบุคคลที่มีวิถีทางเพศแตกต่างออกไป รัฐหรือผู้บัญญัติกฎหมายก็สามารถกำหนดการคุ้มครองได้ เป็นการเฉพาะกลุ่ม

7.“ในเรื่องการสมรสตามจารีตประเพณี วิถีสังคมไทย ตลอดจนแนวทางปฏิบัติและการตีความกฎหมายของประเทศไทย มีความเชื่อถือสืบต่อกันมาว่า การสมรสสามารถกระทำได้ เฉพาะชายและหญิงเท่านั้น

8.“ความหมายของการสมรส หมายถึงการที่ชายและหญิง ตกลงที่จะใช้ชีวิตร่วมกันด้วยความสมัครใจ มีความสัมพันธ์ฉันสามีภริยาเพื่อสืบเผ่าพันธุ์...

เป็นจุดเริ่มต้นของการก่อตั้งสถาบันครอบครัว ที่ถือเป็นสถาบันพื้นฐานของสังคม เพื่อผลิตสมาชิกใหม่ให้แก่สังคม และเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างบทบาทที่เชื่อมโยงกับสถาบันอื่นๆ”

9.“การที่บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ อ้างว่าตนมีเสรีภาพในการที่จะอยู่กินกับบุคคลใด ย่อมสามารถขอจดทะเบียนสมรสได้นั้น

เป็นเพียงความรู้สึกและความพึงพอใจทางเพศ ที่วัดจากการแสดงออก หรือบทบาททางเพศที่แสดงออกในลักษณะของความชอบ”

10.“การสมรสในระหว่างบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ อาจไม่สามารถสร้างความผูกพันอันละเอียดอ่อนดังกล่าวได้


11.ย้อนกลับไปยัง “ต้นตอของการยื่นฟ้อง” เพื่อพิพากษาในครั้งนี้ เกิดจาก “คู่รักหญิง-หญิง” คู่หนึ่ง ขอจดทะเบียนในวันวาเลนไทน์ปี 63 แต่นายทะเบียนปฏิเสธ ด้วยเหตุผลว่า กฎหมายไม่รับรองการจดทะเบียนสมรสเพศเดียวกัน

12.นำมาสู่การยื่นอุทธรณ์กับเจ้าหน้าที่ แต่กลับถูกปฏิเสธอีก จึงตัดสินใจยื่นคำร้องต่อ “ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง” ให้พิจารณาว่า การกำหนดให้ “สมรสได้เฉพาะชาย-หญิง” นั้น ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือเปล่า?

13.ตามรัฐธรรมนูญแล้ว รับรองไว้ว่า “บุคคลมีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกัน” ดังนั้น การถูกใครก็ตามทำให้ได้รับความเดือดร้อนเสียหาย “ลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” เบียดบังสิทธิเสรีภาพ และทำลายความเสมอภาค จึงสามารถโต้แย้งได้

14.เช่นเดียวกับ “คู่รักหญิง-หญิง” เคสนี้ ที่ถูกปฏิเสธไม่ให้จดทะเบียนสมรส เพียงเพราะ “ความแตกต่างเรื่องเพศ” ที่กำหนดไว้ใน ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 พระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว พ.ศ.2478

15.กระทั่งออกมาเป็นคำวินิจฉัย ให้ชาวโซเชียลฯ ได้รุมวิจารณ์เละถึงความไม่สมเหตุสมผล โดยเฉพาะกลุ่มกูรูด้านกฎหมายชื่อดัง “iLaw” ที่ถึงกับลุกขึ้นมาเปิด Twitter Spaces ในหัวข้อ “#สมรสเท่าเทียม : สับแหลกคำวินิจฉัยศาลรธน. ไม่โป๊ะตรงไหนเอาปากกามาวง”


16.ความโป๊ะแรกของศาลรัฐธรรมนูญที่ทาง iLaw สับแหลกไว้คือ การหยิบเอาหลักการเรื่อง “ความเสมอภาค” มาใช้อย่างหลงทิศหลงทาง

