xs
xsm
sm
md
lg

การทูตแบบผีหลอกคน

เผยแพร่:   โดย: โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์


ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies


เกริ่นนำ

หากมองในมุมหนัก ๆ ว่าด้วยการทูตที่เกี่ยวกับญี่ปุ่นระยะนี้ คงหนีไม่พ้นเรื่องผู้นำอเมริกาเยือนญี่ปุ่นช่วงวันที่ 5-7 พฤศจิกายน โดยแบกประเด็นเกาหลีเหนือไปคุยด้วย ส่วนทางด้านญี่ปุ่นนั้น หลังจากการเลือกตั้งทั่วไปเสร็จสิ้นไม่นาน เรื่องเกาหลีเหนือก็ผุดขึ้นมาเป็นข่าวอีกระลอกเมื่อประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ประกาศกร้าวว่า “ปัญหาใหญ่มาก ๆ ของเรามีชื่อว่าเกาหลีเหนือ” ก่อนออกเดินทางสู่ญี่ปุ่น

แน่นอนว่าประธานาธิบดีทรัมป์จะหารือเรื่องเกาหลีเหนือกับประเทศในเอเชียตะวันออก โดยเฉพาะกับญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ซึ่งหวาดหวั่นขีปนาวุธเกาหลีเหนือ และจะคุยกับจีนด้วย ซึ่งจีนก็เป็นหนึ่งในหลายประเทศที่นายทรัมป์จะเยือนในครั้งนี้ แต่อันที่จริง เมื่อพิจารณาด้านการทูตแล้ว มองได้ว่าการปะทะกันระหว่างอเมริกากับเกาหลีเหนือคงเกิดขึ้นยากแม้มีการขู่กันไปขู่กันมาด้วยคำพูดของผู้นำก็ตาม และเรื่องราวคงซา (อาจจะไม่จบ) ลงด้วยการต่อรอง แต่จะออกมาในรูปแบบไหนนั้น ยังต้องจับตาดูกันต่อไป

หากผละจากมุมหนักและเบนสายตาไปหาเรื่องทำนองเดียวกันในมุมที่บันเทิงขึ้นมาหน่อย ก็ทำให้นึกถึงเรื่องเล่าสั้น ๆ ที่สะท้อนชั้นเชิงการต่อรองได้ดีเรื่องหนึ่ง จึงอยากให้ลองอ่านดูว่าเรื่องคนต่อรองกับผีจะเทียบเคียงกับชีวิตจริงกันอย่างไร ส่วนใครจะตีความเป็นแบบไหนก็แล้วแต่วิจารณญาณของแต่ละคน

