xs
xsm
sm
md
lg

คนญี่ปุ่นกับเกมตู้  ใครๆ ก็โดน Sodom! ฆ่าตาย

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

สวัสดีครับผม Mr.Leon มาแล้ว เพื่อนๆ เคยเล่นตู้เกมกันไหมครับ สมัยก่อนที่ผมมาเที่ยวเมืองไทยใหม่ๆ เคยเล่นเกมตู้ตามเกมโซนในห้างสรรพสินค้าผมรู้สึกตื่นเต้นมากเพราะที่กรุงเทพฯ ก็ฮิตเหมือนที่ญี่ปุ่นเลย  ก่อนที่จะพูดถึงเกมในครั้งนั้น อาทิตย์ที่แล้วผมพูดถึงเรื่องวงดนตรีร็อคญี่ปุ่นที่ยังรวมตัวกันและแสดงดนตรีร่วมกันมาอย่างยาวนาน แถมนักร้องแต่ละคนก็มีอายุเกิน 50+ + แล้วทั้งนั้น หนึ่งในวงที่พูดถึงไปนั้นก็คือวง Penicillin ก็คิดว่าน่าจะมีคนรู้จักอยู่พอสมควรจากที่เพื่อนๆ มาร่วมแสดงความคิดเห็นนั้นต้องขอบคุณมากๆ ครับ มีชาวร็อคเยอะเหมือนกัน   ที่ญี่ปุ่นนั้นในยุค 90 ถือว่าเป็นยุครุ่งเรืองของศิลปินแนวร็อค  รวมถึงพวกการ์ตูนอนิเมชั่นและศิลปะรูปแบบต่างๆ นั้นถือได้ว่าเป็น 黄金期 Golden age เลยก็ว่าได้
 
ส่วนยุคที่เริ่มจะเป็นขาลงคือยุคซึ่งเป็นช่วงวัยของ bubble  ยุคนั้นเป็นช่วงเวลาที่เริ่มเกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจขึ้น น่าจะเป็นช่วงปี 89, 90 91 ประมาณนี้ครับ  ผมยังจำได้ดีประมาณต้นปี 97 ช่วงนั้นยังเป็นช่วงที่ค่าเงินยังมีความผันผวนไม่มากแม้จะเริ่มๆ มีสัญญาณแต่ยังมีความยืดหยุ่นอยู่ แต่หลังจากปีวิกฤตต้มยำกุ้งของเมืองไทย (ช่วงวิกฤตการณ์ทางการเงินซึ่งส่งผลกระทบไปถึงหลายประเทศในทวีปเอเชีย)  ญี่ปุ่นเองก็ได้รับผลกระทบขึ้นมากมายและมีหลายธนาคารที่ล้มลง พอเข้าปี 2000 -2010 เริ่มเป็นช่วงขาลงอย่างหนักทั้งป๊อบญี่ปุ่น เจร็อคญี่ปุ่นไม่ใช่ยุคที่รุ่งเรืองอีกแล้วค่อนข้างจอดยาว  แต่กระนั้นผมก็ยังคิดว่านักคิด นักครีเอทีพต่างๆ ก็ไม่ได้อยู่ในช่วงขาลงพวกเขายังคงมีพรสวรรค์อยู่เช่นเดิม

