xs
xsm
sm
md
lg

พลิกวิกฤติ “ผู้สูงวัย” ก้าวสู่สังคมอย่างไม่ต้องกลัวล้ม!!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ลดยอดตาย - เพิ่มโอกาสพัฒนาตนเอง - เปลี่ยนจากภาระให้เป็นที่พึ่ง” เป้าหมายภาครัฐไทยก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ ด้านภาคประชาชนไม่นิ่งเฉย ผุดตัวช่วย “ไม้เท้าพยุงเดินปรับระดับ” ในโครงการ “ดีแทคพลิกไทย” ชวนคนสูงวัย พลิกชีวิตที่อยู่ติดบ้าน ด้วยขาที่ 3 ที่ดีกว่าเดิม!!

พร้อมไหม? นับถอยหลังประเทศไทยสู่ “สังคมผู้สูงอายุ”

“สลด! ไฟไหม้บ้าน คนชราป่วยติดเตียงถูกไฟคลอกดับ”
หนึ่งในพาดหัวข่าวตามสื่อต่างๆ ที่มักจะเห็นจนชินตาเมื่อเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ ผู้เสียชีวิตที่พบในกองเพลิงส่วนใหญ่มักเป็นผู้สูงอายุที่ไม่สามารถหนีออกมาทัน เนื่องจากสภาพร่างกายที่มีความเสื่อมถอยตามสังขาร ยิ่งเป็นผู้ป่วยติดเตียงแล้ว โอกาสรอดแทบจะเรียกได้ว่า “เป็นศูนย์”

อีกหนึ่งสาเหตุใหญ่ที่ทำให้ผู้สูงอายุเสียชีวิต ไม่ได้มีเพียงแค่อุบัติเหตุไฟไหม้หรือโรคภัยไข้เจ็บเท่านั้น หากแต่เป็นเรื่องที่ใกล้ตัวมาก และมีโอกาสเกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลา และยังเกิดได้กับคนทุกเพศทุกวัย ซึ่งก็คือ “การพลัดตกหกล้ม” สาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 2 รองจากอุบัติเหตุบนท้องถนน ที่คร่าชีวิตคนไทยปีละกว่า 2,000 คน และกว่าครึ่งของตัวเลขนี้ คือกลุ่มผู้สูงอายุ



กรมควบคุมโรค เผยสถิติอันน่าตกใจว่าในแต่ละปี ผู้สูงอายุเสียชีวิตจากการหกล้มกว่า 1,000 คน หรือประมาณ 3 คนต่อวัน ผู้หญิงมีโอกาสหกล้มสูงกว่าผู้ชายถึง 1.5 เท่า ซึ่งสถานที่เกิดเหตุส่วนใหญ่หกล้มนอกบ้านมากถึงร้อยละ 65 และในบ้านร้อยละ 31 โดยมีสาเหตุเกิดจากลื่น สะดุดหรือก้าวพลาดบนพื้นระดับเดียวกันร้อยละ 60 และมีเพียงร้อยละ 5.80 เกิดจากการตกหรือล้มจากบันไดและขั้นบันได

อาการต่างๆ ที่จะตามมาหากผู้สูงอายุหกล้มแล้ว อาการบาดเจ็บรุนแรงมากที่สุดคือกระดูกข้อมือหัก รองลงมาคือสะโพกหัก และซี่โครงหัก หากอาการหนักกว่านั้นอาจถึงขั้นพิการ เป็นผู้ป่วยติดเตียง กระทั่งเสียชีวิต ทำให้หลายครอบครัวจึงเลือกที่จะให้ผู้สูงอายุอยู่แต่กับบ้าน เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ และป้องกันปัญหาผู้สูงอายุพลัดหลงหากออกไปข้างนอก
แต่นั่น...ทำให้ความเสี่ยงที่ผู้สูงอายุจะเกิดอาการข้อเสื่อมเนื่องจากเคลื่อนไหวร่างกายน้อยลงตามมา เสี่ยงเกิดโรคอัลไซเมอร์ โรคซึมเศร้าจากการไม่ได้พบปะผู้คน ส่งผลให้ทุกอย่างในร่างกายถดถอย ทั้งที่ความจริงแล้ว ผู้สูงอายุยังสามารถพัฒนาตนเองได้



