xs
xsm
sm
md
lg

นิตยสารยังไม่ตาย! เปิดใจหัวเรือคนใหม่แห่ง a day

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

เอี่ยว-ศิวะภาค เจียรวนาลี บรรณาธิการบริหารคนใหม่แห่งนิตยสาร a day
จากลูกหม้อที่อยู่กับ a day มาเนิ่นนาน ตั้งแต่เป็นสมาชิก a team junior รุ่น 3 กระทั่งเป็นกำลังสำคัญที่อยู่เบื้องหลังนิตยสาร a day และ HUMAN RIDE รวมถึงเป็นแม่ทัพใหญ่ของงาน BIKE FEST วันนี้ "เอี่ยว-ศิวะภาค เจียรวนาลี" ก้าวขึ้นมาเป็นบรรณาธิการบริหารคนใหม่แห่งนิตยสารขวัญใจคนหนุ่มสาว

แม้จะเคว้งๆ หน่อย หลัง "โหน่ง วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์" ผู้ก่อตั้ง a day ตัดสินใจลาจากไปตั้งบริษัทใหม่ เช่นเดียวกับ "ก้อง-ทรงกลด บางยี่ขัน" ที่ลาออกไปแล้ว แต่ยังยอมอยู่ในนามบรรณาธิการที่ปรึกษา ทว่าบก.คนใหม่ในวัย 32 ปีก็พร้อมพิสูจน์ตัวเองด้วยจิตวิญญาณ และความเชื่อมั่นที่ว่าสื่อสิ่งพิมพ์ยังมีพลังในการสื่อสารกับคนยุคนี้ และยังสามารถดึงดูดผู้อ่านได้

"หลังจากพี่โหน่งลาออก เราคุยกันเยอะครับว่าจะไปอย่างไรต่อ อย่างน้องๆ ในทีมก็สับสนกันอยู่แล้ว ถ้าพูดว่าไม่รู้สึกอะไรมันก็ประหลาด สำหรับผม เหตุผลที่ไม่ลาจากไปไหน และรับทำ a day ต่อจากพี่ก้อง ผมคิดว่านิตยสารเล่มนี้มันยังเป็นสิ่งพิมพ์ที่มีพลัง แล้วผมเสียดายพลังตรงนั้น ซึ่งมีทั้งเนื้อหา ความคิดสร้างสรรค์ วิธีการเล่าแบบ a day ที่หาอ่านได้น้อยมาก รวมไปถึงพลังในการสร้างคนรุ่นใหม่ด้วย



บก.รุ่นพี่ (ทรงกลด บางยี่ขัน)-บก.รุ่นน้อง (ศิวะภาค เจียรวนาลี)

ส่วนอีกเหตุผลที่ผมอยู่ต่อก็เพราะทีมงานทุกคน ผมเชื่อว่าทุกคนในทีมอยากทำสิ่งพิมพ์กันอยู่ เช่นเดียวกับผมที่มีความตั้งใจอยากจะทำ a day ให้เป็นนิตยสารที่ดี โดยไม่ทิ้งต้นทุนเดิมที่สั่งสมมาตลอด 17 ปี แม้จะมีคนออกไปบ้าง แต่ทีมงานส่วนใหญ่ยังคงเป็นทีมงานชุดเดิม เพียงหาทีมงานชุดใหม่เข้ามาเสริม ซึ่งล้วนแล้วแต่เคยร่วมงานเรามาทั้งนั้น" บก.บห.หนุ่มแว่นไฟแรงบอก และตอบคำถามที่หลายใครอยากรู้

"a day ในยุคผม หลายคนอาจจะคิดว่าพอไม่มีพี่โหน่ง พี่ก้องแล้ว มันจะเป็นอย่างไรต่อไป สิ่งหนึ่งที่ผมยืนยันได้ก็คือนิตยสารเล่มนี้ต้องอยู่ต่อไป ผมบอกน้องๆ ว่าผมยังอยู่ ผมยังทำ ผมยังเชื่อมั่นอยู่ ซึ่งน้องๆ ก็โอเค และไม่ได้มีดราม่าเหมือนระเบิดลงตู้มหนึ่งแล้วทุกคนร้องไห้เสียใจกันหมด เราค่อยๆ คุยกันมากกว่า และที่สำคัญ ข่าวแย่ๆ มันไม่ได้ทำให้เราปิดเล่มช้าลง เรายังคงทำหน้าที่ต่อไป