นอกจากเพลงร็อค เพลงเจป๊อบที่เขาว่าเป็นขาลงแล้ว แม้แต่อนิเมชั่นหรือว่าการ์ตูนต่างๆ ก็มีคนพูดว่าอยู่ในช่วงขาลงเช่นกัน ทางบริษัทก็มีงบจำกัดที่จะใช้สำหรับเป็นงบประมาณในการทุ่มโฆษณา จึงทำให้ยอดขายไม่ถูกกระตุ้น เมื่อรายได้น้อยก็ได้กำไรน้อย ทำมีงบประมาณน้อยวนกันไปเป็นวัฏจักร  พูดถึงการใช้งบประมาณตอนที่ช่วงที่รุ่งเรืองนั้นขนาดมิวสิควิดีโอต่างๆ ก็พากันไปถ่ายทำกันถึงต่างประเทศ ฉากที่เป็นทะเลทรายก็ถ่ายกับพื้นที่ทะเลทรายจริง ไปถ่ายตามเมืองใหญ่ๆ ที่อเมริกาหรือว่าที่ฝรั่งเศส  แต่ว่ากลับกันในยุค 2000 หรือช่วงขาลงก็ใช้วิธีการถ่ายมิวสิควิดีโอตามท้องถนนในญี่ปุ่นธรรมดา ให้ตัวแสดงเดินไปเดินมาง่ายๆ ซึ่งจะเห็นได้ว่าการใช้งบประมาณนั้นแตกต่างกันอย่างมาก ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องเกี่ยวกับดนตรีเท่านั้นเกมต่างๆ ก็เกิดข้อจำกัดในรูปนี้เช่นเดียวกัน
 
เกมในปัจจุบันนี้ ที่มีเล่นๆ กันในโซเชียลต่างๆ นั้น อาจจะทำให้เกิดความสนุกและเกิดเครือข่ายที่สร้างการสื่อสารกันระหว่างคนเล่นทำให้เกิดสังคมคนเล่นเกมเพิ่มขึ้นมากมายและมีรูปแบบที่ต่างจากสมัยก่อน  เกมสมัยนี้จะมีการสร้างแรร์ไอเทม(Rare item) หรือรายการสิ่งของที่มีน้อยหรือสิ่งของที่หายาก หรือไอเทมหายาก และมีการซื้อขายกันในรูปแบบเกมบางรายการก็มีราคาแพงมากๆ ซึ่งผมก็ไม่แน่ใจว่าถ้าเทียบกับเกมสมัยก่อนนั้นเกมในลักษณะแบบนี้มันดีกว่าหรือไม่ดีกว่ายังไง แต่ทั้งสองแบบล้วนทำให้คนติดและต้องหาเงินมาเล่นเกมต่อ หรือซื้อไอเทมที่หายากนั้นๆ

เรื่องเกมนั้น  belt scroll action ไม่ใช่มีแค่ที่ญี่ปุ่นอย่างเดียวไม่ว่าจะเป็นที่จีน ไทยก็เล่นกันอย่างแพร่หลายในสมัยหนึ่ง สมัยผมเด็กๆ ก็มีการทำเกม "ไฟนอลไฟท์" ขึ้นมาซึ่งเป็นเกมที่สร้างขึ้นมาแล้วมากกว่า30 ปี มองย้อนกลับไปก็ยังคิดว่าทำได้ดี แม้แต่เกมที่ใช้เล่นบนเครื่องบินก็คงจะมีหลายบริษัทที่ install เอาไว้ให้ลูกค้าเล่นบนเครื่อง แต่ว่ามันเป็นเกมที่จะต้องยิงและปะทะกันอาจจะทำความรบกวนให้กับผู้โดยสารข้างๆ ได้  เกมที่บริษัท Capcom แคปคอม (บริษัทแคปคอม  Capcom カプコンเป็นผู้พัฒนาและจำหน่ายเป็นที่รู้จักจากการสร้างแฟรนไชส์มากมายเช่น ร็อคแมน สตรีตไฟเตอร์และมอนสเตอร์ฮันเตอร์ รวมถึงเกมอนิเมชันของดิสนีย์ ที่บริษัทนี้สร้างขึ้นมาและมีชื่อเสียงมากที่สุดคือสตรีทไฟเตอร์ ) เพราะครั้งที่บริษัทนี้สร้างเกมไฟนอลไฟท์ขึ้นมาและนำไปวางขายที่อเมริกากลับไม่ได้รับความนิยมตามที่คาดไว้ บริษัทจึงปรับรูปแบบออกมาใหม่จนเป็นสตรีทไฟเตอร์ที่ได้รับความนิยมมากนั่นเอง

