ละลานตาเต็มไปหมดสำหรับสาวสวยชุดกาวน์ทั่วสารทิศที่ถูกรวบรวมไว้ใน 'Facebook คุณหมอน่ารัก' (https://www.facebook.com/Dr.CuteClub) แฟนเพจ(ว่าที่)คุณหมอทุกแขนงที่คัดมาแล้วว่าพวกเธอเหล่านี้ นอกจากสวยแล้วยังเก่งอีกต่างหาก งานนี้มองผ่านๆ เสียไม่ได้ ทีมข่าว M-lite จึงรีบประชิดตัว 'คุณหมอน่ารัก' เชื้อเชิญมาพูดคุยสักเล็กน้อย
1.3 หมื่นกว่าคน กระแทกไลค์ให้กับภาพคุณหมอน่ารัก สาวหมวยผู้เป็นเจ้าของใบหน้าจิ้มลิ้มพริ้มเพรา 'พีช-ณัฏฐา วิทยาปรีชาพล' ว่าที่คุณหมอจากรั้วศิริราชพยาบาล (ขณะนี้กำลังศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล)
ก็ไม่รู้ว่าคนไข้เจอคุณหมอทั้งสวยทั้งเก่งขนาดนี้..จะหายเร็วขึ้น หรือกลับกลายเป็นแสร้งป่วยหนักเพื่อให้คุณหมอดูแลอย่างใกล้ชิดก็ไม่รู้!?
M-lite ขอเชิญท่านผู้อ่าน มาทำความรู้จักหนึ่งในหญิงสาวชุดกาวน์ จาก 'Fanpage คุณหมอน่ารัก' ที่กำลังสั่งสมประสบการณ์เติบโตมาเป็น 'หมอของแผ่นดิน'
ก่อนจะเป็น (ว่าที่)คุณหมอพีช
ตอนเด็กๆ หากาวว์กถามว่าโตขึ้นอยากเป็นอะไร แน่นอนอาชีพยอดฮิตต้องมีหมอติดเป็นอันดับต้นๆ เลยทีเดียว แต่สำหรับคำตอบของว่าที่คุณหมอพีช ตอบด้วยน้ำเสียงสดใจว่าตอนเด็กอยากเป็นคุณครู เพิ่งจะมามีความคิดอยากเป็นคุณหมอรักษาคนไข้ก็ช่วงมัธยมฯ
พีช เล่าถึงจุดเริ่มต้นที่ทำให้เลือกเรียนหมอ ข้อแรกเป็นเพราะคุณพ่อไม่สบายจึงเป็นแรงผลักดันที่สำคัญของสาวหมวย เพราะอย่างน้อยวิชาชีพนี้ก็สามารถดูแลคนในครอบครัวตัวเองได้ ข้อสองด้วยความที่ตอนเด็กๆ เธอป่วยเป็นลมพิษเรื้อรังโดยที่คุณหมอเองก็หาสาเหตุไม่ได้ จึงรู้สึกว่าถ้าเป็นหมอได้ช่วยคนไข้ก็คงดี และข้อที่สามอาชีพหมอนั้นสามารถช่วยรักษาคนไข้ให้หายจากอาการเจ็บป่วยได้
แต่การตัดสินใจในช่วงแรก พีช ยังรู้สึกลังเลอยู่ไม่น้อย เรื่องของเรื่องคือวิชาชีพแพทย์นั้นมีอยู่หลายแขนง บวกกับช่วงที่ต้องตัดสินใจสนใจทางด้านทันตแพทย์ศาสตร์
“พอโตขึ้นก็อยากเป็น ทันตแพทย์ แล้วก็โค้งสุดท้ายตอน ม.ปลาย สุดท้ายก็เลือกเรียนหมอ ตอนแรกลังเลมากนะคะ แต่คิดว่าหมอเรารักษาคนไข้ ได้รักษาคนป่วย อย่างน้อยก็ดูแลคนในครอบครัวได้”
ทีนี้พอถึงช่วงที่ต้องเลือกเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย 4 อันดับ เลือกแพทย์ 2 อันดับแรก และทันตะฯ ในลำดับถัดมา พีช บอกว่า 4 อันดับที่เลือกไปไม่ว่าจะติดอันดับไหนก็รู้สึกดีใจทั้งนั้น