เรื่องนี้เป็นฝีมือการบันทึกของนักเขียนชาวตะวันตก ซึ่งว่ากันว่าประมวลจากเรื่องเล่าของคนญี่ปุ่น ไม่ใช่เรื่องที่แต่งขึ้นเอง ผู้บันทึกเรื่องนี้คือบุคคลที่ทำให้ญี่ปุ่นเป็นที่รู้จักกว้างขวางยิ่งขึ้นในโลกตะวันตกสมัยนั้น คนผู้นี้เกิดที่ประเทศกรีซเมื่อปี 1850 เป็นลูกครึ่งไอริช-กรีก และด้วยเงื่อนไขทางครอบครัว จึงย้ายไปอยู่ที่ไอร์แลนด์ ในวัยผู้ใหญ่ทำงานเป็นนักข่าวหนังสือพิมพ์และนักเขียน เคยใช้ชีวิตทั้งในอเมริกาและฝรั่งเศสก่อนจะเดินทางมาญี่ปุ่นและตั้งรกราก จนถึงแก่กรรมเมื่ออายุได้ 54 ปี คนผู้นี้คือ ลาฟคาดิโอ เฮิร์น (Lafcadio Hearn)
ลาฟคาดิโอ เฮิร์น หรือ โคะอิซุมิ ยะกุโมะ (1850-1904)
ลาฟคาดิโอ เฮิร์นไปญี่ปุ่นเมี่อปี 1890 สมัยนั้นโลกตะวันตกรู้จักญี่ปุ่นน้อยมาก นักเขียนผู้นี้รวบรวมเรื่องเกี่ยวกับญี่ปุ่นในด้านคติชนและความเชื่อ ได้แก่ เรื่องลี้ลับ ภูตผีและวิญญาณ โดยเขียนเผยแพร่เป็นภาษาอังกฤษ ระหว่างที่เฮิร์นอยู่ในญี่ปุ่นก็มีชื่อญี่ปุ่นด้วยคือ โคะอิซุมิ ยะกุโมะ (小泉八雲; Koizumi, Yakumo) แต่งงานกับหญิงญี่ปุ่น และเคยสอนในสถาบันการศึกษาของญี่ปุ่นหลายแห่ง เช่น มหาวิทยาลัยโตเกียว มหาวิทยาลัยวะเซดะ
โคะอิซุมิ ยะกุโมะ กับภรรยาชาวญี่ปุ่น
งานเขียนของโคะอิซุมิ ยะกุโมะนั้น เจ้าตัวเขียนเป็นภาษาอังกฤษ ต่อมาคนญี่ปุ่นจึงแปลเป็นภาษาญี่ปุ่นอีกที ในบรรดางานเขียนมากมายเกี่ยวกับญี่ปุ่น เรื่องที่ดังที่สุดคือ “นางหิมะ” ซึ่งกล่าวได้ว่าหากใครผ่านการศึกษาภาคบังคับในญี่ปุ่นมา ไม่มีใครไม่รู้จักเรื่องนี้ (www.manager.co.th/Japan/ViewNews.aspx?NewsID=9590000008385) และมีอยู่เรื่องหนึ่งซึ่งดังน้อยกว่า ทว่าสะท้อนแง่มุมการทูตได้อย่างน่าสนใจ ผู้เขียนตั้งชื่อว่า Diplomacy ซึ่งแปลว่า การทูต หรือศิลปะการต่อรองอย่างมีชั้นเชิง หรือในบางกรณีจะเรียกว่ากุศโลบายก็แล้วแต่บริบท โดยมีเนื้อเรื่องดังนี้

ต่อรอง

มีคำสั่งลงมาว่า การประหารจะมีขึ้นที่สวนในอาณาบริเวณของคฤหาสน์ ชายผู้ต้องโทษประหารจึงถูกนำตัวไปที่นั่น และถูกบังคับให้คุกเข่าลงในที่โล่งกว้างอันเป็นพื้นทรายซึ่งมีแนวหินเหยียบที่เรียกว่า “โทะบิอิชิ” วางเรียงพาดผ่านดังที่อาจจะยังเห็นได้ในสวนภูมิทัศน์แบบญี่ปุ่น แขนของเขาถูกมัดไพล่หลัง สมุนผู้ติดตามนายนำน้ำใส่ถังมา นำกระสอบข้าวที่บรรจุกรวดมา แล้วนำกระสอบไปผูกติดไว้รอบตัวชายผู้ที่กำลังคุกเข่าอยู่เพื่อถ่วงตัวไว้ไม่ให้ดิ้น เมื่อนายมาตรวจตราการตระเตรียม ก็รู้สึกว่าเป็นที่น่าพอใจ และมิได้เอ่ยคำใด

ทันใดนั้น ชายผู้ถูกตัดสินลงโทษก็ร้องใส่เขา

“ท่านที่เคารพ ความผิดที่ข้าถูกตัดสินลงโทษประหารนั้น ข้าไม่ได้เจตนาจะทำ ... มันเป็นแค่ความโง่เขลาอย่างเหลือล้นของข้าเท่านั้นที่ทำให้เกิดความผิดพลาดขึ้นมา ข้าเกิดมาโง่เพราะผลกรรมของข้า ข้าก็เลยทำผิดพลาดอยู่เสมออย่างเลี่ยงไม่ได้ แต่การประหารคนคนหนึ่งเพราะความโง่ของคนผู้นั้นโง่เป็นสิ่งที่ผิด และสิ่งผิดนั้นจะต้องถูกตอบสนอง ฉะนั้น แน่ทีเดียวว่า ถ้าท่านประหารข้า ข้าจะกลับมาล้างแค้นเพราะความเคียดแค้นที่ท่านบันดาลให้บังเกิด แล้วความชั่วร้ายจะถูกสนองด้วยความชั่วร้าย”

