เมื่อเราต้องอยู่เพื่อตาย...ทุกนาทีมันช่างแสนยาวนาน เราลืมวัน ลืมเดือน ลืมปีไปหมด สิ่งเดียวที่เราคำนึงถึงคือปัจจุบัน ปัจจุบันที่ทุกวินาทีเสี่ยงกับความตาย มันยากจะอธิบาย ถึงชีวิตที่ต้องหิวโหยอยู่ตลอดเวลา และทุกลมหายใจมีแต่กลิ่นอายของโรคร้ายและความตาย...
จากความทรงจำ...เออร์เนส กอร์ดอน (31 MAY 1916 - 16 JAN 2002)
อดีตทหารฝ่ายพันธมิตรในค่ายเชลยศึกของญี่ปุ่น
- 1 -
เงาตะคุ่มของผู้คนจำนวนมากเคลื่อนตัวช้าๆ ท่ามกลางความมืดบนเส้นทางแคบกันดาร ขณะนี้กลางหุบเขามีแสงเทียนวอมแวมส่องสว่างไปบนพื้นเป็นระยะ
เช้ามืดนี้ เราเป็นคนไทยไม่กี่คนในขบวนของชาวต่างชาติจำนวนมากที่ตื่นแต่เช้าและเดินเท้าฝ่าความมืดไปบนทางแคบๆ ที่โรยไปด้วยก้อนอิฐรองไม้หมอนรถไฟ ตอนนี้รอบตัวของเรามองเห็นอะไรไม่ถนัดนัก แต่ความมืดก็ไม่สามารถบดบังหรืออำพรางบรรยากาศเศร้าซึมและเงียบสงบบางอย่างที่ลอยอยู่รอบตัวได้
พวงหรีดถูกนำไปยังจุดหมายอย่างช้าๆ ที่สุดทาง ทุกคนยืนสงบรอบหลักจารึกสีดำมันวาวทรงคล้ายพีระมิด พิธีกรรมบางอย่างเริ่มขึ้นเป็นเวลาราวหนึ่งชั่วโมง และจบท้ายด้วยคำสั้นๆ ...
"Lest we forget." - "เพื่อที่เราจะไม่ลืมเลือน"
ประโยคซึ่งดังก้องไปถึงบริเวณพิพิธภัณฑ์ช่องเขาขาดที่ตั้งอยู่ด้านบน และอาจจะยังคงดังก้องอยู่ในจิตใจของผู้รักสันติภาพทุกคน ตราบนานเท่านาน...
. . . . . .. .
ประเทศไทย...สิงหาคม 2485
ขณะที่พลพรรคนาซีเยอรมันกับกำลังเดินหน้ารุกพันธมิตรอย่างหนักในยุโรป สงครามมหาเอเชียบูรพาในภาคพื้นแปซิฟิกก็ดำเนินไปอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะหลังญี่ปุ่นโจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์ของสหรัฐฯ และการเดินทัพเข้าไทยเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ.2484
แน่นอนว่า ความสูญเสียชีวิตที่เกิดขึ้นกับเหล่ายุวชนทหารและเจ้าหน้าที่ในจังหวัดริมอ่าวไทย ทำให้รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงครามที่ประกาศปาวๆ สู้ตายถ้าโดนบุกแม้กระทั่งใช้หมามุ่ยเป็นอาวุธเพื่อชาติมาก่อนหน้านั้นหลายปีตัดสินใจสงบศึก
และด้วยความไม่ประสีประสาทางการทูต พอเห็นชัยชนะปลอมๆ ของญี่ปุ่นต่อสิงคโปร์ มลายู ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากนั้นไม่กี่เดือน จึงเห็นดีเห็นงามตกลงเซ็นสัญญาร่วมรบกับญี่ปุ่นด้วยความมั่นใจเต็มเปี่ยมว่า เมื่อสงครามจบ ญี่ปุ่นจะเป็นฝ่ายชนะแน่นอน พร้อมประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐอเมริกาในปีถัดมา ขณะที่ก่อนหน้านี้แค่ยอมให้เดินทัพผ่าน
ซึ่งในเวลาต่อมารัฐบาลของจอมพลตราไก่ก็จะพบว่า การที่ยอมให้ "เดินทัพผ่าน" กับการ "ร่วมรบ" กับญี่ปุ่นนั้นมันต่างกันมากนัก แถมยังเท่ากับเป็นการทิ้งภารกิจหนักให้ขบวนการเสรีไทยของปรีดี พนมยงค์ (ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์รัชกาลที่ 8 ในขณะนั้น) ที่เกิดในเวลาต่อมาต้องตามเคลียร์เรื่องการประกาศสงครามนี้ด้วยการประกาศพระบรมราชโองการสันติภาพกับพันธมิตรเมื่อสงครามจบลงในวันที่ 16 สิงหาคม 2488 (ประกาศซึ่งถูกรัฐบาลอำนาจนิยมลืม และทำให้กลายเป็นวันธรรมดาๆ ไป)
หนึ่งในกิจกรรมหลักที่ญี่ปุ่นเข้ามาใช้ไทยเป็นฐาน นอกจากเข้ามาตั้งฐานทัพแล้วสิ่งหนึ่งที่สำคัญมากคือการส่งกำลังบำรุงทางยุทธศาสตร์เพื่อโจมตีพม่าของอังกฤษ ซึ่งมีผลต่อเนื่องไปถึงการโจมตีอินเดียในที่สุด
นั่นคือกำเนิดของเส้นทางรถไฟสาย "มรณะ" ...