อีกอย่าง ผมจะไม่มานั่งเปรียบเทียบว่าผมจะทำสู้พี่โหน่ง พี่ก้องไม่ได้ แต่ในขณะเดียวกันผมก็ไม่ใช่คนที่จะมานั่งคิดว่า รื้อไพ่แล้วฉันจะทำอะไรก็ได้ สิ่งที่ผมทำคือ กลับมานั่งคิดว่าจุดแข็งของเราคืออะไร ต้นทุนที่เรามีคืออะไร สิ่งที่เราควรจะทำต่อคืออะไร มันง่ายมากนะ ถ้าเอากระดาษมาปึกหนึ่งแล้วเขียนอะไรก็ได้ แต่สำหรับผม พื้นที่บนกระดาษ การที่เราจะใส่อะไรลงไปในนั้น มันสะท้อนความคิด และความสนใจของเราไปสู่คนอ่านด้วย




อย่างที่ผ่านมา a day พูดถึงความคิดสร้างสรรค์ แรงบันดาลใจ บุคคลที่น่าสนใจ พอผมมารับช่วงต่อก็ต้องพัฒนาต่อไปโดยไม่หลุดความเป็นตัวตนของ a day ถ้า ณ ตอนนี้ ผมต้องทำทุกอย่างให้มันดีก่อน และผมไม่ได้อยากเปลี่ยนให้เป็นนิตยสารอีกแบบ ผมแค่อยากพูดถึงความคิดสร้างสรรค์เหมือนเดิม แต่คำๆ นี้มันไปจับอะไรได้อีกบ้าง พยายามขยายให้มันกว้างขึ้น ซึ่งถ้ายุคของพี่ก้อง จะพูดถึงสังคม สิ่งแวดล้อม

พอมายุคผมมันมีเรื่องอะไรอีกบ้างล่ะที่ยังไม่ได้แตะ จริงๆ ผมอยากกลับไปเล่นแบบที่เราไม่ค่อยได้เล่น เช่น เอาความกวนตีนบางอย่างจากเล่มแรกๆ มานำเสนอในมุมใหม่ๆ ซึ่งผมให้น้องๆ ในทีมกลับไปอ่าน a day โดยส่วนใหญ่ก็เห็นตรงกัน ส่วนตัวผมชื่นชมพี่ๆ ทุกคน เพราะทำนิตยสารให้มันขายดี มันทำได้ แต่พี่ๆ เขาทำให้เป็นนิตยสารที่มีพลัง สร้างคนรุ่นใหม่ มันมากกว่าขายดี อย่างพี่ก้องก็เห็นมาตลอดว่าทำอะไรมาบ้าง"

อย่างไรก็ดี บก.หนุ่มไฟแรง ยังบอกต่อไปว่า สื่อสิ่งพิมพ์มีพลังในการสื่อสารกับคนยุคนี้ และยังสามารถดึงดูดผู้อ่านได้ แต่อาจจะไม่ใช่ในแง่การเป็นผู้มอบข่าวสาร แต่เป็นผู้สร้างเนื้อหา คัดสรรเรื่องราวที่น่าสนใจจากทั่วโลก ทุกวันนี้ a dayไม่ได้แข่งกันที่ความเร็วอย่างเดียว แต่แข่งกันที่ความน่าเชื่อถือของเนื้อหา และความสนุกในการเล่าเรื่อง รวมถึงรูปแบบการนำเสนอที่เข้ากับคนอ่านรุ่นใหม่

ดังนั้น นิตยสารอะเดย์ฉบับที่ 201 ซึ่ง "เอี่ยว" ทำหน้าที่ บก.บห.อย่างเต็มตัวคือสิ่งที่คนอ่านอยากเห็น

"เป็บฉบับแว่นที่ผมเข้ามาดูเต็มตัวครับ ซึ่งเป็นธีมเล่มที่ผมอยากเริ่มจากเรื่องใกล้ตัว อย่างแว่นตา เป็นอุปกรณ์ที่อยู่กับชีวิตเราหลายๆ คน แต่เราไม่ค่อยรู้เรื่องมันเท่าไร กว่าจะผลิตแว่นออกมา 1 ชิ้น มันไม่ใช่แค่ทำให้มันเป็นอุปกรณ์ช่วยมองเห็น แต่มันเป็นเรื่องของตัวตน บุคลิก