“ถ้าเรามีความสามารถพอก็คงได้เรียนหมอ สุดท้ายก็ได้เรียนหมอ (ยิ้ม)” เป็นไปตามคาด พีช ติดในอันดับ 1 คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
รักเรียน รักดี มีชัยไปกว่าครึ่ง
“ไม่ได้เป็นคนเรียนเก่งนะ เรียนแบบกลางๆ” สาวหมวยรีบออกตัวในเรื่องการเรียน
พีช เล่าว่า จริงๆ ในเรื่องเรียนได้รับอิทธิพลมาจากพี่ชายด้วย เพราะว่าช่วง ม.ต้น คุณแม่หาครูพิเศษมาสอนพี่ชาย ก็เลยทำให้ตัวเองได้เรียนไปด้วยกัน
“พี่ชายโตกว่าปีนึงค่ะ คุณแม่หาอาจารย์มาสอนพิเศษให้ ก็เลยได้เรียนพิเศษไปกับพี่ชาย เรียนมาตั้งแต่ ม.ต้น ช่วงนั้นรู้สึกหัวไบร์ท กำลังเด็กๆ อยู่ จำอะไรก็ได้ รู้สึกว่าตอน ม. ต้น ตั้งใจเรียนขึ้น เพราะพี่ชายก็คอยมาพูดว่า ม.ต้น ยากกว่าตอนประถมฯ นะ ก็เลยตั้งใจเรียนขึ้นมา แล้วได้ไปเรียนพิเศษด้วย”
คราวนี้ก็เลยเริ่มใส่ใจเรื่องเรียนมากขึ้นๆ หัวเลี้ยวหัวต่อก่อนขึ้น ม.ปลาย เป็นจุดเปลี่ยนของเธอเลยก็ว่าได้ จากคุณหนูโรงเรียนเอกชนหญิงล้วนชื่อดัง ต้องย้ายมาอยู่ในรั้วโรงเรียนรัฐบาลระดับหัวกะทิ
“ตอนแรกอยู่ อัสสัมชัญคอนแวนต์ แต่เพื่อนชวนมาสอบ เตรียมอุดม เราก็โอเคไปสอบเป็นเพื่อนก็ได้ไปสอบด้วยกัน พอสอบเราก็เริ่มพยายามฟิตตัวเอง ก็ติดคะ ดีใจ (ยิ้ม)”
ทีมงานฯ ถามว่าความรู้สึกในรั้วโรงเรียนรัฐบาล และโรงเรียนเอกชนต่างกันหรือเปล่า พีช เล่าถึงการปรับตัวเมื่อครั้งย้ายโรงเรียนด้วยน้ำเสียงสดใส
“เอกชนห้องเรียนติดแอร์ทุกห้อง และไม่ค่อยเจอแดดด้วย พอมาอยู่รัฐบาลปุ๊บ โห..ร้อนมาก ไม่ไหวแล้ว! สุดท้ายยกพัดลมมาที่โรงเรียน แต่สุดท้ายพอชิน เราปรับตัวได้ มันก็อยู่ได้นะคะ”
ชีวิตก่อนเข้าสู่ชีวิตนักศึกษาแพทย์ พีช บอกว่าช่วง ม.ปลาย นอกจากเรียนในห้องเรียนแล้วยังมีเรียนพิเศษ กลายๆ ว่าเป็นกิจวัตรประจำที่ขาดเสียไม่ได้
“เรียนพิเศษแรกๆ ไปกับเพื่อนบ้าง หลังๆ ไปคนเดียวบ้าง เหมือนกับเป็นชีวิตประจำวันอยู่แล้ว เออ! วันนี้เลิกเรียนแล้วจะไปเรียนวิชาไหนดี แต่ไม่ได้เรียนทุกวันนะคะ ส่วนมากจะเก็บวันอาทิตย์ไว้เป็นวันครอบครัว คือตอน ม.ต้นเรียนเฉพาะวันจันทร์-ศุกร์ แต่ขึ้น ม.ปลาย บางทีไม่มีคลาสจัทนร์-ศุกร์ ก็ต้องลงวันเสาร์บ้าง”
จะว่าไปชีวิตนักเรียนไทยทำไมต้องเรียนพิเศษมากมายขนาดนี้ พีช บอกถึงจุดเริ่มต้นในการไปเรียนพิเศษ