ที่ต้องแลกด้วยชีวิตเชลยศึกนับแสน เพียงแค่ความต้องการญี่ปุ่นในสมัยนั้นเกี่ยวกับการสร้างทางรถไฟ ทำให้ประวัติศาสตร์โลกต้องจารึกวีรกรรมอันน่าสลดใจที่สุดของมนุษยชาติเอาไว้อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งไม่ได้โหดร้ายด้อยกว่าสิ่งที่นาซีทำกับยิวในแนวรบด้านยุโรปแต่อย่างใด
ในอดีตเส้นทางรถไฟนี้รัฐบาลอังกฤษที่ปกครองพม่าเคยสำรวจเส้นทางโดยสังเขปแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้ลงมือก่อสร้างด้วยเหตุผลหลายประการ สุดท้ายทั้งรัฐบาลไทยและอังกฤษก็ไม่ได้ให้ความสนใจเส้นทางรถไฟนี้ แต่พอญี่ปุ่นจะเข้ามาสร้าง เป็นการวางแผนตามการศึกษาจากภาพถ่ายทางอากาศเสียส่วนใหญ่ (ในภายหลังพบว่าการวางแนวของญี่ปุ่นคล้ายๆ กับโครงการของอังกฤษที่ศึกษาไว้)
"เราจะต้องสร้างทางรถไฟ แม้ว่าจะเป็นการสร้างบนร่างของคนขาวก็ตาม" ...
หากใครเคยดูหนังเรื่อง The End All Wars หรือในชื่อไทยว่า "ค่ายนรกสะพานแม่น้ำแคว" มาบ้าง ก็จะพบว่าสิ่งที่ ร้อยเอกเออร์เนส กอร์ดอน แห่งหน่วยอาร์กายของสกอตแลนด์ หนึ่งในเชลยศึกฝ่ายพันธมิตรซึ่งบันทึกถึงคำพูดของนายทหารญี่ปุ่นที่รับผิดชอบเรื่องเชลยไว้ ไม่เกินความจริงแม้แต่น้อย เพราะทางรถไฟเส้นนี้เกิดบนชีวิตของคนขาวจริงๆ ยังไม่นับรวมถึงชาวเอเชียอีกแสนกว่าคนซึ่งไม่ปรากฏนามจนถึงปัจจุบัน
ทางรถไฟสายมรณะนี้ทั้งสายยาว 450 กิโลเมตรจากหนองปลาดุก จังหวัดราชบุรี มุ่งไปที่ด่านเจดีย์สามองค์เข้าสู่เมืองทันบูซายัตในประเทศพม่า ญี่ปุ่นวางแผนให้การก่อสร้างเริ่มขึ้นจากทั้งสองฝั่งไปบรรจบกัน โดยจากฝั่งไทยเริ่มขึ้นในเดือนมิถุนายน 2485 และเริ่มต้นทำงานอย่างจริงจังในวันที่ 28 ตุลาคมปีเดียวกันเพื่อไปบรรจบกับการวางรางจากฝั่งพม่า ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าต่อมา ทางรถไฟที่ยามปกติควรจะใช้เวลาสร้างถึง 6 ปี กลับประสบความสำเร็จลงในวันที่ 16 ตุลาคม 2486 ซึ่งหมายความว่าญี่ปุ่นทำการบังคับขู่เข็ญเชลยศึกให้สร้างเสร็จภายในหนึ่งปีเท่านั้น
คงไม่เกินไป ถ้าจะเรียกเชลยเหล่านี้ว่าเป็นยิ่งกว่า "ทาส" ในสมัยก่อนเสียอีก
- 2 -
"เราจะต้องสูญเสียอะไร เพื่อแลกกับจิตวิญญาณ นี่คือสิ่งที่ผมเผชิญระหว่างอยู่ในค่าย"
บันทึกของเออร์เนส กอร์ดอน ซึ่งถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ยังเป็นตัวแทนบ่งบอกว่าการก่อสร้างทางรถไฟที่เขามีประสบการณ์ผ่านมานั้น เชลยศึกไม่ได้รับการปฏิบัติเยี่ยงมนุษย์ทั่วไปพึงปฏิบัติต่อกันตามสนธิสัญญาเจนีวาที่บัญญัติเรื่องการปฏิบัติต่อเชลยอย่างให้เกียรติแต่อย่างใด