เช่นเดียวกับทิศทางของ a day ในอนาคต ผมมีอยู่เรื่องหนึ่งที่ผมรู้สึกว่า ถ้าทำได้ก็จะดี ผมอยากให้นิตยสารเล่มนี้ เป็นเหมือนแว่นใหม่ที่เราใส่ และเห็นโลกได้ชัดขึ้น มันไม่ได้แปลว่าเราทำหนังสือฉลาดนะ แต่ทุกวันนี้เราอยู่ในโลกที่มันเปลี่ยนแปลง และหมุนเร็วมาก มันคงจะดีถ้าเกิดว่านิตยสารมันไม่ได้แสดงพลังแค่การเล่าเรื่องอย่างเดียว แต่มันทำให้คนอ่านได้คิดวิเคราะห์ ได้รู้โลกชัดขึ้น"

a day ลมหายใจที่ไม่หยุดนิ่ง


ท่ามกลางมรสุมเศรษฐกิจที่กำลังคุกคาม "ธุรกิจสิ่งพิมพ์" บวกกับการเติบโตของโซเชียลเน็คเวิร์ค และสื่อดิจิทัลที่กำลังเข้ามาแทนที่เรื่อยๆ ทำให้พฤติกรรมเสพสื่อผู้บริโภคเปลี่ยนไป สั่นสะเทือนถึงนิตยสารหลายเล่มต้องเข้าสู่อาการ "อ่วมอรทัย" และปิดตัวลงไปอย่างน่าใจหาย แม้มีการรัดเข็มขัดแน่นหนา แต่ก็ยังต้องเผชิญกับการขาดทุนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในขณะที่บางเล่มก็ต้องปรับตัวครั้งยิ่งใหญ่


"แรกๆ เราก็คิดคล้ายๆ คนอื่นว่ามันน่ากลัว" บก.หนุ่มไฟแรงบอก "แต่เราก็ไม่ได้กลัวจนเกินจริง แค่รับทราบสถานการณ์สื่อสิ่งพิมพ์ที่มันเกิดขึ้น ส่วนตัวผมมองว่ามันมีองค์ประกอบหลายอย่าง ทั้งการตลาด โครงสร้างบริษัท พฤติกรรมคนอ่าน รวมถึงช่องทางการจัดจำหน่าย แต่ถ้ามาดูของ a day สิ่งที่เป็นจุดแข็งคือวิธีการเล่าเรื่องในแบบของเรา



ภาพบรรยากาศในงาน #aday200 The Magazine Exhibition

อย่างลูกค้าที่คนชอบมองว่า ถ้าไม่มีโฆษณามาลงก็อาจจะอยู่ยาก จริงๆ แล้วลูกค้าที่มาลงโฆษณากับเรา เขาไม่ได้ซื้อพื้นที่ เขาซื้อวิธีการเล่าแบบเรา แล้วเอาวิธีการเล่านั้นไปอยู่ในช่องทางของเขา พอเราชัดเจนว่า โอเค เราจะเล่าประเด็นนี้ด้วยแนวคิดแบบนี้ ลูกค้าหลายคนก็สนใจ และชอบ ทุกวันนี้ก็มีหลายองค์กรที่เข้ามาหาเรา

ด้วยจุดแข็งนี้ มันเลยทำให้ a day ยังมั่นคงอยู่ แม้บางเจ้าจะหายไปจากเล่มพิมพ์ แต่ก็ไปลงในออนไลน์แทน ซึ่งโฆษณาไม่ได้หนีไปไหน แค่เปลี่ยนรูปแบบในการลง หรือบางทีโฆษณาก็ไปอยู่ในรูปแบบของโปรเจกต์ ซึ่งมันไม่แน่นอน เราไม่ได้เน้นแค่อีเวนต์อย่างเดียว มันมีหลายๆ อย่างที่เราทำร่วมกันได้ ทุกวันนี้ที่เราอยู่ได้ เพราะเราชัดเจนว่าถนัดอะไร คนมาหาเราเพราะอะไร ถ้าเกิดเราไม่ชัด ลูกค้าก็ไม่เก็ต


ทุกวันนี้เรามีรูปแบบออนไลน์แล้ว ถ้าเกิดว่าเรายังไม่มีออนไลน์ ก็คงต้องหาวิธีการเพิ่มช่องทาง ดังนั้นเราจึงเน้นไปที่อะไรใหม่ๆ มากกว่า เช่น ถ้าไอจีมีฟังก์ชั่นใหม่ๆ เราก็ควรจะลองนะ หรืออย่าง a day 200 เราทำในสิ่งที่ฉีกขนบของนิตยสารทั่วไป โดยเปลี่ยนจากการทำเนื้อหาบนกระดาษมาทำเป็นนิทรรศการขนาดย่อมจัดแสดงในหลายสถานที่ เนื้อหาจะพูดถึงเบื้องหลังการทำ a day ตลอด 200 ฉบับที่ผ่านมาเพื่อฉลองก้าวสู่ปีที่ 17 นอกจากนี้ยังจัดพิมพ์เป็นฉบับพิเศษที่ไม่มีวางขาย แต่พิมพ์เป็นที่ระลึกให้สมาชิกรายปี และให้ผู้อ่านที่ร่วมกิจกรรมกับนิทรรศการเท่านั้น"



ภาพบรรยากาศในงาน #aday200 The Magazine Exhibition

จริงหรือ..หนังสือกำลังจะตาย?

