xs
xsm
sm
md
lg

บอกแล้วว่ามันงง...ปฏิรูปรถเมล์เหลว ยอมพับโครงการ 26ล้านสูญเปล่า!!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เบรกหัวทิ่ม! สั่งพับ “โครงการปฏิรูปจัดระเบียบเส้นทางเดินรถเมล์ใหม่” ด่วน หลังถลุงเงินค่าศึกษาวิจัยนาน 1 เดือน เหยียบ 26 ล้านบาท!! โยนเงินโปะค่าสติกเกอร์-ค่าสีเพื่อปรับโฉมรถเมล์ครึ่งคัน ชาวกรุงค้านแค่ไหนก็ไม่ฟังว่า “ยิ่งปฏิรูป ยิ่งสับสน” ตอนนี้กลับยอมรับ อ้างต้องยอมยุติเพราะไม่ตอบโจทย์ประชาชน...

ไม่ได้ยกเลิก แค่ยุติและปรับเปลี่ยน!!?

ภายหลังจากได้มีการทดลองโครงการปฏิรูปจัดระเบียบเส้นทางเดินรถเมล์ใหม่ทั้งหมด 269 เส้นทาง พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงหมายเลขรถเมล์ เพื่อเตรียมใช้งานจริงในอนาคต จนกลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ของประชาชนส่วนใหญ่ที่ไม่เห็นด้วยกับการปฏิรูปครั้งใหญ่ในรอบหลายปี

เสียงสะท้อนดังกล่าว ส่งมาถึงกรมการขนส่งทางบก ผู้รับผิดชอบโครงการ แนะว่าควรหันมาใส่ใจเรื่องประสิทธิภาพ และการตรงต่อเวลาของการเดินรถเมล์ มากกว่าจะมาเร่งปรับเปลี่ยนเส้นทางและหมายเลขรถเมล์ ล่าสุด กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) และ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ได้ประกาศยุติโครงการฯ แล้ว โดยให้เหตุผลว่าการปฏิรูปครั้งนี้ยังไม่สามารถตอบโจทย์ประชาชนผู้ใช้บริการได้

อธิบดีกรมการขนส่งทางบก สนิท พรหมวงษ์ ได้ออกมายืนยันแล้วว่า การทดสอบเดินรถประจำทาง 8 เส้นทางนำร่องที่ได้เริ่มทดลองระหว่างวันที่ 15 ส.ค. - 15 ก.ย. ตั้งแต่เวลา 6.30 - 18.30 น. ซึ่งได้จัดเก็บอัตราค่าโดยสารเป็นอัตราเดียวกับ ขสมก.นั้น ได้สิ้นสุดการทดลองลงแล้ว โดยชี้แจงว่ายังไม่ได้ยกเลิกการปฏิรูปเส้นทางเดินรถอย่างที่เข้าใจ เพียงแค่ยุติการเก็บข้อมูลเท่านั้น เพราะครบกำหนด 1 เดือนตามขั้นตอนที่วางแผนไว้พอดี

อีกทั้งยังได้แนวทางเพิ่มเติม อาทิ หมายเลขสายประจำรถ จะยกเลิกใช้ตัวอักษรภาษาอังกฤษ อย่างที่ประกาศตั้งแต่แรก แต่จะใช้เพียงตัวเลขเพียงอย่างเดียวเท่านั้น โดยยังอยู่ในระหว่างพิจารณาว่าจะใช้เป็นเลข 2 หลัก หรือ 3 หลักดี

ในส่วนของการเปลี่ยนสีรถประจำทางนั้น ประชาชนไม่ได้กังวลหรือทักท้วงมากนัก เชื่อว่าในอนาคตหากมีการเปลี่ยนแปลงเส้นทางเดินรถ จะไม่กระทบต่อการรับรู้ของประชาชน เพราะมีคณะทำงานที่ได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่าย ช่วยชี้แจงและทำความเข้าใจกับประชาชน พร้อมพัฒนาและยกระดับการให้บริการ เนื่องจากยังมีผู้โดยสารสับสนหมายเลขรถ และเส้นทาง จึงต้องปรับให้เกิดการรับรู้และเข้าใจได้ง่ายขึ้น และจะทำการทดสอบปฏิรูปเส้นทางใหม่อีกครั้งในปี 2562 หรืออีก 2 ปีข้างหน้านี้

ขาดทุนหนัก จนต้องยุติอำนาจ “ขสมก.”

จากเดิมนั้นรถเมล์ในกรุงเทพ จะมีผู้ให้บริการเดินรถหลักและเป็นผู้ดำเนินการเกี่ยวกับการควบคุมดูแลรถเมล์ร่วมบริการทั้งปวง คือ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ ขสมก.