โดยอ้างว่าบุคคลที่มีสาระสำคัญไม่เหมือนกัน จะปฏิบัติเหมือนกันไม่ได้ จึงทำให้ปฏิบัติต่อบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ให้เหมือนกับชายจริง-หญิงแท้ไม่ได้

17.ทั้งที่ความจริงแล้ว หลักปฏิบัติเพื่อความเสมอภาคข้อนี้ เหมาะที่จะเอาไว้ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อ “กลุ่มผู้พิการ” ให้ถูกปฏิบัติอย่างดูแลเอาใจใส่ และอาจได้รับสิทธิบางอย่างที่มากกว่า เนื่องจากสภาพร่างกายที่แตกต่าง จึงปฏิบัติเหมือนคนทั่วไปไม่ได้

แต่กลับกลายเป็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญกลับหยิบช่องโหว่เหตุผลตรงจุดนั้น มาใช้แบ่งแยก “ชายจริง-หญิงแท้” ออกจาก “กลุ่มคนหลากหลายทางเพศ” โดยไม่ได้ให้รายละเอียดลงไปว่า “สาระสำคัญไม่เหมือนกัน” ที่อ้างนั้น ไม่เหมือนกันตรงไหน และควรเลือกปฏิบัติให้แตกต่างยังไง

18.และถ้าจะอ้างว่าแตกต่างตรงที่ความเป็นชาย-หญิงนั้น “ถูกกฎหมายเพราะมีลูกได้” กลุ่ม iLaw ก็มีข้อโต้แย้งอีกว่า ในหลายๆ ครอบครัวก็ไม่ได้ “สมรสเพื่อสร้างทายาท”


แถมยังมีคู่สมรสที่ร่างกายไม่พร้อม มีลูกไม่ได้ แต่ทำไมยังถูกเหมารวมว่า “ถูกกฎหมายเพราะสืบพันธุ์ได้” ตามนิยามนั้นอีก นี่แหละคือความคลุมเครือของเหตุผลที่หยิบมาอ้าง



19.อีกประเด็นเดือดที่ทาง iLaw มองว่า ศาลรัฐธรรมนูญทำตัวเป็น “คุณพ่อรู้ดี-ทำเกินหน้าที่” คือการวินิจฉัยว่า ผู้มีความหลากหลายทางเพศจะมาจดทะเบียน “เพื่อหวังผลประโยชน์ในสวัสดิการต่างๆ ของรัฐ” ซึ่งอาจส่งผลต่อความมั่นคง

ทั้งที่หน้าที่ตรวจสอบการเบิกจ่ายสิทธิประโยชน์ต่างๆ มีหน่วยงานดูแลรับผิดชอบโดยตรงอยู่แล้ว ไม่เห็นจำเป็นต้อง “เป็นห่วงเป็นใยเกินหน้าที่” อย่างที่แสดงจุดยืน

20.และถ้าในอนาคตมีการแก้กฎหมายให้ “สมรสเท่าเทียม” ได้ การเบิกจ่ายสวัสดิการ รวมถึงค่าพยาบาลต่างๆ ก็ไม่เห็นต้องตรวจสอบจาก “เพศ” แต่แค่เช็กจากสถานะ “คู่สมรส” ก็พอ ดังนั้น การมองใครว่าเป็นเพศไหน จึงไม่ใช่ข้ออ้างของการไม่อนุญาต

21.แต่ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมา มีกรณี “สมรสลวง เพื่อหลอกเอาสวัสดิการรัฐ” เกิดขึ้นจริง แต่เกิดกับ “คู่ชายจริง-หญิงแท้” นั่นแหละ จึงไม่ใช่ข้ออ้างที่จะมาโบ้ยพฤติกรรมนี้ว่า จะเกิดใน “คู่หลากหลายทางเพศ”

และถึงมันจะเกิดขึ้นจริงใน “คู่เพศทางเลือก” ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ก็มีกลไกการตรวจสอบ เพื่อให้การสมรสนั้น “เป็นโมฆะ” ได้ในภายหลัง