“จริงๆ ตอนแรก เริ่มจาก ม.ต้น เพื่อนไม่มีคนเรียนด้วยก็ชวนไปเรียนด้วยกันเถอะ ก็เรียนๆๆ แล้วตอนหลังกลับกลายเป็นว่าเราไปเรียนเอง อาจารย์คนนี้ก็อยากเรียน อยากรู้ว่าเค้าจะสอนดีมั้ย หลังๆ ก็ไปลงเองไปเรียนคนเดียว”
ในมุมมองของเธอ การเรียนในห้องเรียนนั้นเพียงพอที่จะสอบผ่านในโรงเรียน แต่หากคิดจะสอบแข่งขันน่าจะเรียนเพิ่มเติม เพราะการเรียนพิเศษจะให้ความรู้ในขั้นแอดวานซ์มากกว่าในชั้นเรียกปกติ
จากศาลายา..ถึงศิริราช
ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจในที่สุดก็เข้ามาเป็น นักศึกษาแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
นศ.แพทย์ ชั้นปีที่ 3 เล่าย้อนถึงบรรยากาศตอนปี 1 เมื่อครั้งเปลี่ยนผ่านจากรั้วโรงเรียนเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยแพทย์ชื่อดังของประเทศไทย เป็นที่รู้กันว่าแพทย์ใช้เวลาเรียนราวๆ 6 ปี สำหรับที่นี่
แรกเริ่มเข้ามาเรียน นศ.แพทย์ ชั้นปี 1 ทุกคนต้องไปใช้ชีวิตอยู่ที่ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายา พีช เล่าว่านอกจากสถานที่จะบรรยากาศร่มรื่น การไปอยู่หอร่วมกับเพื่อนๆ ทำให้จากคนแปลกหน้าค่อยๆ คุ้นเคยกลายเป็นเพื่อนสนิทกันได้ไม่ยาก ช่วงปีแรกนั้นกิจกรรมจะเยอะหน่อยแต่เรื่องการเรียนยังไม่หนักมาก
ส่วนในเรื่องสายสัมพันธ์ระหว่างรุ่นพี่รุ่นน้อง จัดว่าเหนียวแน่นไม่แพ้สถาบันใดเลย พีช เล่าขึ้น
“ที่ศิริราชเพทย์มีความเป็นซีเนียร์ริตี้สูงมาก เรามีปัญหาอะไรสามารถปรึกษาพี่ได้ ตอนปี 1 มีกิจกรรมตลอดเวลา เปิดเทอมๆ แรก พี่พาไปเลี้ยงข้าวทุกเย็น เดี๋ยวพี่ปี 2 ปี 3 ปี 4 ปี 5 ปี 6 พี่จบไปแล้ว ปีบัณฑิต ก็จะนัดเลี้ยงบ่อยๆ เจอรุ่นพี่บ่อยๆ ก็ปรึกษาได้หลายเรื่อง แต่ตอนแรกอาจจะคุยกับรุ่นพี่ไม่รู้เรื่องเท่าไหร่เพราะพี่จะใช้ศัพท์แพทย์ อึ้ง.. (ยิ้ม)”
ก่อนจะมาเข้ามเป็น นศ.เพทย์ ศิริราชฯ เต็มตัว ทุกคนต้องผ่านประเพณีรับน้องข้ามฟากก่อน ซึ่งจะจัดขึ้นในช่วง นศ.แพทย์ ชั้นปีที่ 1 กำลังจะก้าวสู่ ชั้นปีที่ 2 และย้ายจากวิทยาเขตศาลายเข้ามาศึกษายังอาณาเขตศิริราชพยาบาล
ประเพณีรับน้องข้ามฟาก เป็นประเพณีหนึ่งที่หล่อหลอมความเป็นหนึ่งเดียวกันของชาวศิริราช ภายใต้ปฏิญญาสัญญาใจของพี่น้องชาวแพทย์ศิริราชทุกคนทราบกันดีว่า ..เมื่อขึ้นท่า เจ้ากับข้าพี่น้องกัน..
