xs
xsm
sm
md
lg

“เรื่องของพ่อ” ที่ไม่เคยมีใครเล่า จากทีมปิดทองหลังพระ เพื่อ “สานต่อที่พ่อทำ” [มีคลิป]

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พวกเขาคือกลุ่มคนผู้ไม่ประสงค์จะออกนาม ที่มารวมตัวกันด้วยปณิธานอันแรงกล้าว่า จะขอถ่ายทอดเรื่องราวของ “พ่อหลวงรัชกาลที่ ๙” ในมุมที่ไม่เคยมีใครบอกเล่า ในแบบที่ช่วยให้เข้าถึง “ตัวตนติดดิน” ของพระองค์ได้มากที่สุด จนหลอมรวมออกมาเป็นหนังสือแจกฟรีเล่มที่ “ลูกของพ่อ” ต่างก็อ่านไปยิ้มไป ย้ำว่าเหตุผลเบื้องหลังจริงๆ ไม่ใช่แค่อยากให้รำลึกถึง แต่ต้องการชักชวนให้ผู้อ่านได้หัดมองโลกผ่านสายพระเนตรอันกว้างไกล ก่อนร่วมกันสร้างก้าวต่อไป เพื่อสานต่อผืนแผ่นดินไทยตามรอยพระราชปณิธานของพระองค์




“Untold Story” by Unknown Artist

[หนังสือ “The Visionary ถอดรหัสกษัตริย์ผู้มองเห็นอนาคต” ผลงานของทีมปิดทองหลังพระ ทีมนี้]
ไม่ต้องแปลกใจไป ถ้าระหว่างบรรทัดต่อจากนี้ จะไม่มีชื่อของคู่สนทนาปรากฏอยู่ในบทสัมภาษณ์แม้เพียงสักคน เพราะพวกเขาทุกคน ตั้งใจเอาไว้แบบนั้น ตั้งแต่วันแรกของการก้าวเท้าเข้ามาถ่ายทอดเรื่องราวของ “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช” ภายใต้ชื่อทีม “สานต่อที่พ่อทำ” ตั้งแต่เมื่อเดือน พ.ค.ปีที่แล้ว

“ตั้งแต่เริ่มทำโปรเจกต์ เราก็เริ่มตามอ่านหนังสือเกี่ยวกับในหลวง (ร.๙) ตอนนั้น เรื่อง “การปิดทองหลังพระ” ที่ในหลวงสอนไว้ คือเรื่องแรกๆ ที่อ่านเจอและรู้สึกประทับใจ ก็เลยเอาเรื่องนี้มาเล่าให้ทีมฟัง จนกลายมาเป็นเหตุผลที่พวกเราในทีม ตัดสินใจจะทำงานนี้ โดยไม่แสดงตัว ไม่บอกว่าพวกเราคือใคร

ตัวตั้งตัวตี สมาชิกคนแรกของโปรเจกต์เพื่อพ่อหลวง ร.๙ ทีมนี้ ขอเป็นคนเปิดเรื่อง บอกเล่าที่มาที่ไปของการรวมตัวกันในกลุ่มเพื่อนรุ่นๆ เดียวกัน จากคนในวงการสื่อสารมวลชนเหมือนๆ กันขึ้นมา หลังได้ประชุมกับรุ่นพี่ผู้ก่อตั้ง “เครือข่ายสานต่อที่พ่อทำ” เครือข่ายใหญ่ เพื่อต้องการเฉลิมฉลองในวาระที่ทรงครองราชย์ครบ 70 ปี และกำลังจะเป็นปีที่พระชนมายุครบ 90 พรรษาพอดี

ด้วยความที่ศรัทธาในตัว “มหาบุรุษแห่งสยาม” มาตั้งแต่ไหนแต่ไร ครีเอทีฟหนุ่มวัย 32 จึงเกิดปิ๊งไอเดียขึ้นมาว่า จะขอรับหน้าที่สื่อสาร “เรื่องราวที่ยังไม่เคยมีใครบอกเล่า” หรือ “Untold Story” เกี่ยวกับพ่อหลวงในโปรเจกต์นี้ เขาจึงถูกสนองด้วยการให้รับผิดชอบสื่อสารกับกลุ่มคน Gen Y เป็นหลัก โดยเฉพาะกลุ่มคนบนโลกออนไลน์

