xs
xsm
sm
md
lg

ราเม็งในนิวยอร์ก VS ราเม็งในญี่ปุ่น

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ภาพจาก http://www.johnnyprimesteaks.com/ramen-takumi/
คอลัมน์ "เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น" โดย "ซาระซัง"

สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านที่รักทุกท่าน เมื่อก่อนเคยเล่าเรื่องราเม็งในญี่ปุ่นไปสองตอนติด ๆ กันมาแล้ว คราวนี้ขอเล่าเรื่องราเม็งในนิวยอร์กให้ฟังบ้างนะคะ ฉันเองก็เป็นนักชิมราเม็งตัวยงเหมือนเพื่อนผู้อ่านที่รักหลาย ๆ ท่าน พอเห็นร้านไหนมีราเม็งที่ดูน่าอร่อยก็ลองไปดู บางคราวก็เจอแบบที่ชวนให้ดี๊ด๊าดีอกดีใจ แต่หลาย ๆ คราวก็เจอกับความผิดคาดอยู่เหมือนกัน

คนนิวยอร์กชอบรับประทานราเม็งกันมากเหมือนคนไทย แต่ร้านราเม็งส่วนมากที่เห็นในนิวยอร์กจะไม่ใช่ของคนญี่ปุ่นเปิด หลายร้านจะเป็นของคนเกาหลีหรือไม่ก็คนจีน แถมยังตั้งชื่อร้านแบบร้านอาหารหรือร้านราเม็งในญี่ปุ่น หลอกให้นึกว่าเป็นร้านคนญี่ปุ่นจริง ๆ รวมทั้งราเม็งแต่ละชามก็หน้าตาดีเหมือนราเม็งอร่อย ๆ ในญี่ปุ่นด้วย แต่พอชิมแล้วจะพบว่ามีความแปลกประหลาดอยู่ในรสชาติน้ำซุป ความแข็งของเส้น ความไม่เข้ากันระหว่างเส้นกับน้ำซุป ชวนให้หงุดหงิดได้ไม่น้อยทีเดียว

เคยเห็นรีวิวร้านราเม็งแห่งหนึ่งในนิวยอร์กซึ่งมีราเม็งสารพัดแบบ ร้านนี้ถ้าดูรูปจากเมนูจะชวนน้ำลายหกมาก แต่ส่วนใหญ่ก็แบบนี้คือหน้าตาดีแต่อย่าเพิ่งไว้ใจรสชาติ

เคยมีลูกค้าคนหนึ่งสั่งสึเคเมน (บะหมี่ลวกจิ้มน้ำซอสอุ่น ๆ) รับประทานเส้นหมดแล้วเหลือแต่น้ำซอสอุ่นที่เอาไว้จุ่มเส้น โดยปกติที่ญี่ปุ่นจะมีลูกค้าบางคนขอน้ำเติมในน้ำซอสนี้เพื่อยกให้ซดได้ (ถ้าซดเพียว ๆ จะเค็มเกินไป) เรียกว่า “ซู-ปุ-วา-หริ” (スープ割り)บางร้านจะวางกระติกน้ำร้อนที่ใส่น้ำสำหรับเติมวางไว้ตามโต๊ะหรือเคาน์เตอร์ให้เลย ทีนี้พอลูกค้าที่ไปร้านราเม็งในนิวยอร์กนี้ขอ “ซู-ปุ-วา-หริ” พนักงานก็ทำหน้าประหลาดบอกว่า “ไม่มี ” แถมยังหัวเราะกันคิกคักเสียอีก ลูกค้าก็ไม่พอใจว่ามีสึเคเม็งในเมนูแต่กลับไม่รู้จักซูปุวาหริได้อย่างไร
ภาพจาก http://www.johnnyprimesteaks.com/ramen-takumi/
ฉันเจอร้านราเม็งในนิวยอร์กที่ขายราเม็งมิโสะรสหวานมาหลายร้านแล้ว เข็ดไม่กล้าไปอีกเลย พอจะไปร้านราเม็งสักร้านต้องสืบให้แน่ว่าของคนญี่ปุ่นเปิด จากที่หาข้อมูลมาจำนวนร้านราเม็งในนิวยอร์กแบบที่ถูกปากคนญี่ปุ่นนับได้ราว 5-6 ร้านเท่านั้น และเป็นร้านของคนญี่ปุ่นทั้งหมด แต่ก็เคยเจอร้านของคนญี่ปุ่นอยู่แห่งหนึ่งเหมือนกันที่ไม่อร่อยเลย ร้านนี้มีเมนูหลากชนิดทั้งเมนูข้าวและเมนูราเม็งที่มีน้ำซุปหลัก ๆ ทุกแบบ ปนเปกันเละเทะจนไม่รู้ว่าร้านนี้เด่นอาหารอะไรเป็นหลัก จากประสบการณ์เลยได้เรียนรู้ว่าตราบใดที่เป็นร้านที่ขายหลายอย่างเกินไปก็อย่าได้เข้าไปเป็นดี