สัญลักษณ์สำคัญของประเพณีนี้ คือ รุ่นพี่ นศ.แพทย์ จะมารอรับน้องที่โดยสารเรือข้ามฟากจากท่าน้ำมหาราช มาขึ้นที่ท่าน้ำศิริราช และทั้งอาจารย์แพทย์ รวมถึงรุ่นพี่ก็จะจับมือนักศึกษาแพทย์น้องใหม่และจูงขึ้นท่า ถือว่ารุ่นพี่รับรุ่นน้องเป็นน้อง และถือเป็นสัญญาใจจะดูแลกันจนเรียนจบ
พีช บอกว่า ทุกคนต้องเข้าร่วมประเพณีรับน้องข้ามฟาก ถึงจะเป็นเป็นลูกศิริราชเต็มตัว
“สิ่งแรกที่หนูได้จากการไปรับน้องข้ามฟาก เราเป็นหมอต้องอดทน อด..คือไม่ได้ในสิ่งที่เราอยากได้ ทน..คือได้ในสิ่งที่เราไม่อยากได้ คือจริงๆ เป็นแพทย์อาจไม่ได้นอนเราก็งอแงไม่ได้ จะทำยังไงได้ แค่เรารับน้องข้ามฟากไม่ได้นอนคืนนึงเราทำได้มั้ย? อยู่เวรถึงเช้าเราทำได้หรือเปล่า? เราต้องอดทนๆ ต้องรักษาชีวิตคนไข้ทำได้หรือเปล่า?”
เปลือยใจ นศ.แพทย์
เปิดเทอมทีไร จะมีข่าวคราวการรับน้องที่ไม่เหมาะสมจะปรากฎให้เกิดกระแสวิพากษ์กันเป็นระยะ แต่ไม่ใช่รั้วมหิดลอย่างแน่นอน พีช แสดงความคิดเห็นกรณีการรับน้องที่ไม่เหมาะไม่ควร
“ที่ศิริราช หนูรู้สึกว่าพี่ทุกคนก็รักเรา พี่ทุกคนก็ทำด้วยความรัก รับน้องหนูรู้สึกว่าถ้าทำแล้วทรมานรน้องทำไปเพื่ออะไร มันต้องมีเหตุผล พี่ต้องชี้แจงให้เราฟังทำไมต้องทรมานในเรื่องที่มันไม่ควร”
แม้จะเป็นคนใส่ใจในเรื่องการเรียนมากๆ ใช่ว่าในเรื่องกิจกรรมสาวหมวยผู้นี้จะเมินใส่ เพราะที่ผ่านมาไล่เลี่ยงมาตั้งแต่ช่วงมัธยมจนถึงมหาลัยฯ เธอก็ทำกิจกรรมมาตลอด เพียงแต่ว่าถ้าช่วงเวลาไหนใกล้สอบก็จะเฟดตัวออกมา อาทิ เชียร์ลีดเดอร์ สตาฟงานคณะ ฯลฯ
ทีมงานฯ ถามว่าประเพณีรับน้องที่หลายมหาวิทยาลัยถือปฏิบัติกันนั้นสำคัญหรือเปล่า พีช ตอบขึ้น
“สำคัญนะคะ เหมือนอย่างเรามีปัญหาบางครั้งปรึกษาเพื่อน เพื่อนก็ไม่แน่ใจ อย่างน้อยเราก็ยังมีรุ่นพี่ กิจกรรมรับน้องทำให้เพื่อนๆ รู้จักกันมากขึ้น”
ว่าที่คุณหมอเปลือยความรู้สึกแบบไม่หมกเม็ด พีช เปิดเผยว่ารู้สึกประหม่ากับวิชาชีพแพทย์อยู่ไม่น้อย ก็ความที่เกี่ยวเนื่องกับความเป็นความตายของคนไข้ ว่าคุณหมอมือใหม่ทั้งหลายจะไม่รู้สึกกังวลได้อย่างไรกัน
ก่อนจะรักษาคนไข้จริงๆ นศ.แพทย์ต้องร่ำเรียนกันกว่า 6 ปี ทุกคนต้องเรียนรู้จาก 'อาจารย์ใหญ่' ร่างไร้วิญญาณอันเป็นกุศลที่อุทิศให้ นศ.แพทย์ ได้ศึกษาเพื่อนำไปปรับใช้ในการรักษาคนไข้จริงในอนาคต