และสภาพดังกล่าวย่อมจะยิ่งเลวร้ายขึ้นไปอีก เมื่อต้องทำงานบนผืนป่าตะวันตกที่ไข้ป่าชุกชุม มีฝนที่ตกลงมาอย่างหนักในเดือนตุลาคม อีกทั้งความทุรกันดารทำให้การส่งเสบียงทำได้ยากลำบาก อาหารมักมาถึงในสภาพบูดเน่าและมีมอดในข้าว คนงานต้องกินข้าวกับเกลือวันละหลายสัปดาห์ ความช่วยเหลือจากสภากาชาดมีมาบ้าง แต่ก็ถูกญี่ปุ่นกักความช่วยเหลือนั้นไว้ทั้งหมดจนไม่ถึงมือเชลยศึก
จากสภาพกดดันทั้งทางร่างกายและจิตใจ เชลยศึกซึ่งมองเห็นผู้คนที่ตนรู้จักตายลงราวใบไม้ร่วง ประกอบกับความหิวโหย ทำให้เชลยศึกบางคนหมดความเป็นมนุษย์ไปอย่างช้าๆ ความหวังในดวงตาของพวกเขาสูญสิ้น สภาพความเป็นอยู่บางอย่างเลวร้ายในขั้นมากที่สุด อย่างกรณีเป็นแผลก็ต้องลงไปในแม่น้ำให้ปลาตอดหนองเป็นต้น เพราะขาดแคลนยาปฏิชีวนะ
ไม่มีใครรู้จำนวนตัวเลขคนทำงานหรือคนตายแท้จริง มีเพียงสถิติบันทึกไว้อย่างคร่าวๆ ว่ามีคนทำงานสร้างทางรถไฟตกวันละประมาณ 30,000 คน จากทั้งหมดที่มีการเกณฑ์แรงงาน ซึ่งขัดกับ "สนธิสัญญาเจนีวา" อย่างร้ายแรง
คนเหล่านั้นหากจำแนกก็จะประกอบไปด้วยเชลยศึกพันธมิตร 60,000 คนจากสมรภูมิที่ญี่ปุ่นได้รับชัยชนะ และแรงงานชาวเอเชียซึ่งปัจจุบันโลกก็ยังไม่มีใครรู้ว่าเขาชื่อเสียงเรียงนามอย่างไรอีกกว่า 200,000 คน
อีกทั้งในจำนวนที่เรากล่าวไปข้างต้น เชลยศึกฝ่ายพันธมิตรมีการตายและสูญหาย 13,000 คน ขณะที่ชาวเอเชียตายและสูญหายจำนวนถึง 80,000 คน (และนอกจากนี้คือญี่ปุ่นตาย 1,000)
ปัจจุบันนี้ ร่างของพวกเขาถูกฝังสงบนิ่งอยู่ใต้ผืนแผ่นดินกาญจนบุรี ในป่ารกชัฏที่ใดที่หนึ่งรอบเส้นทางรถไฟสายมรณะแห่งนี้นอกจากร่างทหารในสุสานสัมพันธมิตรซึ่งมี 2 แห่งในกาญจนบุรี
- 3 -
"ช่องเขาขาด" เป็นชื่อของจุดหนึ่งบนเส้นทางรถไฟ ซึ่งหากนับจากจุดเริ่มที่หนองปลาดุกก็จะอยู่ในหลักกิโลเมตรที่ 148-152 ที่แห่งนี้มีความเป็นมาน่าเศร้าที่สุดแห่งหนึ่ง จากเรื่องราวความทุกข์ทรมานหลายร้อยเรื่องจากปากคำของเชลยนับพันที่รอดชีวิตเกี่ยวกับเส้นทางสายมรณะ
ช่องเขาขาด คือลักษณะของทางรถไฟซึ่งสร้างผ่านช่องหน้าผา โดยการเจาะเพื่อสร้างรางทะลุไปได้ ความจริงช่องเขาที่คนไทยเรียกชื่อในปัจจุบันว่า "ช่องเขาขาด" ยังมีชื่ออื่นๆ อีกคือ แคนนิว (Konyu) , คานู (Kanu) , Malayan Hamlet (ค่ายหลายแห่ง)
แต่สำหรับเรา ชื่อที่เหมาะสมที่สุดของที่แห่งนี้น่าจะเป็น "ด่านไฟนรก"