อย่างไรก็ดี แม้หลายคนจะมองว่า "อี-บุ๊ก" หรือ "อี-แมกกาซีน" ขึ้นมาเป็นตัวแทนสื่อรุ่นใหม่ แต่สำหรับเขากลับมองต่างออกไป


"ถ้าเกิดเรามองไกลขึ้น เทรนด์ของหนังสือเล่มมันเริ่มตีกลับมาแรงกว่าอีบุ๊กนะ อย่างร้านหนังสืออิสระในต่างประเทศก็จัดกิจกรรมกระตุ้นยอดขาย ตัววงการเองก็มีผู้เล่นหน้าใหม่ๆ หนังสือเล่มใหม่ๆ มากขึ้น บวกกับพฤติกรรมคนอ่านที่เริ่มอยากกลับมาหาหนังสือเล่ม ซึ่งมันมีคำศัพท์คำหนึ่งที่อธิบายในวงการว่า Digital Fatigue มันคืออาการอ่อนล้าที่เกิดจากการเสพสื่อออนไลน์ผ่านแท็บเล็ต ซึ่งวันหนึ่งคนกลุ่มนี้จะรู้สึกว่าฉันอยากวางมันลง


ในขณะเดียวกันมันก็ไม่ถึงขั้นที่ว่า สิ่งพิมพ์มันจะกลับมาชนะอีบุ๊ก ต้องดูกันอีกยาว แต่สิ่งที่เป็นต้นทุนที่สำคัญมากของการทำสิ่งพิมพ์คือการแย่งเวลาคนอ่าน เพราะทุกวันนี้คนเรามีอะไรให้ทำมากขึ้น เพราะฉะนั้น คนทำนิตยสารมันเหมือนต้องทำเพื่อไปแย่งเวลาคนอ่าน ซึ่งมีผลวิจัยชิ้นหนึ่ง พบว่า คนช่วงวัยทำงานจะซื้อหนังสือลดน้อยลง เพราะต้องทำงาน มีครอบครัว มีภาระมากขึ้น ส่วนคนที่มีเวลาอ่านหนังสือมากที่สุดคือ คนสูงวัย ประเด็นก็คือว่า ถ้าอยากให้คนกลับมาอ่านหนังสือ ควรจะกลับไปมองเด็กประถม มัธยมฯ เพราะค่อนข้างมีกำลังซื้อ และยังไม่ถูกแย่งเวลาไปมากนัก



ภาพบรรยากาศในงาน #aday200 The Magazine Exhibition

สุดท้ายกับประโยคที่ว่านิตยสารกำลังจะตายนั้น "ต้องดูด้วยว่าใครพูด" เขาเอ่ยขึ้น "ถ้าเกิดเป็นผู้อ่านพูดก็...ผมว่า สุดท้ายแล้วสิ่งพิมพ์มันไม่ใช่แค่กระดาษนะ แต่มันคือพฤติกรรมของคน สังเกตมั้ยครับว่า เวลาที่เราอ่านอะไรก็ตามมันจะมีรูปแบบหนังสือติดมาด้วย

ดังนั้น ถ้าพูดว่าสิ่งพิมพ์กำลังจะตาย มันไม่ใช่ แต่มันกำลังเปลี่ยนอ่ะ ใช่ จริงอยู่ที่เด็ก หรือผู้อ่านรุ่นใหม่จะชินกับการอ่านในรูปแบบของสื่อออนไลน์ แต่ก็เป็นไปได้เหมือนกันว่าพวกเขาจะกลับมาตื่นเต้นกับหนังสือ เหมือนคนยุคนี้เจอเทป ไม่รู้ว่าจะเล่นยังไงแต่ก็ตื่นเต้นกับมันมาก หนังสือกับคนยุคใหม่ก็เช่นกัน"





มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!


และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754



กำลังโหลดความคิดเห็น