ปัจจุบันตัวเลขของผู้สูงอายุในประเทศไทยมีราว 10 ล้านคน กว่า 70,000 คนเป็นคนนอนติดเตียง และอีกราว 170,000 คนที่ต้องอยู่กับบ้าน ซึ่งคาดการณ์ปี 2564 ประเทศไทยจะเข้าสู่ “สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์” คือจะมีผู้สูงอายุ 20% ของจำนวนประชากร และมีแนวโน้มที่จำนวนจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ในปีถัดไป ซึ่งหน่วยงานของทางภาครัฐเองก็ได้มีการเตรียมความพร้อมและการดูแลไว้สำหรับแนวโน้มจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น

โดยรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริม "โรงเรียนผู้สูงอายุ" เปิดพื้นที่ให้คนกลุ่มนี้ออกมาทำกิจกรรมพัฒนาตนเอง ลดภาวะการกลายเป็นผู้สูงอายุที่ติดบ้าน ติดเตียง และอีกนโยบายสำคัญคือการจัดสรรงบประมาณ ผ่านกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเพื่อจัด “กองทุนระบบการดูแลระยะยาวด้านสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง” (Long term care: LTC) ที่เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 59



นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กล่าวถึงการดำเนินงานดูแลระยะยาวด้านสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง(ติดบ้าน ติดเตียง) ว่า “รัฐบาลได้สนับสนุนงบประมาณเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากจำนวน 600 ล้านบาท ในปี 59 เป็นจำนวน 900 ล้านบาทในปี 60 และเพิ่มเป็นจำนวน 1,159 ล้านบาท ในปี 61 นี้ ส่งผลให้มีการขยายจำนวนกลุ่มเป้าหมายผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงได้รับการดูแลภายใต้ระบบเพิ่มขึ้นเช่นกัน จากจำนวน 100,000 คน ในปี 59 เป็นจำนวน 150,000 คน ในปี 60 และเพิ่มเป็นจำนวน 193,200 คน ในปี 61

การจัดตั้งกองทุน LTC เพื่อให้ผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงทั่วประเทศมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ผลการดำเนินงานในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาไม่เพียงทำผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงจำนวน 175,378 คน (รวม กทม.) ได้รับการดูแลที่ดี แต่ยังช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลและรักษาพยาบาล รวมทั้งการลดความแออัดในการเข้ารับบริการยังหน่วยบริการ ซึ่งในอนาคตคงจะมีการขยายระบบให้ครอบคลุมดูแลผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงยิ่งขึ้น กองทุน LTC จึงเป็นหนึ่งในมาตรการเชิงรุกของรัฐบาลเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุที่ยั่งยืน”


นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)

แต่ทางฝั่งของประชาชน จะรอความช่วยเหลือจากทางภาครัฐอย่างเดียว โดยไม่ทำอะไรก็คงไม่ถูก จะดีกว่าไหม ถ้าสังคมไทยจะเกิดความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น จากความร่วมมือจากทางองค์กรที่ให้ความสำคัญต่อปัญหาของสังคมในภาพกว้าง และภาคประชาชนที่เข้าใจปัญหาในเชิงลึก เพื่อรับมือกับสังคมผู้สูงอายุตั้งแต่วันนี้ ร่วมกับการทำงานของภาครัฐอีกแรง

คุณภาพชีวิตที่ดีของคนสูงวัย เริ่มที่ “ไม้เท้า”

อ.พญ.โสฬพัทธ์ เหมรัญช์โรจน์ จากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะที่เป็นผู้ทำงานกับกลุ่มผู้สูงอายุโดยตรง เธอและทีมงาน จึงร่วมกันคิดค้น “ไม้เท้าพยุงเดินปรับระดับ” โดยหวังจะให้สิ่งประดิษฐ์นี้มีส่วนช่วยในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุไทย ซึ่งทำให้แนวคิดนี้ได้ถูกคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 10 ทีมสุดท้าย ในโครงการ “ดีแทคพลิกไทย” โครงการพัฒนาสังคมที่มุ่งหวังจะสร้างสังคมไทยให้แข็งแกร่ง และขณะนี้แนวคิดที่ถูกคัดเลือกเข้าสู่ในช่วงการระดมทุนเพื่อนำไปสร้างผลิตภัณฑ์ต้นแบบ