จะว่าไปก็นับว่าแจ็คพ็อตมากเพราะถ้าอยู่ในญี่ปุ่นจะไม่ค่อยเจอร้านที่ทำอาหารไม่อร่อย นานทีปีหนถึงจะเจอสักร้าน เคยมีคนเล่าว่าบางร้านในนิวยอร์กที่เปิดโดยคนญี่ปุ่นแต่ไม่อร่อยนั้น เดิมทีอาจเพราะไม่ใช่คนทำอาชีพด้านนี้มาก่อน แต่พอย้ายถิ่นฐานมาต่างประเทศไม่รู้จะทำอะไรเป็นอาชีพก็นึกว่าเปิดร้านอาหารเอาแล้วกัน อย่างน้อยก็น่าจะขายได้ กรณีแบบนี้ก็คงมีในแทบทุกชาติที่ย้ายถิ่นฐานไปอยู่ต่างประเทศนะคะ

ราเม็งในนิวยอร์กนับว่ามีราคาแพงกว่าที่ญี่ปุ่นมากคือราคาสิบกว่าเหรียญขึ้นไป+ภาษี+ทิป บางทีรับประทานหนึ่งชามนี่คือรับประทานที่ญี่ปุ่นได้ 2-3 ชาม นอกจากนี้ หลายร้านไม่ว่าจะเป็นร้านของคนญี่ปุ่นหรือต่างชาติเปิดก็มักจะมีเมนูประหลาดที่ไม่มีในญี่ปุ่น โดยเฉพาะ Pork Bun หรือหมั่นโถวไส้หมู ชิ้นละประมาณ 4 เหรียญ+ภาษี+ทิป เห็นฝรั่งชอบกันมาก หน้าตาแบบนี้ค่ะ
https://sometimesicrave.com/2014/12/27/
ที่ญี่ปุ่นนั้น คนรับประทานเผ็ดได้อย่างคนไทยมีน้อย แม้ร้านราเม็งหลายร้านจะมีขวดพริกป่นวางไว้ให้ แต่พริกป่นญี่ปุ่นแทบไม่มีรสเผ็ดเลยแต่มีกลิ่นหอม ทำให้รู้สึกว่าคนญี่ปุ่นคงใส่พริกเพื่อเอากลิ่นหอมมากกว่าเอาความเผ็ด และมักใส่กันน้อยนิด เวลาไปตามร้านโซบะอุด้ง ฉันมักจะเหยาะแล้วเหยาะอีกจนสามีมองหน้าเปรยว่าใครเขาใส่กันบานตะไทเพียงนั้น

ถ้าเป็นร้านราเม็งฮากาตะก็สบายใจได้ว่ามักจะมีผักดองรสเผ็ด พร้อมทั้งขิงดองสีแดง และอาจมีงาขาวไว้ให้ใส่เพิ่มเองได้ ร้านประจำใกล้บ้านในญี่ปุ่นที่สามีมักไปรับประทานสมัยเป็นนักศึกษามีเครื่องเหล่านี้ไว้ให้พร้อมสรรพ ราคาชามละ 500 เยน ขอเส้นเพิ่มฟรีได้ สมัยก่อนเขาไม่ได้ระบุว่าเพิ่มฟรีได้กี่ก้อน ไม่ทราบว่ามีนักกินจุไปร้านเขาหรือว่าอย่างไร ต่อมาจึงติดป้ายไว้ว่าให้เพิ่มได้ฟรีไม่เกิน 1 ก้อนเท่านั้น