“ประหม่าค่ะ เด็กตัวเล็กๆ คนนึงจะไปรักษาคนไข้ได้ยังไง เห้ย! จะทำได้หรือเปล่า อย่างตอนเปิดร่างอาจารย์ใหญ่ครั้งแรก นศ.แพทย์ทุกคนก็ตื่นเต้น ไม่รู้จะทำอะไรก่อน ทำอะไรไม่ค่อยถูกแต่ก็แอคทีฟ อาจารย์ใหญ่เค้าอุตสาห์อุทิศร่างให้เรา เราจะทำได้มั้ย ถ้าเราหาเส้นประสาทไม่เจอ หาตกไปเส้นนึงจะทำอย่างไร บางทีก็เครียดบ้าง ก็ท้อบ้างแต่ก็ฮึดสู้ พยายามอีกหน่อย อดทน..พยายามอีกนิดนึง สุดท้ายมันก็ผ่านไปได้” ว่าที่คุณหมอ คลี่ยิ้มหลังสิ้นเสียง
ครอบครัวไม่ได้เลี้ยงให้เป็น 'คุณหนู'
พีช เล่าว่าทางบ้านทำธุรกิจด้านท่องเที่ยวไม่มีความข้อเกี่ยววิชาชีพแพทย์เลย แต่การที่ลูกสาวตัดสินใจเรียนแพทย์ทางครอบครัวก็ไม่มีขัดข้องแต่อย่างใด ทั้งเก่งทั้งน่ารักอย่างนี้คุณพ่อคุณแม่ย่อมภูมิใจแน่นอน
“ก็ภูมิใจค่ะ อย่างน้อยก็ดูแลสุขภาพครอบครัวได้ แต่เค้าจะบอกเสมอว่าอย่าลืมดูแลสุขภาพตัวเองด้วยนะ”
ครอบครัววิทยาปรีชาพล เลี้ยงดูลูกๆ แบบอิสระ สอนให้คิดให้ทำด้วยตัวเองเพราะเชื่อมั่นในตัวพวกเขา
พีช เล่าว่า ทางบ้านจะสอนให้รู้จักดูแลตัวเอง แต่พวกท่านจะคอยดูแลอยู่ใกล้ๆ ประมาณว่าเราอยากทำอะไรก็สามารถทำได้ เพราะเรารู้ลิมิตตัวเองว่าทำได้แค่ไหน
เธอตั้งใจว่าความรู้ความสามารถที่ร่ำเรียนมาจะนำมาช่วยเหลือคนไข้ ที่สำคัญตั้งใจว่าความรู้ในวิชาชีพจะนำมาช่วยเหลือครอบครัวได้หากสมาชิกในครอบครัวเจ็บไข้ได้ป่วย
อย่างที่ทราบกันว่า นักศึกษาแพทย์เรียน 6 ปี จบมาใช้ทุนอีก 3 ปี สำหรับพีชบอกว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของอนาคตยังไม่ได้ตัดสินใจ ตอนนี้ขอใช้เวลากอบโกยความรู้ร่ำเรียนให้เต็มที่ก่อนจะไปรักษาคนไข้จริงๆ
แน่นอนมีหมอจบใหม่จำนวนไม่น้อยที่เรียงไม่ทำงานใช้ทุนของรัฐฯ แต่เลือกที่จะจ่ายเพื่อนให้ตนหลุดออกจากภาระตรงนี้ พีช แสดงความคิดเห็นต่อเรื่องดังกล่าว เรื่องนี้เป็นสิทธิส่วนบุคคล แต่ละคนก็คิดต่างกัน บางคนอาจคิดว่าเรียนต่อเฉพาะทางให้จบไปทีเดียวแล้วออกมาทำประโยชน์ให้ประเทศชาติดีกว่าไหม
เรื่องของหัวใจดูจะเป็นประเด็นรองลงมาที่เธอให้ความสำคัญ เพราะเรียนหมอนั้นเรียนหนักยังให้ความสนใจเรื่องเรียนมากกว่า ณ เวลานี้ขอแค่คนที่เข้าใจรับฟังก็พอ
เพจคุณหมอน่ารัก 'Like' ถล่มทลาย