จึงเป็นที่มาของการตั้งแฟนเพจชื่อ “สานต่อที่พ่อทำ” ที่หลายคนรู้จักและติดตามอยู่ในขณะนี้ ซึ่งเป็นทีมเดียวกับที่เพิ่งทำหนังสือเรื่อง “The Visionary ถอดรหัสกษัตริย์ผู้มองเห็นอนาคต” ออกมาแจกให้อ่านกันฟรีๆ จนเล่นเอายอดจองถล่มทลาย ยอดการผลิตหลักหมื่นไม่เพียงพอต่อความต้องการของคนอยากได้


แต่กว่าจะเดินมาถึงปลายทางความสำเร็จอย่างที่เห็นวันนี้ ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ โดยเฉพาะในตอนที่ต้องเดินฝ่า “พายุอุปสรรค” ลูกใหญ่ที่สุด ซึ่งพัดเข้ามาอย่างไม่มีใครได้ทันตั้งตัว ในวันที่ 13 ต.ค.59 จนกลายเป็น “มรสุมแห่งความสูญเสียของคนไทยทั้งประเทศ” ที่ต้องจำใจยอมรับความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ แน่นอนว่ารวมถึงกลุ่มคนนิรนามที่กำลังเคลื่อนไหวอย่างเงียบๆ กลุ่มนี้ด้วย

“ตอนนั้นตกใจมากค่ะ มันผิดแผนไปหมดเลย แต่วินาทีนั้น คิดว่ายังไงก็ต้องเริ่มโพสต์อะไรก่อนแล้ว จากตอนแรกที่วางไว้ว่าจะเปิดตัวเพจช่วงปลาย พ.ย.(59) ก็เปลี่ยนไปหมดเลย ทั้งๆ ที่ตอนนั้นแค่สมัครเพจเอาไว้ ยังไม่ได้ทำอะไรเลย” นักสื่อสารมวลชนสาวในกลุ่ม ช่วยย้อนเล่าเหตุการณ์ ก่อนปล่อยให้เพื่อนอีกคนในทีม เผยเบื้องหลังการตัดสินใจ

“ตอนแรกทุกคนเอาแต่ชะงัก แต่แล้วก็ได้คำตอบว่า เรายังคงถ่ายทอดเรื่องของท่านได้เหมือนเดิมนี่ เพราะเราตั้งใจจะพูดถึงสิ่งที่เราจะ “สานต่อ” ที่พระองค์ทำอยู่แล้ว ถ้าอย่างนั้น หน้าที่ของเพจนี้ก็คือการทำให้ผู้คนรู้จักในหลวงมากขึ้น เราก็เลยตัดสินใจโพสต์คอนเทนต์ไปเรื่อยๆ ทุกวันจนครบ 1 ปี เพราะคิดได้ว่านี่คือช่วงเวลาที่ดี ที่จะมีโอกาสบอกเล่าเรื่องราวในหลวง โดยใช้ระยะเวลา 1 ปี ถ้าใครได้ตามอ่านมาตั้งแต่แรกๆ มาจนครบ ก็จะรู้จักในหลวงเท่ากับพวกเราและทีมรีเสิร์ช (Research) เลยครับ”

ยิ่งค้นหาข้อมูลมากๆ เข้า ยิ่งทำให้ทีมมองเห็นช่องโหว่ของการบอกเล่าแบบเดิมๆ คือพบว่าข้อมูลของพระองค์มีเยอะมาก แต่อยู่อย่างกระจัดกระจาย ไม่ปะติดปะต่อ เพราะเรื่องเล่าจากหลายๆ แหล่งขาดการเชื่อมโยง จึงเป็นที่มาของการไล่เลียงไทม์ไลน์ชีวิตของพระองค์ออกมาถ่ายทอด บอกเล่ามาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ จนถึงช่วงเวลาสุดท้าย

โดยแบ่งออกเป็น 12 หมวดหลักๆ เรียงตามลำดับเวลาชีวิต เสริมด้วยลักษณะการทรงงานที่แตกต่างกันในแต่ละภูมิภาค จนออกมาเป็น “12 ซีรีส์ตลอดพระชนม์ชีพ” เริ่มตั้งแต่ซีรีส์วัยเด็ก, ซีรีส์งานช่วงแรก, วังสวนจิตรลดา, อุปกรณ์และห้องทรงงาน, ภาคเหนือ,ภาคอีสาน, ภาคใต้, ภาคกลาง, กรุงเทพฯ, งานอดิเรก, เศรษฐกิจพอเพียง ไปจนถึงซีรีส์งานช่วงสุดท้าย