แรก ๆ ฉันไม่ชอบราเม็งของร้านนั้น แต่สามีชอบไป พอรับประทานไปบ่อยเข้าฉันก็เลยติดใจไปเอง ที่ชอบคือผักดองรสเผ็ดนั้นอร่อยทีเดียว แม้จะติดป้ายไว้ที่ฝาว่าให้ระวังเผ็ด แต่ฉันก็ไม่รู้สึกถึงความเผ็ดเท่าใดนักจึงเผลอมือหนักจนน้ำซุปเปลี่ยนสี คุณลุงคนทำราเม็งถามด้วยความฉงนว่านี่ไม่เผ็ดเลยหรือ (ในใจอาจคิดว่ากินล้างกินผลาญมากเลยนะคุณลูกค้า) ฉันยิ้มเขิน ๆ บอกว่าใส่แล้วอร่อยดีค่ะ ที่จริงก็อายอยู่เหมือนกัน บางทีก็เลยตักทีละน้อยก่อนแล้วค่อยเติมทีหลัง
ภาพจาก http://blog.livedoor.jp/next_step_to/
ด้วยความที่ร้านราเม็งหลายร้านแม้จะมีระดับความเผ็ดให้เลือก แต่บางทีก็ไม่เผ็ดเอาเสียเลยแม้จะเลือกระดับความเผ็ดกลางไปจนกระทั่งเผ็ดสุดแล้ว คนญี่ปุ่นที่กินเผ็ดได้มีเหมือนกันแต่น้อยมากจนแทบนับได้ คงเพราะอย่างนี้ร้านส่วนมากจึงไม่ทำให้เผ็ดเกินกว่าที่คนญี่ปุ่นทั่วไปจะรับได้ แต่เดี๋ยวนี้มีบางร้านที่เผ็ดจัดถึงใจจริง ๆ แต่ก็นับว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนร้านราเม็งในญี่ปุ่น

ร้านสึเคเม็งร้านโปรดแห่งหนึ่งในญี่ปุ่นมีให้เลือกระดับความเผ็ดได้ 3 ระดับ ฉันเลือกระดับ 3 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดแล้วก็ยังไม่เผ็ด พอฉันถามว่าขอเผ็ดระดับ 5 ได้ไหม พนักงานยิ้มรับว่าได้สิครับ แต่กระนั้นคนทำสึเคเม็งซึ่งอยู่ในครัวคงไม่ค่อยจะแน่ใจ อุตส่าห์เดินออกจากครัวมาหาพร้อมถาดไม้แผ่นหนึ่งที่มีกองพริกป่นเล็ก ๆ แยกไว้สามกอง พร้อมกับอธิบายอย่างใจดีและสุภาพมากว่า “ความเผ็ดแต่ละระดับคือปริมาณพริกที่เราใส่ครับ ถ้าระดับ 1 ก็คือพริก 1 ช้อน ระดับ 3 ก็คือพริก 3 ช้อน” ฉันเดาว่าเขาคงเอาพริกมาให้ดูเพื่อขู่ว่าเผ็ดจริง ๆ นะ เดี๋ยวกินไม่ลงแล้วอย่ามาบ่น แต่ฉันมาร้านนี้บ่อยจนกะถูกแล้วว่าระดับไหนพอดีกับที่ชอบ จึงยืนยันว่าจะเอาระดับ 5 ตามเดิม

