xs
xsm
sm
md
lg

ญี่ปุ่นกับของใช้แล้วทิ้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพจาก https://tomonishintaku.com/en/works/exhibition
คอลัมน์ "เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น" โดย "ซาระซัง"

สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านที่รักทุกท่าน ที่ผ่านมาฉันเคยเล่าถึงการให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมของคนญี่ปุ่น ความพยายามในการคัดแยกขยะให้หลากหลายที่สุด เพื่อที่จะสามารถนำกลับมาใช้ใหม่หรือกำจัดได้อย่างเหมาะสม รวมทั้งการประหยัดไฟฟ้าเพื่อลดโลกร้อน แต่ในทางกลับกันญี่ปุ่นก็มีการสืบทอดวัฒนธรรมบางอย่างมาแต่ดั้งเดิมที่ปัจจุบันกลายมาเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลือง รวมทั้งมีวัฒนธรรมรักสะอาดที่ทำให้เกิดความนิยมของใช้ประจำวันแบบใช้แล้วทิ้งด้วยเช่นกัน
ภาพจาก https://news.thaipbs.or.th/content/260201
นอกจากการรีไซเคิลอย่างเป็นระบบ ใช้ของบางอย่างซ้ำ และลดการใช้ถุงพลาสติกอย่างที่เคยเล่าไปแล้วในบทความ “ทำไมประเทศญี่ปุ่นถึงสะอาดนัก” ในชีวิตประจำวันของคนญี่ปุ่นก็ยังมีการพกกล่องข้าวของตัวเองไปจากบ้านทั้งเด็กนักเรียนและผู้ใหญ่วัยทำงาน มีกระติกน้ำสำหรับพกพา มีตะเกียบพกพา มีถุงผ้าจ่ายกับข้าวสำหรับพกพา ซึ่งก็เป็นเรื่องดีเพราะได้ใช้ของที่มีอยู่ซ้ำ

แต่ในทางตรงกันข้ามก็จะเห็นว่ายังมีการใช้ถุงพลาสติกตามร้านสะดวกซื้ออยู่มาก เรื่องถุงพลาสติกนี้ เพื่อนฉันเล่าให้ฟังว่าประเทศพัฒนาแล้วหลายแห่งไม่ให้ถุงแล้วไม่ว่าจะเป็นซูเปอร์มาร์เก็ตหรือร้านสะดวกซื้อ ถ้าจะเอาถุงพลาสติกก็ต้องซื้อเท่านั้น สำหรับญี่ปุ่นก็มีซูเปอร์มาร์เก็ตหลายแห่งมากขึ้นที่ไม่ให้ถุงพลาสติกฟรีอีกต่อไป ส่วนร้านสะดวกซื้อพนักงานบางคนก็จะถามก่อนว่าจะเอาถุงไหม จะเอาหลอดไหม เอาช้อนพลาสติกไหม และก็มีลูกค้าหลายคนที่บอกว่าไม่ต้องใส่ถุงนะ แปะแค่สก็อตเทปที่มีโลโก้ร้านก็พอ (ให้รู้ว่าจ่ายเงินแล้ว) หลาย ๆ ครั้งเวลาเราปฏิเสธถุงพลาสติกเขาก็จะกล่าวขอบคุณในเชิงเกรงอกเกรงใจ เข้าใจว่านัยหนึ่งคงจะขอบคุณที่ช่วยประหยัดถุง อีกนัยหนึ่งคือขออภัยที่ไม่ได้บริการให้ถึงที่สุด (ด้วยการใส่ถุงให้เรียบร้อยก่อนยื่นให้ลูกค้า)
ภาพจาก http://www.kankyo.sl-plaza.jp/kids/waste
ถ้าเป็นบ้านเราถุงพลาสติกจากซูเปอร์มาร์เก็ตหรือจากร้านค้ายังอาจนำมาใช้เป็นถุงขยะได้ แต่ที่ญี่ปุ่นไม่สามารถทำอย่างนั้นได้เพราะหลายเขต/จังหวัดระบุว่าต้องใช้เป็นถุงขยะใสโดยเฉพาะเท่านั้น จะขนาดกี่สิบลิตรก็ว่าไป เพราะฉะนั้นหนทางในการเอาถุงพลาสติกมาใช้ซ้ำก็น้อยลง