[“12 ซีรีส์” บอกเล่าทุกช่วงชีวิตของ “ในหลวง ร.๙”>>> (คลิก)]

และแน่นอนว่าการสื่อสารตลอด 1 ปีที่ผ่านมา เป็นไปในลักษณะ “ทีมงานนิรนาม” ขอไม่เปิดเผยรายชื่อและใบหน้า เช่นเดียวกับบทสัมภาษณ์นี้ที่ยอมให้มีภาพเห็นได้แค่ด้านหลัง เพื่อสานต่อพระบรมราโชวาทที่พระองค์ทรงให้ไว้ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 25 ก.ค.2506

"การปิดทองหลังพระนั้น เมื่อถึงคราวจำเป็นก็ต้องปิด ว่าที่จริงแล้วคนโดยมาก ไม่ค่อยชอบปิดทองหลังพระกันนัก เพราะนึกว่าไม่มีใครเห็น แต่ถ้าทุกคนพากันปิดทองแต่ข้างหน้า ไม่มีใครปิดทองหลังพระเลย พระจะเป็นพระที่งามบริบูรณ์ไม่ได้”

จากการพิสูจน์มาด้วยตัวเอง บอกได้เลยว่า “การปิดทองหลังพระ” ลองทำดีแบบไม่เอาหน้านั้น มัน “สุขไปอีกแบบ” เหมือนกัน “ในวันที่มีคนเข้ามาขอบคุณใครก็ไม่รู้ เพราะเขาก็ไม่รู้ว่าเขาจะขอบคุณใคร เขาตามตัวไม่ได้ แต่เขาขอบคุณสิ่งที่เกิดขึ้น หรือวันที่คนเขาพูดถึงสิ่งที่เราทำ โดยที่ไม่รู้ว่าเราทำ ผมมองว่ามันเป็นความสุขที่เกิดขึ้น จากการที่เราได้เห็นผู้คนชื่นชมแนวคิดของในหลวงจริงๆ”

มันน่าจะเหมือนที่ในหลวงทรงตรัสไว้เรื่องการปิดทองหลังพระนั่นแหละครับว่า มันไม่มีอะไรให้หรอก นอกจากความสุขที่ได้ทำ ซึ่งเราก็ได้เข้าใจแล้วว่าความสุขแบบนี้แหละที่มันดีกว่าถ้อยคำสรรเสริญที่มอบให้เราด้วยซ้ำ ผมว่าแค่นี้ก็พอแล้ว และทำให้เราได้รู้ว่ากับเรื่องอื่นๆ ก็เหมือนกัน มันก็เป็นแบบนี้ได้แหละ ที่เราจะทำอะไรโดยที่ไม่ต้องหวังผลตอบแทน ถ้าเกิดมันเป็นเรื่องดีๆ”



ไม่ใช่แค่ “รู้จัก” แต่รักเพราะ “เข้าใจ”

[ทีมงานนิรนาม ผู้ไม่ประสงค์จะออกนาม ผู้ขอปิดทองหลังพระ]
“4,685 โครงการในพระราชดำริ” ตลอดการทรงงาน 70 ปี หรือคิดง่ายๆ คือทุกๆ หนึ่งปี พระองค์ทรงริเริ่มโครงการไม่ต่ำกว่า 60 โครงการ หรือหากคำนวณให้ละเอียดไปกว่านั้น ก็หมายความว่าในหลวง ร.๙ ทรงคิดโครงการใหม่ขึ้นทุกๆ สัปดาห์นั่นเอง ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ยากจะเชื่อว่ามนุษย์คนหนึ่งจะทำได้ขนาดนี้ แต่ก็เป็นเรื่องน่าทึ่งที่เกิดขึ้นจริง และยิ่งน่าทึ่งมากขึ้นไปอีก เมื่อได้รู้ว่าพระองค์ไม่เคยละเลยแม้สักโครงการ โดยทรงติดตามทุกความเคลื่อนไหวผ่านห้องทรงงานของพระองค์เอง