แต่มีวันหนึ่งฉันพลาดค่ะ ร้านราเม็งที่เข้าไปวันนั้นมีราเม็งเผ็ดให้เลือกระดับความเผ็ดได้ ด้วยความประมาทจึงสั่ง “เผ็ดสุด” วันนั้นจึงเป็นวันแรกที่ฉันรับประทานราเม็งไปอย่างน้ำหูน้ำตาไหล ชายหนุ่มที่ทำราเม็งอยู่คงสมเพชเต็มทีเลยยื่นเกี๊ยวซ่าให้จานหนึ่ง มีอยู่สามชิ้น บอกว่า “แถมให้”

ฉันเงยหน้าขึ้นมองพลางกล่าวขอบคุณ รู้สึกเหมือนมีพระมาโปรด เขาถามต่อ “เผ็ดมากไหม” ฉันบอก “เผ็ดซิ ไม่คิดว่าจะเผ็ดขนาดนี้” เขาว่า “ก็คุณมาถึงก็เล่นสั่งเผ็ดสุดเลยนี่นะ” ตั้งแต่วันนั้นมาฉันไม่กล้าซ่าส์สั่งเผ็ดสุดจากร้านไหนอีกเลยจนกว่าจะลองเผ็ดกลางเสียก่อน
ภาพจาก https://mecicolle.gnavi.co.jp/report/detail/5987/
ร้านราเม็งบางแห่งตลกดีค่ะ เขาเขียนป้ายระบุไว้ว่า “ลองราเม็งร้านนี้ให้ได้สามครั้งแล้วจะรู้ถึงความอร่อย” อ่านแล้วก็ขำ คิดในใจว่าถ้าลองหนแรกแล้วรู้สึกไม่อร่อยใครจะยอมมาอีกนะ ครั้งแรกฉันลองแล้วไม่รู้สึกอร่อยเลย และไม่คิดจะมาอีก แต่ก็ไม่ทราบเพราะเหตุใดจึงไปอีก ครั้งที่สองก็ยังรู้สึกว่าไม่อร่อยและรู้สึกคิดผิดที่เข้าร้าน แต่จากนั้นก็มีเหตุให้ฉันไปรอบที่สาม และจากนั้นก็รู้สึกขึ้นมาจริง ๆ ว่าราเม็งร้านนั้นก็อร่อยดี บางทีถึงกับคิดอยากรับประทานราเม็งร้านนี้ขึ้นมาอยู่บ่อย ๆ ร้านนั้นเป็นร้านราเม็งของคนจีนที่ฉันและสามีชอบมาก ๆ

ร้านราเม็งบางแห่งจะถามว่าแถมข้าวให้ฟรีหนึ่งถ้วย จะเอาไหม หรือบางทีก็มีไข่ต้มวางไว้ให้หยิบได้ฟรีเท่าที่ต้องการ หรือบางแห่งก็ให้เกี๊ยวซ่าฟรีเฉพาะบางวัน หรือบางทีก็มาในรูปแบบของคูปองเกี๊ยวซ่าหรือคูปองไข่ยางมะตูมฟรี ซึ่งได้รับแจกจากพนักงานของร้านที่ยืนโฆษณาอยู่ใกล้ ๆ ร้านเพื่อเชิญชวนให้ลูกค้าเข้าร้านเป็นต้น บางร้านถ้าไปแล้วจะได้รับคูปองลด 100 เยนสำหรับไว้ใช้คราวหน้า เหล่านี้ก็เป็นวิธีที่ได้ผลอยู่เหมือนกันสำหรับคนที่ชอบราเม็งเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

คิดถึงราเม็งทีไรก็คิดถึงญี่ปุ่นทุกที แค่ได้ตะลอน ๆ ไปลองราเม็งแต่ละร้านก็สนุกแล้วนะคะ

แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้า สวัสดีค่ะ.




"ซาระซัง"
สาวไทยที่ถูกทักผิดว่าเป็นสาวญี่ปุ่นอยู่เป็นประจำ เรียนภาษาญี่ปุ่นตั้งแต่ชั้นประถม และได้พบรักกับหนุ่มแดนอาทิตย์อุทัย เป็น “สะใภ้ญี่ปุ่น” เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.


กำลังโหลดความคิดเห็น