อย่างไรก็ดี ระยะหลังมานี้มีหน่วยงานรัฐบางท้องที่ในญี่ปุ่นที่ร่วมมือกับซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านสะดวกซื้อ โดยถุงจากร้านค้าเหล่านี้จะระบุไว้เลยว่าท้องที่นั้นอนุญาตให้ใช้ถุงนั้นเป็นถุงขยะได้ ที่ที่ฉันอยู่ในอเมริกานั้นก็สามารถใช้ถุงจากร้านค้าเป็นถุงขยะได้เหมือนที่เมืองไทย แต่ถุงจากซูเปอร์มาร์เก็ตที่ได้มาก็มีจำนวนมากมายก่ายกองเกินกว่าจะใช้เป็นถุงขยะได้ทัน เดี๋ยวนี้เราเลยพกถุงไปใส่เอง พอเห็นว่ามันทำให้เรางดการใช้ถุงพลาสติกเกินความจำเป็นไปได้หลายใบในแต่ละครั้ง ก็เลยยิ่งมีกำลังใจพกถุงไปจ่ายกับข้าวเสมอ ยิ่งได้ทราบว่าถุงและขยะพลาสติกทำร้ายสัตว์ทะเลมากขนาดไหน และยังมีการคาดการณ์ว่าในอีก 30 ปีข้างหน้าขยะพลาสติกในทะเลจะมีปริมาณมากกว่าปลา (ถ้าสนใจลองอ่านจากลิงค์ท้ายบทความนี้ได้ค่ะ) เลยยิ่งรู้สึกว่าต้องใช้พลาสติกให้น้อยที่สุด

นึกขึ้นมาได้ว่าครั้งหนึ่งที่บ้านเราฮิต “ถุงลดโลกร้อน” ก็มีคนเอาถุงผ้ามาขายกันเต็มไปหมด ฉันเคยเห็นคนเดินผ่านร้านขายข้างทางที่แปะป้ายว่า “ถุงลดโลกร้อน” เขาทำหน้าไม่เชื่อพลางเปรยว่า “ถุงผ้านี่มันจะไปลดโลกร้อนได้ยังไง” เห็นทีเราคงต้องรณรงค์กันให้เข้าใจก่อนว่าลำพังถุงเองมันลดโลกร้อนไม่ได้ แต่ต้องงดรับถุงพลาสติกจากร้านค้าแล้วเอาถุงลดโลกร้อนที่เขาขายหรือถุงอื่นที่ใช้ซ้ำได้บ่อย ๆ มาใส่ของแทนถุงพลาสติกเหล่านั้น
ภาพจาก https://www.frostedfeather.com/single-post/2017/07/03/Plastic-Free-July-4-takeaways-to-reduce-takeaway-plastic-consumption
เพื่อนผู้อ่านที่รักคงเคยจับจ่ายซื้อขนมมาจากญี่ปุ่นหรือเป็นฝ่ายได้รับเองบ้างไม่มากก็น้อย คงทราบดีว่าขนมห่อหนึ่ง ๆ มีการบรรจุภัณฑ์แยกชิ้นภายในอีก และถ้าเป็นขนมสำหรับซื้อฝาก หรือขนมทำใหม่ ๆ ของร้านโดยเฉพาะก็ต้องใส่กล่องแล้วห่ออย่างประณีตบรรจงเหมือนห่อของขวัญอีกชั้นหนึ่ง วัฒนธรรมเรื่องการห่อของในญี่ปุ่นนั้นมีมานาน สมัยก่อนเขาจะใช้ผ้าห่อของแทน เดี๋ยวนี้คงเพราะมีกระดาษให้ใช้ ใช้ง่าย สะดวกกว่า ความนิยมกระดาษจึงเข้ามาแทนที่ผ้าเหล่านั้นไป แต่บรรจุภัณฑ์ขนมทั้งพลาสติกและกระดาษเหล่านี้จะเอามาใช้ซ้ำก็ไม่ได้ กลายเป็นของใช้แล้วทิ้งไปอย่างน่าเสียดาย

ที่เกียวโตมีกลุ่มที่เขาจัดประกวดไอเดียการห่อขนมของฝากที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่สุดโดยที่ยังคงเอกลักษณ์ความเป็นเกียวโตอยู่ โครงการนี้มีเป้าหมายเพื่อลดขยะ ลดการใช้กระดาษและพลาสติกลง และสร้างจิตสำนึกเรื่องการห่อของกับสิ่งแวดล้อม ฉันว่าเป็นไอเดียที่เข้าท่าและสร้างสรรค์มากเลย ถ้าไอเดียนี้ได้ผลและมีการต่อยอดไปปรับใช้ทั่วประเทศก็คงจะดี
ภาพจาก http://kyoto-gomigen.jp
ของใช้อีกอย่างหนึ่งที่นิยมใช้แล้วทิ้งกันมากในชีวิตประจำวันคนญี่ปุ่นคืออะไร พอจะเดาออกกันไหมคะ บอกใบ้ให้ว่าเมื่อก่อนเราจะเห็นของสิ่งนี้ในร้านอาหารญี่ปุ่น แต่เดี๋ยวนี้จะเห็นตามร้านอาหารสัญชาติอื่น ๆ กันมากขึ้นจนชินตาโดยเฉพาะร้านอาหารเอเชีย (แต่ฉันยังไม่เคยเห็นตามร้านอาหารเกาหลีเลย) และยังเห็นทั่วไปในหลายประเทศด้วย เวลาจะใช้ต้องเอาสองมือจับแล้วดึงให้แยกออกจากกัน ...ใช่แล้วค่ะ มันคือ ตะเกียบแบบใช้แล้วทิ้ง นั่นเอง