“มีอยู่วันหนึ่ง ผมได้ไปสัมภาษณ์คุณเกรียงศักดิ์ หงษ์โต (ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาเขาหินซ้อน จ.ฉะเชิงเทรา เมื่อปี 2537) ที่เล่าเรื่องการพลิกฟื้นที่นั่นให้ฟังว่า ท่านจะส่งรายงานความคืบหน้าทูลฯ รายงานในทุกวันพุธ เป็นเวลาถึง 3 ปี แม้ว่าจะไม่รู้ว่าในหลวงจะได้อ่านหรือไม่ จนวันหนึ่งในหลวงมีรับสั่งว่าจะเสด็จฯ ไปดูความคืบหน้า จึงได้รู้ว่าพระองค์ทรงติดตามข้อมูลมาตลอดทั้ง 3 ปี

พอได้รู้เบื้องหลังอย่างนี้แล้ว เราจะไม่ได้แค่รู้สึกประทับใจกับตัวเลข 4,000 กว่าโครงการแล้ว แต่เราจะประทับใจกับวิธีการทำงาน, ความอุตสาหะ และการติดตามผลของแต่ละโครงการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในแต่ละโครงการก็มีรายละเอียดอีกเยอะแยะ ทำให้ผมยิ่งรู้สึกประทับใจในพระอัจฉริยภาพของท่าน และเชื่อได้อย่างเต็มใจเลยว่า 4,000 กว่าโครงการที่ว่านั้น มันเกิดขึ้นจากน้ำพักน้ำแรงของพระองค์เองจริงๆ”

เพื่อนร่วมทีม ที่นั่งฟังอยู่ในวงสนทนาเดียวกัน ต่างพยักหน้าหงึกหงักในทำนองเห็นด้วยไปพร้อมๆ กัน ก่อนผลัดกันเปรียบเทียบความรู้สึกให้ผู้สัมภาษณ์ฟังว่า ภาพของ “ในหลวงที่พวกเขารู้จัก” แตกต่างกันอย่างไร ระหว่างก่อนและหลังทำโปรเจกต์นี้ โดยเริ่มจากชายหนุ่มผู้สวมแว่น ที่คนในทีมเรียกเขาว่าเป็นฝ่ายรีเสิร์ช

“ผมมองว่าในหลวงเป็นบุคคลที่น่าสนใจอยู่แล้ว แต่ด้วยวัฒนธรรมการเสพสื่อที่ผ่านมา ทำให้ส่วนใหญ่เราไม่ค่อยรู้จักในหลวงในแง่มุมต่างๆ เท่าที่ควร มันเลยทำให้เรา “รู้จัก” แต่ไม่ได้ “เข้าใจ” จนอาจกลายเป็นความรู้สึกเอื้อมไม่ถึง แต่พอได้มาศึกษาข้อมูลตรงนี้จริงๆ ก็ทำให้ได้เรียนรู้พระองค์ และรู้สึกว่าได้รู้จักในหลวงมากขึ้น ผ่านการทรงงาน ผ่านพระราชดำรัส ผ่านมุมมอง ผ่านทัศนคติในการแก้ปัญหา ฯลฯ จนพบว่าพระองค์คือแบบอย่างที่เราสามารถเลือกเดินตามได้จริงๆ


“ใช่ครับ” เพื่อนอีกคนช่วยเสริม “พอได้ศึกษาจริงๆ ก็ทำให้เราเข้าใจพระองค์ในฐานะคนทำงานคนหนึ่ง ได้เห็นภาพว่าตอนพระองค์ขึ้นครองราชย์ใหม่ๆ มันทุลักทุเลมากเลยนะ กว่าจะเริ่มทำอะไรสักอย่างขึ้นมาได้ แม้แต่เงิน 60,000 บาท ในการสร้างอ่างเก็บน้ำ ในหลวงยังคิดแล้วคิดอีก แต่สุดท้ายก็ยอมควักเงินตัวเอง”

“ทุกเรื่องราวที่ได้ถ่ายทอด มันทำให้เรารับรู้ได้ว่า นี่คือมนุษย์คนหนึ่ง เหมือนเราได้เข้าใกล้ในความคิดของท่านมากขึ้น ซึ่งมันทำให้ง่ายมากขึ้นที่จะนำท่านมาเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิต”