แต่จากมติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2559 ได้กำหนดให้ “ขสมก. ยุติการสัญญากับรถร่วมเอกชน ในปี 2561 และปรับให้ ขสมก.เป็นเพียงผู้ประกอบการเดินรายหนึ่งแข่งกับเอกชนอื่นๆ เท่านั้น โดยที่ กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) จะมาเป็นผู้กำกับดูแลระบบรถเมล์ทั้งปวงแทน ขสมก.”

โดย “กรมการขนส่งทางบก” จะดำเนินตามแผนการ ทั้ง กำหนดเส้นทางใหม่ จัดสรรเส้นทางการเดินรถตามเส้นทางใหม่ กำหนดเงื่อนไขสัญญาเดินรถใหม่ คัดเลือกผู้ประกอบการเดินรถ และออกใบอนุญาตประกอบการขนส่งใหม่

สาเหตุที่กรมการขนส่งทางบก ต้องเข้ามาจัดการดูแลเกี่ยวกับระบบรถเมล์ไทย เพราะต้องการเพิ่มประสิทธิภาพของรถเมล์ไทยให้เทียบเท่าสากล เพราะจากรายงานประจำปี 2558 ของ ขสมก. เผยตัวเลขให้เห็นว่าขาดทุนสะสมอยู่ที่ 100,831,156,582 บาท หรือประมาณ 1 แสนล้านบาท!

ทั้งนี้ รายได้ตลอดปี 2558 ของ ขสมก. คิดเป็น 8,062 ล้านบาท แต่มีค่าใช้จ่าย 12,853 ล้านบาท จึงขาดทุนเป็นจำนวนเงินติดลบ 4,790 ล้านบาท

หากยังจำกันได้ ขสมก. มีแผนที่จะซื้อรถเมล์ใหม่จำนวนกว่า 3,450 คัน มาตั้งแต่ปี 2560-2564 แต่แล้วเกิดปัญหาเกี่ยวกับการนำเข้ารถตั้งแต่ล็อตแรก โดยผู้ที่จะนำรถเข้ามาแจ้งว่ารถที่นำเข้ามาเป็นรถที่ผลิตมาจากประเทศมาเลเซีย พอเอาเข้าจริงๆ กลับเป็นรถที่ผลิตมาจากประเทศจีน จึงทำให้เกิดปัญหาเรื่องของภาษี เพราะหากผลิตมาจากประเทศมาเลเซีย ซึ่งอยู่ในอาเซียนด้วยกันไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า แต่หากเป็นรถที่ผลิตมาจากประเทศจีนนั้นต้องมีการเสียภาษี ตรงนี้นี่เองที่ทำให้คนไทยอย่างเราๆ นั้นยังไม่ได้ยลโฉมและได้ใช้รถเมล์ใหม่กันซักที

ข้อมูลจาก ขสมก. พบว่าตอนนี้สภาพของรถเมล์ที่ถูกใช้งานอยู่นั้นมีสภาพค่อนข้างที่จะเก่ามาก และต้องใช้เงินอีกจำนวนมากในการซื้อรถใหม่มาแทนรถเดิม ซึ่ง ขสมก. มีแผนที่จะปลดระวางรถเดิมทั้งหมดกว่า 2,731 คัน แยกเป็นรถร้อน 1,543 คัน รถแอร์ปรับอากาศ 1,011 คัน และรถเช่าอีก 177 คัน

จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมทุกครั้งที่ใช้บริการรถเมล์ถึงต้องพบกับ รถเสีย แอร์ไม่เย็น เบาะหลุด รถขาดระยะ เป็นต้น

ฮัลโหล! ขบ. ฟังเสียงสังคมหน่อย

แม้ประชาชนส่วนใหญ่จะค้านโครงการปฏิรูปจัดระเบียบเส้นทางเดินรถเมล์ใหม่ และออกมาแสดงคิดเห็นให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้เห็นถึงความต้องการที่แท้จริงของประชาชนผู้ซึ่งเป็นผู้ใช้บริการรถเมล์จริงๆ ว่า ประชาชนส่วนใหญ่นั้นไม่ได้ต้องการให้เปลี่ยนเลขสายรถเมล์ หรือการวางเส้นทางเดินรถใหม่ ขอเพียงพัฒนารถให้มีสภาพพร้อมสำหรับใช้งาน เปลี่ยนเป็นรถแอร์ และรถเมล์แต่ละสายไม่ขาดระยะ เท่านั้นก็เพียงพอสำหรับผู้ใช้บริการแล้ว