สำหรับเรื่องเกมไฟนอลไฟท์ นั้นสมัยก่อนมีเกมที่เป็นลักษณะนี้ขึ้นมากมาย แพร่หลายในหลายประเทศ  ช่วงนั้นเองที่มาบุญครองสมัยก่อนก็มีตู้เกมลักษณะนี้จำนวนมาก  อย่างที่เมืองจีนเองก็เล่นกันแพร่หลายในสมัยนั้นมีการสร้างเป็นรูปแบบสามก๊กอีกด้วย และได้รับความนิยมอย่างสูงสุดในหลายประเทศ  จะมีทั้งหมด 5 ด่านใหญ่ซึ่งแต่ละส่วนแบ่งเป็นพื้นที่ย่อยลงไปอีก ให้ผู้เล่นตะลุยอัดคู่ต่อสู้เป็นชุดๆ และเดินหน้าสู้ต่อๆ ไปจนกว่าจะถึงบอส และมีเก็บคะแนนเรื่อยๆ ภายในเวลาที่จำกัด มีไอเทมช่วยเหลือต่างๆ และมีอาวุธให้หยิบใช้ได้ เช่น มีดสั้น, ดาบและท่อเหล็ก สร้างความมันส์สะใจให้ผู้เล่นได้ดีระดับหนึ่ง ทำให้เป็นหนึ่งในเกมที่ทำให้เด็กๆ ติดได้เหมือนกันครับ สมัยผมเด็กๆ นี่ผมก็เอาเงินค่าขนมของตัวเองไปเล่นเกมพวกนี้เยอะเหมือนกัน

เกมที่คล้ายๆ กันอาทิเช่น วอริเออร์สออฟเฟตเป็นวิดีโอเกมแนวต่อสู้ ก็มีบอสประจำด่านที่เก่งกาจก็อย่าง เช่น แฮหัวตุ้น เป็นต้น  ส่วนด่านที่ 2 ในเกมไฟนอลไฟท์มี Sodom ソドムเป็นบอสที่ค่อนข้างจะแกร่งมาก เป็นนักฆ่าโคโรชิ ที่เก่งกาจน่ากลัวมากจะปรากฏออกมาพร้อมกับดาบคู่ ใส่หมวกกันน็อค นุ่งกางเกงยีนส์ และมีท่าพุ่งแท็กแบบอเมริกันฟุตบอลเป็นคาแรกเตอร์ที่ได้รับความนิยมอย่างสูง ผมคิดว่า Sodom เป็นตัวละครในเกมที่มีคาแรคเตอร์เท่ห์ คนออกแบบออกแบบได้เหมาะสมกับบุคลิก Sodom บอสในที่นี้เป็นคนอเมริกาแต่ใส่เครื่องประดับเข้าไปให้รู้ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมญี่ปุ่น เช่น ถือดาบคู่ แม้ว่าจะเป็นแบบแบบผสมผสานแต่ก็ดูน่ารักดี นอกจากนี้เพลงประกอบก็เท่ห์มาก เป็นแนวโพรเกรสซิฟร็อค Progressive rock หรือย่อว่า prog/ prog rock ซึ่งการเรียบเรียงจะรวมองค์ประกอบของดนตรีคลาสสิก แจ๊ส และเวิลด์มิวสิค โดยใช้ใช้เครื่องดนตรีปกติทั่วไป แต่เพลงอาจจะออกแนวนามธรรม หรือแบบแฟนตาซี เพลงของด่านสองก็เพราะจังหวะเร้าใจ ผู้เล่นที่เล่นถึงด่าน 2 พอมาเจอ Sodom san ส่วนใหญ่จะตายภายใน10 วินาที แบบไร้เหตุผลเช่นนี้เขาเลยเรียกกันว่า 初見殺し Shoken  Koroshi แต่ที่จริง Sodom เขาอาจจะเป็นคนดีก็ได้นะเพราะว่าด่านอื่นๆ บอสต่างๆ ต้องมีผู้ช่วยมารุมคนเล่นทั้งนั้นเลย ยกเว้นด่าน 2 มีเขาเพียงคนเดียวที่สู้กันแบบตัวต่อตัว ตัวละครตัวนี้ได้รับความนิยมสูงมากในเกมเวอร์ชั่นต่อๆ มาอย่างสตรีตไฟเตอร์ก็มี Sodom ออกมาด้วยครับ