จากก่อนหน้านี้ อาจมองเพียงว่าพระองค์เป็นสัญลักษณ์ของคุณงามความดี โดยที่ไม่เคยรู้ถึงที่มาที่ไปของคำสรรเสริญอันมากมายเหล่านั้น แต่พอได้ลงรายละเอียด เรียนรู้ผ่านวิสัยทัศน์อันกว้างไกล จึงได้เข้าใจเหตุผลเบื้องหลังว่า ทำไมพสกนิกรทั้งแผ่นดินจึงมอบคำว่า “รัก” ให้แด่พระองค์

“หลังจากทำโปรเจกต์นี้แล้ว ผมว่าพวกเราไม่ได้รู้จักในหลวง “มากขึ้น” หรอกครับ แต่แค่รู้จัก “ลึกซึ้งขึ้น” กว่าที่เคยรู้จัก และอยากจะทำให้สิ่งที่พวกเราได้รับรู้เหล่านี้ สื่อสารไปถึงรุ่นน้องๆ หลานๆ ของเรา ให้รุ่นหลังๆ ที่โตขึ้นมาไม่ทันได้เห็นภาพพระองค์ทรงงานหนัก ได้เห็นภาพเดียวกับเรา” ฝ่ายครีเอทีฟร่างสูงใหญ่ประจำทีม อธิบายเจตนารมณ์ของเขา ก่อนบอกเล่าพระอัจฉริยภาพในตัวพระองค์ที่ทำให้เขาประทับใจที่สุด

“ผมชอบ “ความเฉลียว” ของท่านครับ อย่างเวลาท่านทรงงาน เมื่อมีปัญหาหน้างาน พระองค์จะทรงพลิกแพลงใช้ไหวพริบแก้ปัญหาได้ตลอด ถ้าเทียบกับคนปกติก็ต้องบอกว่า เป็นคนที่ลูกล่อลูกชนเยอะมาก นี่แหละครับคือคุณค่าในตัวพระองค์ท่านที่ผมชื่นชมมาก เพราะผมรู้สึกว่าความเฉลียวมันเป็นสิ่งที่ฝึกกันไม่ได้ ต้องมาจากตัวตนของคนคนนั้นจริงๆ

“เราประทับใจที่พระองค์ทรงเป็นคนสู้ไม่ถอยค่ะ” แอดมินสาวตัวเล็กขอตอบคำถามเดียวกันอีกคน “คือถ้ารู้สึกว่าสิ่งไหนมีประโยชน์ พระองค์ก็จะทรงทำให้เกิดขึ้นให้ได้ ต่อให้มีอุปสรรคอะไรเข้ามา พระองค์ก็จะทรงหาวิธีให้จงได้ อีกคุณสมบัติที่ประทับใจคือ พระองค์เป็นคนอารมณ์ดี-อารมณ์ขันด้วยค่ะ เรียกง่ายๆ ว่าเป็นคนมี Sense of Humor

หัวหน้าโปรเจกต์หัวเราะรับคำตอบของเพื่อนที่ช่างตรงใจ ก่อนช่วยอธิบายว่า “พระราชอารมณ์ขัน” ของพระองค์มีความสำคัญ จนน่าเอาเป็นเยี่ยงอย่างอย่างไรบ้าง

“เท่าที่ศึกษามา จะทราบว่าท่านเป็นคนเข้มงวด แต่จะเข้มงวดเฉพาะกับคนที่ทำงานใกล้ชิดกับท่าน คือท่านจะเข้มงวดมาก เฉพาะกับคนที่ต้องรับ-ส่งงานโดยตรงกับท่าน แต่กับคนอื่นๆ ที่อยู่รายรอบ ท่านจะทำงานด้วยความอารมณ์ดี มีไมตรีจิต แล้วก็พยายามไม่ทำให้ใครเครียดเลย

ผมชอบความอารมณ์ขันขณะทรงงานของพระองค์มากครับ ก็เลยพยายามทำให้โปรเจกต์นี้ ทำไปด้วยกันด้วยความสนุก อยากให้ทำแล้วมีความสุข ซึ่งมันก็มีสุขบ้างทุกข์บ้าง (คนในทีมหัวเราะพร้อมกัน) แต่ส่วนใหญ่เราจะพยายามทำโปรเจกต์นี้กันไปด้วยความเฮฮา ตามรอยพระองค์ครับ