อ.พญ.โสฬพัทธ์ เล่าถึงที่มาและแรงบันดาลใจของแนวคิดนี้ว่า “ไม้เท้าเราใช้คอนเซ็ปท์ว่า ‘ไปได้ทุกที่’ หมออยากได้ไม้เท้าที่มันดีกว่าแบบเดิม เราใช้หลักทางวิศวกรรมเข้ามาช่วย คือทางลาดชันก็ไปได้ ขึ้น - ลงบันไดได้ ไม่ว่าจะมีหลุมมีบ่อ ไม้เท้าตัวนี้มันปรับระดับได้หมด ขึ้นรถพับเก็บและกางออกมาใช้งานได้เลย ผู้สูงอายุที่ใช้ไม้เท้ายังไงก็ดีกว่าไม่ใช้อยู่แล้ว แต่ความปลอดภัยคืออันดับหนึ่งของเราค่ะ มันจะช่วยในแง่ของลดความเสี่ยงในการหกล้ม


อ.พญ.โสฬพัทธ์ เหมรัญช์โรจน์

แต่ถ้าเกิดเหตุผู้สูงอายุเกิดหกล้มหรือหลงทาง ก็จะมีระบบ GPS ติดตาม ทำให้ลูกหลานติดต่อได้รวดเร็ว เข้าแอปพลิเคชันปั๊บ รู้เลยว่าอยู่ที่ไหน ทำให้ลูกหลานสบายใจที่จะให้ผู้สูงอายุพร้อมที่จะใช้ชีวิตอย่างพึ่งพาตัวเองได้ อันนี้เป็นจุดที่ไม่เหมือนกับไม้เท้ารุ่นเก่าค่ะหากอุปสรรคทางร่างกายมีมากกว่านั้น ไม้เท้านี้จะช่วยได้ในระยะยาว นอกเหนือจากผู้สูงอายุแล้ว กลุ่มเด็กที่บาดเจ็บหรือผู้ที่ผ่าตัดขาแล้วลงน้ำหนักขาไม่ได้ชั่วคราว ก็สามารถใช้ไม้เท้านี้แทนไม้ดาม 2 ข้างได้ค่ะ”

แต่กว่าจะออกมาเป็น “ไม้เท้าพยุงเดินปรับระดับ” นั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย และคงจะไม่สำเร็จ หากไม่มี ผศ.ดร.สัณหพศ จันทรานุวัฒน์ ประจำสาขาวิศวกรรมเครื่องกล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ อ.จิระศักดิ์ จิตรโรจนรักษ์ ประธานศูนย์นวัตกรรมโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายประถมศึกษา สองหัวเรือใหญ่ด้านวิศวกรรมในโครงการนี้ มาช่วยเสริมเรื่องกลไกของไม้เท้านี้ให้หลากหลายและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น



และอีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญ ที่จะเข้ามาช่วยขับเคลื่อนโครงการให้บรรลุผลตามที่ตั้งไว้ นอกจากทุนสนับสนุนแล้ว คือกลุ่มอาสาสมัคร เพราะจากการนำไม้เท้าพยุงเดินปรับระดับตัวต้นแบบไปทดลองใช้ในกลุ่มผู้สูงอายุ พบว่า กลุ่มอาสาสมัครมีส่วนช่วยในการดึงผู้สูงอายุออกมาทำกิจกรรมเป็นอย่างมาก