“คนเค้าค้านกันทั่วบ้านทั่วเมือง ปากจะฉีกถึงรูหู เคยฟังบ้างมั้ย มาตอนนี้บอกไม่ตอบโจทย์ประชาชน”

“ปัจจุบันนี้กรมการขนส่งทางบกก็ไม่ได้กำกับดูแลสัมปทานรถเมล์ได้ดีกว่า ขสมก. แต่อย่างใด ดูอย่างรถเมล์ชานเมืองหรือรถเมล์ในต่างจังหวัดก็ได้ นอกจากห่วยแล้วยังแพงกว่ารถร่วม ขสมก. ดังนั้นเมื่อกรมการขนส่งทางบกจะรวบอำนาจการออกสัมปทานและกำกับดูแลก็ขอให้ปฏิรูปตนเองด้วย อย่าเช้าชามเย็นชาม ทำให้ดีกว่าที่ตนเคยทำ และทำให้ดีกว่าที่ ขสมก. ทำอยู่ด้วย ไม่ใช่ว่าให้สัมปทานไปแล้วก็ไม่เคยตรวจสอบว่าการให้บริการมีคุณภาพดีหรือไม่”

“การปฏิรูปเส้นทางการเดินรถควรจะเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมตัดสินใจด้วยครับไม่ควรตัดลดเส้นทางเดินรถให้ประชาชนเดือดร้อนและสับสนสมควรจะต้องมีแบบสอบถามความเห็นของประชาชนในแต่ละเขตการเดินรถว่าเห็นด้วยมั๊ยที่จะให้เขตการเดินรถนั้นๆ วิ่งแบบการทดลองหรือไม่”

“26 ล้านอันนี้ ไม่ได้อะไรเลย สับสนเสียเวลา ปชช. เซลฟี่ลงเฟซก็ไม่ได้”

“ ไม่ต้องรออีก 2 ปี เพราะถ้าอีก 2 ปีกลับมายังคิดแบบเดิม-ทำแบบเดิมก็ล้มเหลวอยู่ดี ถ้าตั้งใจพัฒนาจริงๆ ไม่ต้องคิดเปลี่ยนเบอร์/สายรถหรอก การเพิ่มจำนวนรถ เพิ่มสาย+เส้นทาง เพิ่มคุณภาพพขร.และพกส.ให้เนี้ยบกิ๊งไฉไล สุภาพ ขับดี ไม่มีคอรัปชั่นถ้าทำได้นี่ก็เรียกว่าปฏิรูปมากๆแล้วนะ ทำเลยเหอะ”

พร้อมแนะอยากให้ กรมขนส่งทางบก ได้ดูแบบอย่างประเทศเพื่อนบ้านอย่าง ฮานอย ประเทศเวียดนาม ในการนำระบบรถเมล์ด่วนขนส่งมวลชน (Bus Rapid Transit) มาทดลองใช้ทั้งที่ไม่แน่ใจว่าจะได้รับความสนใจจากประชาชนหรือไม่ผ่านไป 9 เดือน จำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นกว่า 20% โดยผู้ใช้บริการที่เพิ่มขึ้นเป็นผู้เที่เคยใช้รถจักรยานยนต์ในการเดินทางแล้วหันมาใช้บริการรถเมล์ด่วนแทน

หรือจะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างญี่ปุ่น หรือเกาหลีใต้ ที่มีการจัดการเกี่ยวกับระบบรถเมล์ได้อย่างดีเยี่ยม มีทั้งป้ายบอกสายรถ ป้ายบอกเวลารถมาชัดเจน ตรงต่อเวลา ไม่เหมือนบ้านเราที่ป่าวประกาศความพร้อมในการจะพัฒนารถเมล์ไทยให้ดีเทียบเท่าต่างประเทศ แต่แค่ป้ายรถเมล์ที่บอกเฉพาะตัวเลข หมึกของตัวเลขแลดูซีด ขาดๆ หายๆ แสดงตัวเลขสายรถเมล์ไม่ชัดเจน บางแห่งเหลือแต่โครงเหล็ก สนิมขึ้น

นี่ยังไม่นับรวมเรื่องความสะอาดบนรถ มารยาทของพนักงานขับรถและพนักงานเก็บตั๋ว แค่นี้ก็เห็นถึงความแตกต่างที่รู้ได้ทันทีว่าโครงการแต่ละโครงการที่รถเมล์ไทยอยากจะพัฒนานั้นจะรุ่ง หรือ ร่วง ....

ขอบคุณภาพ: กรมการขนส่งทางบก, รถเมล์ไทย.คอม



กำลังโหลดความคิดเห็น