[ดาวน์โหลดหนังสือ E-Book "The Visionary”>>> (คลิก)]
“เรียกได้อีกอย่างว่า ในหลวงทรงมี “ศิลปะในการทำงาน” ครับ คือท่านมีวิธีทำให้การทำงานเต็มไปด้วยความรื่นรมย์ แม้แต่ชื่อโครงการที่ท่านทรงตั้ง ก็จะมีชื่อที่เต็มไปด้วยความขี้เล่น อย่างโครงการ “ชั่งหัวมัน” ก็เหมือนกัน ท่านสามารถเปลี่ยนงานที่ดูเคร่งเครียด ให้มันดูรื่นรมย์ขึ้นได้ตลอดเลย”

อาจเรียกได้ว่า พระองค์ทรงสอดแทรกเอา “ศิลปะ” ไปไว้ในทุกๆ อย่าง เพราะแม้แต่ศาสตร์การเป็นผู้นำ ในหลวงยังทรงใช้ “ศิลปะในการบริหารคน” อย่างที่น้อยคนนักจะทำได้ ฝ่ายวางกลยุทธ์การตลาดประจำทีม ช่วยจุดประเด็นคุณสมบัตินี้ ก่อนจับจุดสังเกตเรื่องความใส่ใจใน “ทรัพยากรคน” ของพระองค์ ที่ทำให้บริหารอย่างมีประสิทธิภาพได้ ไม่เว้นแม้แต่ระดับหัวกะทิของประเทศ

“ถ้าสังเกตดีๆ จะเห็นว่า ในหลวงมักถูกรายล้อมไปด้วย “คนเก่ง” เต็มไปหมด จากการที่ท่านทรงงานเป็นระยะเวลานานมาก ทำให้มีผู้เชี่ยวชาญอยู่รอบตัวรอบด้าน ที่คอยให้คำปรึกษา ให้ทุกโครงการประสบความสำเร็จได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าพระองค์ไม่ใส่ใจเรื่องคน จุดนี้แหละค่ะที่ทำให้พระองค์ต่างจากผู้บริหารหรือผู้นำทั่วๆ ไป”



ส่งต่อของขวัญชิ้นสุดท้าย “เราจะสานต่อที่พ่อทำ”

“เราจะสานต่อที่พ่อทำ...” คือโพสต์ล่าสุดจากเพจของพวกเขา และน่าจะเป็นโพสต์สุดท้ายในนามของทีมงาน “สานต่อที่พ่อทำ” ที่ถูกเผยแพร่ในวันที่ 17 ต.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งนับจากวันเริ่มเปิดเพจอย่างเป็นทางการ ก็เป็นเวลาครบ 1 ปีพอดี ตามที่ทีมงานได้ตั้งปณิธานไว้ว่า จะขอบอกเล่าเรื่องราวของพ่อหลวงภายใต้กรอบระยะเวลานั้น

มาถึงวันนี้ พวกเขาแน่ใจแล้วว่า ได้ทำหน้าที่ของตัวเองได้อย่างเต็มภาคภูมิ และมั่นใจได้ว่าถ้า “ลูกของพ่อ” คนไหนได้ติดตามข้อมูลจากเพจมาตั้งแต่วันแรก จะได้ “รู้จัก” พระองค์ท่านอย่างถ่องแท้ จึงขอยุติการเผยแพร่ข้อมูลอย่างเป็นทางการไว้เพียงเท่านั้น พร้อมกับฝากของขวัญชิ้นสุดท้าย แทนคำสอนของ “พ่อหลวง ร.๙” เอาไว้ให้ได้ดาวน์โหลดไปอ่านกัน ผ่านหนังสือ “The Visionary ถอดรหัสกษัตริย์ผู้มองเห็นอนาคต” ในรูปแบบ E-Book ซึ่งออกมาปิดท้ายโปรเจกต์ หลังจากมีหนังสือเล่มแจกฟรีและหนังสือเสียงฟังฟรี เผยแพร่ออกไปแล้วก่อนหน้านี้

“อยากบอกคนที่กำลังตามหาหนังสือเล่มนี้ว่า ไม่ต้องไปหาซื้อที่ไหนแล้วค่ะ สามารถมาอ่าน E-Book บนเพจกันได้ สัญญาว่ามันจะอยู่ตรงนั้นเสมอ และอยากบอกว่าหนังสือ The Visionary ไม่เคยขายที่ไหน เหตุผลที่พวกเราตั้งใจจะไม่ทำขาย เพราะเรารู้สึกว่าไม่อยากหาประโยชน์จากตรงนี้ ถึงแม้เงินเหล่านั้น จะไปช่วยเรื่องการกุศลอะไรก็ตาม ที่สำคัญ เรารู้สึกว่าเราได้มอบสิ่งที่มีประโยชน์ที่สุดให้แก่สังคมไปแล้ว นั่นก็คือข้อมูลทุกอย่างที่เราทำเพื่อให้ความรู้ คือประโยชน์ที่สูงที่สุดแล้ว