แถมเคสแบบนี้ ก็มีแค่ส่วนน้อยเท่านั้น การจะเอาส่วนน้อยมาอ้าง เพื่อไม่ให้เกิด “การสมรสของเพศที่หลากหลาย” จึงเป็นเหตุผลที่ฟังเท่าไหร่ก็ฟังไม่ขึ้น

22.อีกจุดที่กระแทกใจชาวสีรุ้งอย่างมาก คือการวินิจฉัยว่า ถ้ามี “คู่สมรสเพศทางเลือก” จะเป็นการ “เพิ่มภาระให้รัฐ” ให้ต้องมานั่งตรวจสอบสิทธิ์ ทำให้กระทบต่อระบบ เกิดความล่าช้า จนเดือดร้อนถึง “ชายจริงหญิงแท้ ซึ่งเป็นมหาชน” ให้ไม่ได้รับความเป็นธรรมไปโดยปริยาย

23.ในทางกลับกัน เวลารัฐกำหนดให้ “เสียภาษี” กลับให้จ่ายอย่างเท่าเทียมกัน โดยไม่ได้พิจารณาแยกแยะว่า เป็น “เงินจากเพศไหน” แต่มองแค่หน้า เห็นว่าเป็นคนไทย ก็ต้องเสียภาษีให้อย่างไม่มีข้อแม้

แต่น่าแปลก ที่กฎหมายบางอย่างกลับเอื้อเพียง “คู่สมรสชาย-หญิง” ส่วนถ้าจะโต้แย้งว่า เพราะสร้างทายาทได้ จึงได้รับสิทธิที่แตกต่าง ก็ยังมีคู่สมรสที่เป็นหมัน หรือไม่ต้องการสืบทายาท ที่ได้รับการยกเว้น

ดังนั้น ต้องคิดให้ดี ถ้าจะอ้างเรื่อง “มีลูก” แล้วควรได้รับสวัสดิการมากกว่าคนอื่นๆ และถ้าหาข้อมาโต้แย้งเพิ่มไม่ได้ ก็อาจหมายความว่าไม่ควรแบ่งแยก “คู่สมรสเพศที่หลากหลาย” ด้วยข้ออ้างเรื่อง “สวัสดิการรัฐ”


24.และจากคำวินิจฉัยสะท้อน “การเหยียดเพศทางเลือก” ให้รู้สึกถึงความไม่เท่าเทียมเหล่านี้ จึงเป็นที่มาของการตั้งคำถามต่อ “ตุลาการชายทั้ง 9 ท่าน” ว่าช่างเหมาะแก่แฮชแท็ก #ศาลรัฐธรรมนูญเหยียดเพศ

และเมื่อค้นประวัติ “1 ใน 9” ซึ่งเป็นผู้ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายอาญาเพียงหนึ่งเดียว จึงพบข้อมูลน่าตกใจว่า ผู้วินิจฉัยรายดังกล่าวเคยเขียนบทความเรื่อง “กระทำชำเราอย่างไรจึงไม่ผิดกฎหมาย”


25.ในบทความซึ่งเคยตีพิมพ์โดย คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ครั้งนั้น ตุลาการรายดังกล่าว มีการเล่นมุกตลกเกี่ยวกับ “การข่มขืน” เอาไว้ด้วย ใจความว่า...

“ในทางจิตวิทยาของอาชญากร คนที่ต้องการยกเลิกกฎหมายใด แสดงว่าเขาอยากทำผิดกฎหมายนั้น... ผมเองยังอยากให้ยกเลิกกฎหมาย 'ข่มขืนกระทำชำเรา' เลย!!!

“เสียดาย ถ้าผมกลับไปเป็นเด็กอายุไม่เกิน 15 ได้อีกล่ะก็... ผมจะไล่ปล้ำพวก Woman Lib ทั้งหลายให้อับอาย



26.ส่งให้เกิดแรงกระเพื่อมลูกใหม่ ตั้งคำถามครั้งใหญ่ว่า สังคมไทยควรให้ “ตุลาการผู้มีแนวคิดส่งเสริมการข่มขืน” ได้ไปต่อในการพิพากษาสูงสุดของประเทศหรือไม่?