“มีการทดลองในกลุ่มผู้สูงอายุมาแล้ว ก็มีผลตอบรับที่ดีค่ะ มีฟีดแบกกลับหลายเรื่อง ทั้งเรื่องของน้ำหนัก การพับ หรือกลไกต่างๆ ซึ่งเราก็เก็บข้อมูลอยู่ ในอนาคตอาจจะใส่ข้อมูลอื่นๆ ที่จำเป็นลงไปในแอปพลิเคชัน เพื่อให้ไม้เท้ารุ่นต่อๆ ไป ดีที่สุด ตอนทดลองก็ได้ชวนเด็กๆ ไปช่วย เด็กบอกให้เขาทำอะไรเขาก็ทำ ต่อให้มีไม้เท้า แต่ถ้าไม่มีคนดึงผู้สูงอายุออกจากบ้านก็ไม่มีประโยชน์ อาสาสมัครก็เปรียบเหมือนคนในสังคมที่เข้ามาช่วยดูแล เราไม่ได้มองแค่สังคมสูงอายุวันนี้ เด็กรุ่นนี้เขาจะโตมาเป็นคนรุ่นเรา ต้องสอนให้เขามีจิตสำนึก แล้วการเอื้ออาทรในสังคมมันจะเกิดขึ้น ไม้เท้าเป็นสื่อของทุกเรื่องในสังคมค่ะ



หมออยากเห็นผู้สูงอายุไทยพึ่งพาตัวเอง มีกิจกรรม มีคนที่จะคอยส่งเสริมในแง่ของการใช้ชีวิตให้มีความสุขยิ่งขึ้นในเรื่องอื่นๆ ทั้งเศรษฐกิจ สุขภาพ อาหารการกิน อยู่เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรให้ลูกหลาน สมองดี ร่างกายดี ยิ่งเรามีผู้สูงอายุเยอะ เรายิ่งต้องเปลี่ยนจากภาระของประเทศ เป็นมรดกทางปัญญาของประเทศดีกว่า หมอคิดว่าเรื่องนี้ไม่จบแค่ห้าปีสิบปี เพราะจำนวนผู้สูงอายุจะมากขึ้นเรื่อยๆ ฉะนั้นการที่เราปูพื้นฐานของสังคมให้ผู้สูงอายุอยู่ได้อย่างมีความสุข มันแค่จุดเริ่มต้นของวันนี้เอง”

โดยทีมของ อ.พญ.โสฬพัทธ์ ยังต้องการทุนสนับสนุนเพิ่มเติมเพื่อสร้างไม้เท้าต้นแบบสำหรับผู้สูงอายุที่สามารถเดินในพื้นที่ต่างระดับและติดตามผู้สูงอายุด้วยระบบ GPS และยังมีแผนจัดตั้งเป็นธุรกิจเพื่อสังคม ผลิตและจำหน่ายไม้เท้าพยุงปรับระดับและอุปกรณ์ดูแลผู้สูงอายุในราคาย่อมเยาในอนาคต



ทุกคนก็เป็นส่วนหนึ่งกับการพลิกไทยกับดีแทคครั้งนี้ได้ ร่วมเป็นอาสาสมัครในโครงการหรือร่วมบริจาคเพื่อสนับสนุน “ไม้เท้าพยุงเดินปรับระดับ” ผ่านมือถือ ลูกค้าดีแทคกด *405*13# แล้วกดโทรออก(ครั้งละ 50 บาท) สำหรับผู้สนับสนุนที่ใช้เครือข่ายอื่น สามารถสนับสนุนได้ผ่าน taejai.com

ร่วมสนับสนุนเงินทุนสำหรับโครงการ “ไม้เท้าพยุงเดินปรับระดับ” ได้ 2 ช่องทาง คือ
- ทางเว็บไซต์เทใจ https://taejai.com/th/d/plikthai_walker/ สามารถระบุเงินบริจาคได้ หากบริจาค 250 บาทขึ้นไปสามารถขอใบเสร็จรับเงินบริจาคเพื่อนำไปลดหย่อนภาษีได้ และบริจาค 2,000 ขึ้นไป รับสิทธิ dtac reward Blue Member เป็นเวลา 1 เดือน (เฉพาะหมายเลขของ dtac)
- ลูกค้า dtac กด *405*103# แล้วกดโทรออก ครั้งละ 50 บาท


กำลังโหลดความคิดเห็น