ทีมงานผู้จัดทำเข้าใจดีว่า หลายๆ คนอยากมีหนังสือฉบับรูปเล่มเก็บไว้กับตัวเป็นที่ระลึก แต่ที่ไม่ได้ผลิตเพิ่มเพื่อสนองความต้องการ เพราะไม่อยากให้ยึดติดกับ “รูปแบบ” มากเกินไป “เพราะของที่มีประโยชน์ เสพแบบไหนก็มีประโยชน์” หนึ่งในทีมงานขอฝากข้อคิดเตือนใจ ทั้งยังฝากให้ฉุกคิดเรื่องความหมายของ “หนังสือแจก” เอาไว้ด้วยว่า มันจะทรงคุณค่าก็ต่อเมื่อ ทุกคนมีจิตใจที่อยากส่งต่อ อยากให้เพื่อนร่วมโลกได้หยิบยืมเรื่องราวดีๆ ของกันและกัน


[ของขวัญชิ้นสุดท้าย จากทีม “สานต่อที่พ่อทำ”]
และเรื่องราวดีๆ ในหนังสือเล่มที่ว่านั้น ก็คือ “หลักการ 9 ข้อ” ที่ได้จากการวิเคราะห์การทรงงานตลอดระยะเวลา 70 ปีของในหลวงรัชกาลที่ ๙ เพื่อให้เข้าใจวิธีคิดของพระองค์ แล้วนำมุมมองอันทรงคุณค่าเหล่านั้นไปปรับใช้ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่อาจต้องการบุคคลแห่งแรงบันดาลใจ ก็ไม่ต้องไปมองหาไอดอลที่ไหนไกล

“เพราะคุณสมบัติที่ดีของในหลวง ก็มีไม่ต่างจาก “แจ็ค หม่า” (มหาเศรษฐีอันดับ 1 ของประเทศจีน), “อีลอน มัสก์” (นักธุรกิจ ผู้นำทางเทคโนโลยีชื่อดัง) หรือคนระดับโลกเขามีกัน ทีมงานก็แค่มีหน้าที่ดึงจุดนั้นออกมา และทำให้คนอ่านเห็นคุณค่าในการกระทำของพระองค์ ในวิชัน (Vision) ของพระองค์ที่สามารถเปลี่ยนโลกหรือบันดาลใจคนได้เหมือนกัน”

แล้วทำไมต้องปล่อยให้มี “โพสต์สุดท้าย” ถ่ายทอดเรื่องราวของพระองค์ต่อไปเรื่อยๆ ไม่ได้หรือ? ผู้ติดตามหลายๆ คนต่างทิ้งคำถามเอาไว้ด้วยความรู้สึกเสียดาย แต่แทนที่จะตอบคำถามนั้นตรงๆ ตัวตั้งตัวตีของโปรเจกต์นี้ กลับยิงคำถามกลับมาให้ฉุกคิดอีกครั้งหนึ่งว่า “สุดท้ายแล้ว เราจะเรียนรู้ในหลวงไปเพื่ออะไร?”

“เพื่อแค่ซึมซับ เพื่อคิดถึงท่าน หรือเพื่อความประทับใจ? มันก็คงไม่ใช่แค่นั้น เมื่อเรารู้จักพระองค์แล้ว เราก็นำเอาสิ่งดีๆ เหล่านั้นเข้ามาอยู่ในตัวเองสิครับ สานต่อที่ในหลวงทำไว้สิ ไอเดียของเราที่ต้องการจะสื่อสาร มีอยู่เท่านี้เองครับ ที่เหลือ เราก็สามารถอยู่กับท่านได้ทุกวัน ผ่านการกระทำของตัวเอง”