ฉันเคยถามคนญี่ปุ่นว่าทำไมถึงต้องใช้ตะเกียบแบบใช้แล้วทิ้งด้วยในเมื่อเราก็สามารถล้างตะเกียบไม้หรือตะเกียบพลาสติกแล้วนำมาใช้ใหม่ได้ ก็ได้คำตอบว่ากลัวว่าตามร้านจะล้างตะเกียบไม่สะอาด แต่ถ้าเป็นตะเกียบใช้แล้วก็มั่นใจได้ว่าเป็นของใหม่ ของใครก็ของมัน ไม่มีการนำมาใช้ซ้ำ ฉันฟังแล้วก็งงว่าทำไมกลัวแต่ตะเกียบไม่สะอาด ไม่ยักกลัวว่าช้อนหรือชามก็อาจจะไม่สะอาดเหมือนกัน

เดิมทีญี่ปุ่นผลิตตะเกียบแบบใช้แล้วทิ้งจากไม้เหลือใช้ เช่น ไม้ส่วนที่เหลือจากการก่อสร้าง (เช่น เวลาตัดท่อนซุงให้เป็นเหลี่ยม ก็เอาส่วนที่ถูกตัดทิ้งไปมาทำตะเกียบ) หรือกิ่งไม้ที่ตัดออกเวลาต้นไม้ในป่าโตขึ้นเรื่อย ๆ แล้วไปเกยกัน ถ้าไม่ตัดออกก็จะทำให้ต้นไม้เติบโตได้ไม่เต็มที่ ซึ่งเป็นการนำเอาของที่เหลือทิ้งมาใช้ประโยชน์ได้อย่างสร้างสรรค์ สมัยโบราณจะใช้ตะเกียบใช้แล้วทิ้งกันในร้านน้ำชาหรือร้านอาหารที่มีชื่อเสียงเท่านั้น

แต่ปัจจุบันญี่ปุ่นใช้ตะเกียบแบบใช้แล้วทิ้งถึงปีละประมาณ 2.5 หมื่นล้านคู่! ถ้าเราเอาตะเกียบพวกนี้แต่ละคู่มาแยกชิ้นและเรียงต่อกันจะได้ความยาวทั้งหมด 10 ล้านกิโลเมตร สามารถเอามาพันรอบเส้นศูนย์สูตรโลกได้ถึง 250 รอบ ตะเกียบใช้แล้วทิ้ง 2.5 หมื่นล้านคู่ยังเทียบได้กับปริมาณของต้นไม้ที่สามารถนำมาสร้างบ้านอยู่อาศัยได้ถึง 17,000 หลังเลยทีเดียว
ภาพจาก https://www.youtube.com/watch?v=jne9K21w8JM
ในญี่ปุ่นไม่มีการตัดต้นไม้ทั้งต้นเพื่อมาทำเป็นตะเกียบแบบใช้แล้วทิ้ง ไม้ที่นำมาทำตะเกียบเหล่านี้จึงมาจากต่างประเทศเกือบทั้งสิ้น คิดเป็นอัตราส่วนถึงร้อยละ 97 สาเหตุใหญ่ที่นำเข้าก็เนื่องมาจากต้นทุนที่ถูกกว่า และต่างประเทศยังสามารถตัดไม้กันเป็นต้น ๆ มาทำตะเกียบได้ด้วย แต่ไม้เหล่านี้ถูกใช้เพียงครั้งเดียวแล้วทิ้งไปเป็นขยะทุกปีอย่างน่าเสียดาย

ยิ่งไปกว่านั้นปัจจุบันความนิยมใช้ตะเกียบใช้แล้วทิ้งแบบนี้ยังแพร่หลายไปทั่วโลก นั่นหมายความว่าปีหนึ่ง ๆ มีป่าไม้จำนวนมหาศาลที่ถูกทำลายเพียงเพื่อจะกลายสภาพมาเป็นตะเกียบใช้แล้วทิ้ง เมื่อสมดุลธรรมชาติถูกทำลาย ภาวะโลกร้อนยิ่งรุนแรง อากาศวิปริตรุนแรง ก็หมายความว่ามีผู้คนที่ประสบภัยธรรมชาติมากขึ้น เจอดินถล่ม และอุทกภัยรุนแรงมากขึ้นด้วย