ถึงประสบการณ์ในวิชาชีพแพทย์ยังน้อย แต่ก็เชื่อมั่นว่าว่าที่คุณหมอผู้นี้กำลังสั่งสมประสบการณ์ในชั้นเรียนเพื่อนำมาปรับใช้ในสนามชีวิตอย่างแน่นอน พีช พูดขึ้นประโยคหนึ่ง “หนูเป็นแค่นักศึกษาแพทย์เอง”
เธอ เปิดใจว่าเป็นสิ่งที่รู้สึกทุกครั้งเมื่อมีใครมาเรียกว่า หมอ ทั้งๆ ที่ความจริงยังเป็นเพียง นักศึกษาแพทย์ ชั้นปีที่ 3 กว่าจะเรียนจบได้เป็นหมอเต็มตัวยังต้องใช้เวลาอีกหลายปี
“เรายังไมได้มีความรู้จะไปรักษาคนขนาดนั้นเลย อย่างที่โรงพยาบาล แม่บ้านก็จะเรียก..คุณหมอ หนูยังเป็นแค่นักศึกษาแพทย์เอง แต่ตรงนี้เหมือนเป็นการผลักดันเหมือนกันนะคะ เค้าเรียกเราคุณหมอแล้ว เราต้องตั้งใจเรียนให้มากกว่านี้”
ทีมงานฯ ถามสาวหมวยว่าคุณหมอที่ดีในความคิดของเธอเป็นอย่างไร เจ้าของเรียวปากชมพูระเรื่อ ตอบขึ้น
“ต้องเข้าใจคนไข้ ไม่ใช่แบบมาแค่รักษาอาการแค่นั้นจบ มันต้องถามสารทุกข์สุกดิบ บางทีอาการทางกาย ไม่ดีขึ้นอาจจะเป็นเรื่องทางใจก็ได้ การที่เรายื่นมือเข้าไปช่วยมันก็จะดีขึ้น คือต้องใช้เวลากับคนไข้ หนูรู้สึกว่าเราไม่ได้คุยแค่อาการทางกาย เราต้องคุยอาการทางใจด้วย” ว่าที่คุณหมอยิ้มให้ทีมงานฯ พลางพูดเสริมว่าตนก็จะเป็นหมอที่ดีในแบบที่คิดเอาไว้ให้ได้
พีช เป็นหนึ่งในสาวสวยที่มีภาพปรากฏใน Facebook คุณหมอน่ารัก แฟนเพจที่รวบรวมคุณหมอผู้หญิงบุคลิกหน้าตาดี นักศึกษาแพทย์น่ารักจิ้มลิ้มจากทุกสถาบัน เธอเปิดใจ รู้สึกตกใจที่ภาพของตัวเองไปอยู่ในเพจนี้
“ตอนแรกไม่ได้เข้าไปดูเลยแต่มีเพื่อนกดไลค์ เห้ย! นี่มันรูปฉันนี่ หนูก็งงๆ (หัวเราะ) เขินๆ”
….......................
ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LITE
ภาพโดย วารี น้อยใหญ่
ขอบคุณภาพประกอบ Peach Vittayaprechapon
ขอบคุณที่เอื้อเฟื้อสถานที่ ร้าน treecreeper
ประวัติส่วนตัว
ชื่อ-สกุล : ณัฏฐา วิทยาปรีชาพล ชื่อเล่น : พีช
วันเดือนปีเกิด : 13 พฤศจิกายน 2535
การศึกษา : ปริญญาตรี - กำลังศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
มัธยมปลาย - โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา
มัธยมต้น - โรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์
งานอดิเรก : อ่านหนังสือ, ดูมิวสิควีดีโอ, ดูหนังฟังเพลง, ไปเที่ยวกับครอบครัว
รางวัลที่ได้รับ : ตำแหน่งสวยสุดศาลายา มหาวิทยาลัยมหิดล