“แค่คิดถึงอย่างเดียว มันไม่มีประโยชน์หรอกค่ะ” เพื่อนในทีมอีกคนช่วยอธิบายเหตุผลเบื้องหลังโพสต์สุดท้าย “ในเมื่อเราได้ทำความรู้จักกันพอสมควรแล้ว ก็ถึงเวลาที่จะเดินหน้าต่อไป และทำประโยชน์เพื่อคนอื่นๆ ต่อไปได้แล้ว เรารู้สึกว่าที่ท่านทำมาทุกอย่าง ท่านไม่ได้อยากทำให้มันเกิดประโยชน์ในวันนี้ แล้วก็จบไป แต่ท่านอยากให้เราทุกคน นำสิ่งที่ท่านทำไว้ ไปสานต่อ ให้มันเกิดขึ้นและอยู่ได้ด้วยตัวเราเอง เราคิดว่านั่นแหละคือสิ่งที่ท่านจะเห็นแล้วมีความสุขที่สุด

“ใช่ครับ คำว่า “สานต่อที่พ่อทำ” ความหมายของมันก็บอกอยู่แล้วว่า ไม่ว่าสุดท้าย ท่านจะอยู่หรือไม่อยู่ แต่สิ่งที่คนไทยจะมีท่านอยู่ในใจได้เสมอ ก็คือการทำในสิ่งที่ท่านทรงทำ เราไม่ได้อยากทำโปรเจกต์นี้ ให้เกิดการระลึกถึงอย่างเดียว แต่สิ่งที่อยากให้เกิดที่สุดก็คือ การ Call For Action ว่าจงทำ ให้เหมือนกับที่ท่านทรงทำ นั่นแหละที่มีความหมายที่สุด


[คนดังทั้ง 9 เจ้าของเสียงเพราะๆ ใน “หนังสือเสียง The Visionary”>>> (คลิก)]
ในหลวงอาจจะสวรรคตไป อาจจะจากเราไป แต่สุดท้ายแล้ว ในหลวงจะอยู่ในทุกการกระทำของเรา ในหลวงจะอยู่ในทุกครั้งที่เราสานต่อในสิ่งที่ท่านทรงทำ พระองค์จะสามารถอยู่ในทุกกิจกรรมของเราได้ สำหรับใครที่ยังโศกเศร้าอยู่ ก็อยากจะบอกว่า ถ้ายังคิดถึงพระองค์ท่าน ขอแค่เพียงสานต่อที่พระองค์ทำ เพียงแค่ทำในสิ่งที่คิดว่าท่านน่าจะทำ เพียงแค่ทำตามแนวทางที่ท่านเคยทำมา เพียงแค่นั้น เราก็จะได้มีท่านอยู่ในใจเราตลอดไป”

เข้าใจแล้วว่า “รูปแว่นตาสีชมพู” บนปกหนังสือเล่มสีน้ำเงินหมายถึงอะไร กลุ่มคนคุณภาพ ผู้อยู่เบื้องหลังการถ่ายทอดพระราชดำริของพระองค์กลุ่มนี้ คงต้องการให้ผู้อ่านได้ลองมองโลกในมุมใหม่ ผ่านกรอบแว่นแห่งวิสัยทัศน์ของ “กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่” อย่างที่ได้ฝากถ้อยคำสื่อสารเอาไว้ ในบทนำของหน้ากระดาษแห่งความทรงจำ

“หลังจากหน้าสุดท้ายของหนังสือเล่มนี้ถูกพลิกปิดลง เราหวังว่าผู้อ่านทุกท่านจะเห็นโลกนี้เปลี่ยนไปในแว่นตาคู่ใหม่ สวมใส่วิสัยทัศน์ แล้วมองออกไปยังอนาคต ซึ่งเราเริ่มทำได้เลย ณ ตอนนี้ โดยไม่ต้องรีรอ









สัมภาษณ์โดย ผู้จัดการ Live
เรื่อง: อิสสริยา อาชวานันทกุล
ภาพ: กัมพล เสนสอน
ขอบคุณภาพ: fb.com/fulfillingfatherslegacy
ดาวน์โหลดหนังสือ "The Visionary": bit.ly/thevisionary-ebook
ฟัง “หนังสือเสียง” ที่คนดังทั้ง 9 บอกเล่าเรื่องราวของพ่อ: bit.ly/thevisionary-audiobook
อ่านเรื่องราว “12 ซีรีส์ ตลอดพระชนม์ชีพ”: bit.ly/untoldK9-12story
กำลังโหลดความคิดเห็น