เพราะครั้งที่กำลังมีการก่อสร้างทางตรงนี้นั้น ญี่ปุ่นเร่งงานมากถึงขนาดให้ทำในช่วงกลางคืนด้วย โดยจุดคบไฟจำนวนมากจนมีแสงสีแดงฉานฉาบไปทั่วแผ่นผา และวิศวกรชาวญี่ปุ่นก็ได้ขึ้นไปยืนอยู่บนเนินหินเพื่อคะเนแนวการขุดเจาะ ที่มีการใช้วิธี "ค้อนและตอก" (Hammer & Tap) โดยคนหนึ่งถือหมุดตอก อีกคนเอาค้อนหนักๆ กระหน่ำลงไปบนหมุด โดยทั้งหมดนี้ทำด้วยมือเปล่าทั้งสิ้น จะมีการใช้สว่านมือบ้างในบางจุดเท่านั้น
ลองนึกภาพว่าคนงานที่ผอมเหมือนกระดูกเดินได้ แบกท่อนซุงขนาดใหญ่กว่าลำตัวสองเท่าเดินไปมา บ้างก็ตอก บ้างก็เจาะ ท่ามกลางบรรยากาศร้อนระอุและแสงสีแดงจากกองเพลิงอันเจิดจ้า เสียงก๊องแก๊งๆ ดังระงมอยู่ตลอดเวลา ในใจพวกเขาคิดอะไรอยู่...
การตายอาจจะดีกว่าการอยู่ในสภาพแบบนั้นก็เป็นได้ ในบันทึกของเออร์เนส เชลยศึกบางคนท่องคำเหล่านี้ ขณะที่เพื่อนๆ ของเขากำลังทำงานอยู่ท่ามกลางกองเพลิง...
"เพื่อตาย เพื่อไม่ต้องตื่นต่อไป ด้วยการหลับนี้เป็นการยุติความเจ็บปวด ละความทรมานที่ร่างกายต้องได้รับ นี่คือศรัทธาที่เราต้องการน้อมรับ เพื่อตาย เพื่อหลับ หลับเพื่อให้เราได้ตื่น แต่การหลับนี้ก็ยังมีอุปสรรค เราจะฝันอะไร ในเมื่อชีวิตนี้ก็เจ็บปวดรวดร้าว เราจะต้องหยุด มันมีเหตุผลที่จะทำให้ชีวิตช่างเจ็บปวด สำหรับคนที่ต้องถูกเฆี่ยนตี ถูกกักขัง ผู้กดขี่ทำผิด เขาพูดไปอย่างทะนง ความรังเกียจที่ทิ่มแทงอย่างเจ็บปวด การถูกปฏิเสธอย่างเหยียดหยาม มันทำให้เขาเหลืออด ใครจะไปทนทานกับมันได้ เขาจะทานต่อเข็มแหลมที่ทิ่มแทงนี้ได้ไหม ใครจะทนภาระนี้ได้ ที่ต้องเหนื่อยกับชีวิตที่อ่อนแอ แต่ความกลัวต่อชีวิตหลังความตาย ดินแดนซึ่งมี่มีใครไปเหยียบย่างแล้วกลับมาเล่าให้ฟังได้ ทำให้เขาไม่กลัว ทำให้เขาต้องทนอยู่กับความเจ็บปวดนี้ ทนให้ผู้อื่นกดขี่อยู่ร่ำไป..." (William Shakespear)
และ "ด่านไฟนรก" คือ "นรก" บนดินโดยแท้สำหรับพวกเขาอย่างไม่ต้องสงสัย
- 4 -
กาญจนบุรี 63 ปีต่อมา...25 เมษายน 2548
เรามองไปยังทหารชาวออสเตรเลีย 4 คน ซึ่งรอดชีวิตจน ในวัน Anzac Day *นี้พวกเขามาวางหรีดแสดงความระลึกถึงเพื่อนๆ พร้อมกับลูกหลานและญาติซึ่งได้กลับมารวมตัวกันอีกครั้ง
น้ำตาของคุณปู่หลั่งไหล ขณะที่เขามองบริเวณที่เพื่อนๆ ต้องทอดร่างลงจากเขาไปเมื่อครั้งสงครามยังคุกรุ่น
คุณปู่พร่ำบอกลูกๆ ว่าพวกเขาคือคนรุ่นต่อไป ที่ต้องรับสืบทอดประสบการณ์และถ่ายทอดเรื่องราวของคุณปู่ไปยังหลาน ไปยังเหลน ...