โดยล่าสุดมีผู้ตั้งแคมเปญใน change.org เพื่อให้ ม.ธรรมศาสตร์ ตั้งกรรมการสอบผู้สอนวิชากฎหมายที่มีพฤติกรรมเหยียดเพศ-เล่นมุกข่มขืน รายนี้เรียบร้อยแล้ว

27.แม้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะหักอก “กลุ่มคนหลากหลายทางเพศ” รุนแรงขนาดไหน แต่ “วาดดาว-ชุมาพร แต่งเกลี้ยง” แม่ทัพกลุ่ม “เฟมินิสต์ปลดแอก” ผู้เคลื่อนไหวรณรงค์เรื่อง LGBTQI ในสังคมไทยมาโดยตลอด อยากให้มองเป็น “เชื้อไฟ”

“ครั้งนี้ถือว่า เป็นการรบกับคนที่เกลียดกลัว คนที่เกลียดชัง เป็นการสู้รบกับเต่าล้านปีอย่างมีนัยสำคัญ อย่างที่เราไม่เคยได้ลุกขึ้นมาก่อน ในประวัติศาสตร์การเคลื่อนไหวของ LGBT ในประเทศไทยเลย

ฉะนั้น สิ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินตีความ เป็นเพียงแค่กระจกที่ทุกคนก็รู้ว่า มีหลายคน โดยเฉพาะ 'คนที่เก่าแก่คร่ำครึ' มองอย่างนี้ แต่พวกเราต้องลุกขึ้นมาต่อสู้”


28.และการต่อสู้ครั้งสำคัญคือ การลงชื่อสนับสนุน “พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ภาคประชาชน” ที่ www.support1448.org เพื่อผลักให้ได้เข้าไปพิจารณาในสภา ซึ่งขณะนี้มีผู้สนับสนุนพุ่งไปกว่า “2 แสนรายชื่อ” แล้ว

แต่หัวหอกผู้เคลื่อนไหวเพื่อ #สมรสเท่าเทียม อย่าง “วาดดาว” ก็มองว่า ยังไม่เพียงพอ ต่อการสู้รบกับ “กลุ่มอนุรักษ์นิยม” ผู้ต่อต้านเพศทางเลือกมานานแสนนาน จึงอาจต้องอาศัย “การต่อสู้ชูธงรุ้ง” บนท้องถนนควบคู่กันไปด้วย

อย่างที่ ฝรั่งเศส-อเมริกา ทำสำเร็จมาแล้ว จากการรวมกลุ่มแสดงจุดยืนตามมลรัฐต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อเสรีภาพและความเสมอภาคที่แท้จริง เพราะไม่มีประเทศไหนในโลกที่ “กฎหมายสมรสเท่าเทียม” ลอยลงมาให้คว้าได้ง่ายๆ โดยไม่มีการประท้วง

29.ทั้งยังทิ้งท้ายฝากกระตุ้นชาว LGBTQI (Lesbian, Gay, Bisexual, Transgender, Queer และ Intersex) ไว้ด้วยว่า “การเลือกตั้ง” สมัยหน้า ถ้าหากเห็นว่า ส.ส.-ส.ว.รายไหน-พรรคการเมืองใด ไม่เห็นด้วยในเรื่องนี้ ก็ขอให้บอยคอตไปได้เลย

“เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ประชาชนสามารถท้วงติง ทักท้วง และต่อสู้ได้ ซึ่งมันไม่ได้ง่ายนะคะ มันยาก แต่เราก็คิดว่าเราเองก็ไม่มีทางออกอื่น เราหลังชนฝาที่จะอยู่กับระบบนี้แล้วเหมือนกัน



สรุปดราม่า : ทีมข่าว MGR Live
อ่านคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญฉบับเต็ม : www.constitutionalcourt.or.th




** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **







กำลังโหลดความคิดเห็น