Sodom ソドム เป็นบอสที่เก่งมากครับ เพราะว่าส่วนใหญ่แล้วเด็กญี่ปุ่นสมัยผมเนี่ยก็เล่นเกมแบบนี้และเมื่อติดก็ต้องขอเงินพ่อแม่มาเล่นต่อ  แล้วเมื่อแพ้อีกก็จะรู้สึกว่าเสียดายแล้วอยากเล่นอีก พูดไปธุรกิจประเภทนี่คล้ายๆ กับเรื่องของร้านขายราเมงที่ญี่ปุ่นเหมือนกันที่มาไวไปไว เพราะว่าธุรกิจการขายราเมงนั้นจะต้องมีการขายและทำเวลา ส่วนใหญ่ลูกค้ากินไวไปไว เพราะถ้าจะให้ลูกค้ามานั่งแชทหลายๆ ชั่วโมงในร้านเนี่ยธุรกิจก็จะไปไม่ได้ ดังนั้นจึงต้องทำอะไรก็ได้เพื่อให้ลูกค้ารีบกินรีบออกไปไวๆ  เช่นยืนกินที่เคาน์เตอร์ หรือมีที่นั่งไม่มาก เป็นต้น เกมก็เหมือนกันเมื่อให้รีบตายก็จะได้มีคนมาหยอดเงินเล่นใหม่อย่างไว แม้ว่าเวลาจะผ่านไปเนิ่นนานแล้วแต่เรื่องที่ผมยังรู้สึกตกใจอีกเรื่องหนึ่งก็คือแม้ว่าเกมพวกนี้จะมีตั้งแต่ 30 ปีที่แล้ว แต่ว่า ณ ปัจจุบันนี้ก็ยังคงมีคนที่เล่นกันอยู่ แถมใน YouTube เองก็มีหลายๆ คนที่ยังมาพูดแนะนำวิธีการฆ่าบอสของด่าน 2 อยู่เลย!!

และเกมของแคปคอมนั้นก็มีหลากหลายประเภท สร้างออกมาตามแต่สไตล์ของประเทศต่างๆ ด้วย เช่น สามก๊ก นักมวย  นักยูโด เป็นต้น ซึ่งเกมเหล่านี้ก็จะมีจุดที่มีความเชื่อมและมีความสัมพันธ์กันอยู่ในส่วนของผู้ที่เล่นชนะได้ในด่านแรกที่จะค่อนข้างจะปล่อยผ่านไปได้อย่างง่าย เกมทำให้สามารถผ่านด่านแรกได้อย่างง่ายดาย เหมือนกับเป็นการเวลคัมต้อนรับผู้เล่นให้ทุกคนรู้สึกว่าตัวเองก็เล่นได้ รู้สึกดีและอยากเล่นต่อไปที่เรียกว่าการ 接待settai  แต่ว่าในส่วนของผู้ที่จะผ่านเข้าไปในรอบต่อไปก็ค่อนข้างจะต้องเจอด่านที่ยากขึ้นและโดนฆ่าตายโดยฉับพลันแบบไร้เหตุผล ทำให้เด็กๆ อยากเอาชนะให้ได้และเติมเงินเล่นต่อไปเรื่อยๆ การที่ผู้เล่นโดนฆ่าตายแบบง่ายเกินไป และไร้เหตุผลนี้เรียกว่า 初見殺し Shoken  Koroshi   คำนี้ถึงแม้ว่าจะเกิดจากเกม แต่ว่าคนญี่ปุ่นก็นำไปเป็นคำศัพท์ที่ใช้ในชีวิตประจำวันด้วย ซึ่งในพจนานุกรมนั้นอาจจะไม่มีศัพท์คำนี้ระบุไว้แต่ว่าทางอินเตอร์เน็ตก็พอจะมีคำที่คนญี่ปุ่นนำไปใช้กันบ้างซึ่งหมายถึง  "ถ้าโดนพูดหรือกระทำแบบไร้ซึ่งเหตุผล ถ้าไม่ทำมาตรการป้องกันอะไรสักอย่างจะไม่สามารถชนะได้ " เช่น เมื่อหัวหน้าชวนไปทานข้าวสองคนมื้อค่ำและชวนไปห้อง เป็นต้น เราต้องคิดแก้ไขสถานการณ์ด้วยมาตรการอะไรสักอย่างถ้าไม่ทำก็อาจจะสูญเสียได้