วันนี้เราเห็นข่าวจีนกับญี่ปุ่นขัดแย้งกันด้วยเรื่องแบบเรียนประวัติศาสตร์ ขณะที่เมื่อ 2 ปีก่อน เราได้เห็นการบุกเผาสถานทูตไทยของชาวกัมพูชา...วันนี้เราต้องกลับมาทบทวนตนเอง ว่าศึกษาประวัติศาสตร์ไปเพื่ออะไร?
หลักการหรือวัตถุประสงค์ของวิชานี้ระบุชัดเจนไม่ใช่หรือ เรารู้อดีต เพื่อที่จะได้รู้ความเป็นมาของปัจจุบัน ศึกษาข้อผิดพลาดของอดีต เพื่อที่จะไม่ทำเรื่องผิดพลาดในปัจจุบัน สงครามในอดีต เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นและผ่านไปแล้ว เราศึกษาไม่ใช่เพื่อความแค้น แต่เพื่อเรียนรู้ข้อผิดพลาด และนำมาปรับปรุงปัจจุบันซึ่งจะส่งผลถึงอนาคต
กรณีของญี่ปุ่นกับจีนไม่ว่าจะมีอะไรแอบแฝงหรือไม่ กรณีนี้ก็ไม่ต่างไปจากการเผาสถานทูตไทยในพนมเปญเมื่อสองปีก่อน หรือกรณีทางลาวประท้วงไทยเรื่องการสร้างภาพยนตร์เรื่องท้าวสุรนารี
อาจจะมีทางออกคือ การตั้งคณะกรรมการเกี่ยวกับวัฒนธรรมร่วมทั้งสองชาติ หรือยกเลิกแบบเรียนและการสร้างภาพยนตร์ที่ "ล้าหลัง" และ "คลั่งชาติ" มาเป็นประวัติศาสตร์ที่มุ่งเน้นถึงความเป็นจริง มีวัตถุประสงค์แบบสร้างความเข้าใจ เพื่อ "ศึกษา" ไม่ใช่สร้าง "ความแค้น" น่าจะเป็นทางออกที่น่าจะดีที่สุดในกรณีเช่นนี้
"สงคราม" ไม่ได้ให้อะไรกับมนุษย์ นอกจากความพินาศของผู้คนและบาดแผลในใจของผู้รอดชีวิต
เพราะเราเชื่อว่า ไม่มีใครอยากเห็นน้ำตาทหารผ่านศึกที่จะต้องหลั่งไหล ยามระลึกถึงเพื่อนร่วมรบหลังสงครามครั้งหน้าที่คนรุ่นเราอาจเป็นผู้ก่อจากน้ำผึ้งหยดเดียวคือ "ความไม่เข้าใจ"
และคนที่หลั่งน้ำตานั้นอาจเป็นคุณ...
****
ANZAC DAY
นี่คือวันที่มีชื่อเต็มๆ ว่า Australian and New Zeland Army Corps ที่มีขึ้นเพื่อระลึกถึงกองทหารออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ พร้อมด้วยทหารจากสหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส ซึ่งยกพลขึ้นบกที่คาบสมุทรแกลลิโปลี (Gallipoli) ซึ่งปัจจุบันอยู่ในประเทศตุรกี เพื่อเปิดฉากยุทธการการ์ดาดะเนลส์ในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ในรุ่งอรุณของวันที่ 25 เมษายน 2458 การยกพลครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิตจำนวนมากจากความผิดพลาดบางอย่าง
และต่อมาวันดังกล่าวนี้ได้ทวีความสำคัญมากขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป โดยมีขอบเขตไปถึงการระลึกถึงทหารฝ่ายพันธมิตรที่ร่วมปฏิบัติการรักษาสันติภาพและเสียชีวิตในสงครามโลกครั้งที่สอง สำหรับชาวออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ วันนี้ของทุกปีจะมีพิธีกรรมศาสนาเวลาเช้ามืดซึ่งเป็นเวลาเดียวกับการยกพลขึ้นบกในสงครามโลกครั้งที่ 1 จากนั้นจะมีการวางพวงหรีดทั่วประเทศ.
*ขอขอบคุณสถานทูตออสเตรเลีย