ตะเกียบไม้ใช้แล้วทิ้งจากแหล่งผลิตบางแห่งยังเต็มไปด้วยสารเคมีจากการฟอกสีและยาฆ่าเชื้อราในปริมาณสูงเกินกว่าที่กำหนดไว้หลายเท่า โดยสารเหล่านี้จะละลายออกมาเมื่อถูกแช่ในน้ำร้อนเกิน 30 นาทีขึ้นไป บางแห่งก็ไม่มีการควบคุมเรื่องสุขอนามัย ก่อนจะบรรจุตะเกียบเป็นแพ็คส่งมาขายก็ถูกตากไว้กลางแจ้งสถานที่ที่ไม่ได้ควบคุม ซึ่งมีหนู มีแมลงสาบป้วนเปี้ยนอยู่ด้วย ฉันเห็นภาพถ่ายเหล่านั้นแล้วก็ได้แต่ร้องอี๋ ที่หลายคนคิดว่าการใช้ตะเกียบแบบใช้แล้วทิ้งสะอาดกว่าตะเกียบที่ล้างแล้วใช้ใหม่ตามร้านอาหารจึงไม่เป็นความจริงเสมอไป
ภาพจาก https://www.annekatrin.info/enviro-chopsticks.html
(ข้ัอความในภาพระบุว่า ทุกครั้งที่คุณทานซูชิ, เกี๊ยวกุ้ง หรือผัดไทย คุณอาจมีส่วนทำให้ป่าไม้ที่ใช้เวลาปลูกมานานสูญเสียไป และสร้างภาวะโลกร้อน)

ปัจจุบันหลายประเทศมีการรณรงค์เรื่องการไม่ใช้ตะเกียบใช้แล้วทิ้งหรือพกตะเกียบเอง หลายปีก่อนญี่ปุ่นเองก็พยายามสร้างกระแส “My Hashi” หรือ “ตะเกียบส่วนตัว” ถ้าเรียกให้เข้าใจง่ายก็หมายถึงตะเกียบพกพานั่นเอง เวลาไปร้านอาหารที่ไหน หรือซื้ออาหารกล่อง หรือซื้ออาหารจากร้านสะดวกซื้อ แล้วเขาให้ตะเกียบใช้แล้วทิ้งมาก็ไม่รับ ก็เอาตะเกียบพกพาของตัวเองนี่แหละออกมาใช้ แล้วค่อยเอากลับบ้านไปล้างแล้วเอากลับมาใช้ใหม่ ซึ่งแก้ปัญหาได้ทั้งเรื่องไม่ต้องสิ้นเปลืองทรัพยากรโดยใช่เหตุ รวมทั้งไม่ต้องห่วงเรื่องความสะอาดด้วย

เสียดายที่กระแสนี้ดูเหมือนจะบูมอยู่พักเดียวแล้วก็ซาลงไป แม้ปัจจุบันจะมีมุมขายตะเกียบในร้านขายของจุกจิกบางแห่งตั้งป้ายไว้ว่าเป็น “My Hashi” ก็ยังรู้สึกว่าความคิดนี้ไม่ได้เป็นที่นิยมกันมากเท่าใดนัก ในบรรดาเพื่อนชาวญี่ปุ่นที่ฉันรู้จักมีเพื่อนผู้ชายคนเดียวเท่านั้นที่พกตะเกียบ แต่แม้จะเป็นเพียงคนเดียวแต่การปฏิเสธตะเกียบใช้แล้วทิ้งของเขาก็คงลดปริมาณตะเกียบที่ใช้แล้วทิ้งไปได้เป็นร้อย ๆ คู่ในแต่ละปี ถ้าคนเป็นแสนเป็นล้านทั่วโลกมีค่านิยมเดียวกันเช่นนี้ ปีหนึ่ง ๆ เราคงชะลอการตัดไม้ทำลายป่าไปได้มากโข รวมทั้งลดการสร้างขยะให้โลกไปได้ตั้งไม่รู้ตั้งเท่าไหร่นะคะ

ด้านล่างนี้เป็นข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องขยะพลาสติกเผื่อมีเพื่อนผู้อ่านท่านไหนสนใจค่ะ (อ่านแล้วจะอยากเลิกใช้พลาสติกเลยทีเดียว) แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้า สวัสดีค่ะ. 

งานวิจัยเผยปี 2050 ปริมาณขยะพลาสติกมากกว่าจำนวนปลาในมหาสมุทรทั่วโลก
หลอดน้ำพลาสติก ขยะชิ้นเล็กที่สังคมไม่ควรมองข้าม




"ซาระซัง"
สาวไทยที่ถูกทักผิดว่าเป็นสาวญี่ปุ่นอยู่เป็นประจำ เรียนภาษาญี่ปุ่นตั้งแต่ชั้นประถม และได้พบรักกับหนุ่มแดนอาทิตย์อุทัย เป็น “สะใภ้ญี่ปุ่น” เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.


กำลังโหลดความคิดเห็น