คำว่า 初見殺し Shoken Koroshi นั้น มีคนบอกว่าวัฏจักรนี้ไม่ว่าที่ไหนในโลกก็ใช้หลักการเดียวกันครับและบริษัทของประเทศญี่ปุ่นหลายหลายบริษัทก็เป็นบริษัทที่ทำให้เกิดคำนี้ขึ้นมาเหมือนกัน ผมคิดว่าที่เมืองไทยน่าจะไม่ค่อยมีกรณี 初見殺し Shoken Koroshi แต่ที่ญี่ปุ่นนั้นมีเยอะไม่ว่าจะเป็นในแวดวงการทำงาน  งานเลี้ยงงานปาร์ตี้  หรือว่าสังคมทั่วไปคำพูดคำสั่งของหัวหน้างานส่วนใหญ่มีความหมายแฝงเป็น初見殺し Shoken Koroshi อยู่มากเหมือนกันครับ เช่นเรื่อง
〇ความไม่มีเหตุผลว่าทำไม่ต้องชนแก้วแรกในงานเลี้ยงด้วยเบียร์ ถ้าไม่ใช้เบียร์อาจโดนขเม่น !!
〇ความคลุมเคลือของสาวญี่ปุ่นเมื่อเธอพูดว่า ไปไหนก็ได้ค่ะ!!?
〇เมื่อสั่งมันฝรั่งทอดมาให้หัวหน้างานทาน แล้วโดนโกรธ ??!!
เป็นต้น ซึ่งเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องเฉพาะตัวแบบลักษณะนิสัยของคนญี่ปุ่นๆ ซึ่งบางครั้งสิ่งที่พูดออกมานั้นก็เป็นการเหน็บแนม บางคนที่ไม่รู้ก็ไม่ได้คิดว่าสิ่งที่เขาพูดออกมานั้นหมายถึงอะไรกันแน่ เรื่องนี้มีรายละเอียดที่ผมจะนำมาเล่าต่อในตอนต่อไปครับ เพราะเพื่อนบางคนอาจจะมีประสบการณ์เคยทำงานกับคนญี่ปุ่นหรือมีเพื่อนเป็นคนญี่ปุ่นบ้าง 

ส่วนเรื่องเกมนั้น ไม่แน่ใจว่าปัจจุบันยังมีคนเล่นเกมตู้กันอยู่หรือเปล่า เนื่องจากรูปแบบการเล่นเกมได้เปลี่ยนไปตามยุคสมัย  แต่ถ้าเป็นไปได้ผมก็อยากไปเล่นตู้เกมย้อนบรรยากาศวัยเยาว์ดูบ้าง ไม่รู้มีที่ไหนบ้างนะครับ  วันนี้สวัสดีครับ


กำลังโหลดความคิดเห็น