ถ้าใครสักคนถูกฆ่าขณะที่เต็มไปด้วยโทสะรุนแรง ผีจากคนผู้นั้นจะมาแก้แค้นคนที่ฆ่าเขาได้ ซามูไรรู้เรื่องนี้ เขาตอบกลับไปอย่างอ่อนโยนยิ่งนัก...แทบจะเป็นการปลอบประโลม

“พวกเราจะปล่อยให้เจ้ามาหลอกหลอนได้มากเท่าที่เจ้าจะพอใจหลังจากที่เจ้าตายไปแล้ว แต่ว่ามันยากอยู่ที่จะเชื่อว่าเจ้าหมายความตามที่พูดจริง ๆ ไหนเจ้าลองแสดงอาการอะไรออกมาให้เห็นสักหน่อยสิว่าเจ้าเคืองแค้นหนักหนาหลังจากที่ถูกกุดหัว...”
“วอนนักนะ เดี๋ยวข้าจะแสดงให้ดู” ชายคนนั้นตอบ
“ดีมาก” ซามูไรพูดพลางวาดดาบเล่มยาวของตน “ข้าจะตัดหัวเจ้าเสียเดี๋ยวนี้ มีหินเหยียบอยู่ตรงหน้าเจ้าพอดิบพอดี พอหัวถูกตัด ไหนลองกัดหินดูสิ ถ้าผีเคียดแค้นของเจ้าช่วยให้เจ้าทำอย่างนั้นได้ ก็คงจะมีใครสักคนในหมู่พวกเรานี่กลัวขึ้นมากระมัง เจ้าจะลองงับหินนั่นดูไหมเล่า”
“ข้าจะกัดหินนั่นให้ดู” ชายคนนั้นร้องด้วยความโกรธจัด “ข้าจะกัดมัน! ข้าจะกัด”

เกิดแสงแปลบปลาบ เกิดเสียงขวับ ๆ และมีเสียงกระทบดังตุ้บ ร่างที่ถูกผูกอยู่ค้อมลู่ลงสู่กระสอบข้าว กระแสเลือดสองสายยาวฉีดพุ่งจากคอที่ถูกตัด แล้วหัวก็กลิ้งหลุน ๆ บนทราย มันกลิ้งไปสู่หินเหยียบอย่างหนักหนืด แล้วทันใดนั้นก็กระดอนขึ้น งับเข้าที่ขอบด้านบนของหิน ขย้ำสุดแรงและคาอยู่อย่างนั้นครู่หนึ่ง ก่อนจะวูบอ่อนแรงลง

ไม่มีใครพูดอะไรออกมา แต่บรรดาผู้ติดตามจ้องมองด้วยความสะพรึงไปที่นายของตนซึ่งดูเหมือนมิได้ใส่ใจเท่าใดนัก เขาเพียงแต่ยื่นดาบไปยังสมุนผู้อยู่ใกล้สุด ซึ่งเป็นคนที่เทน้ำจากกระบวยไม้รดลงบนดาบตั้งแต่ด้ามถึงปลาย แล้วเช็ดเหล็กกล้าเล่มนั้นหลายครั้งอย่างระมัดระวังด้วยกระดาษแผ่นนุ่ม และนั่นเป็นอันว่าสิ้นสุดเหตุการณ์ในส่วนที่เป็นพิธีการ

หลายเดือนหลังจากนั้น เหล่าสมุนและคนรับใช้ประจำคฤหาสน์ต่างตกอยู่ท่ามกลางความกลัวไม่จบสิ้นว่าผีจะมาหลอกหลอน ทุกคนปักใจเชื่อว่าการแก้แค้นที่ถูกมาดหมายนั้นจะมาถึง พากันอกสั่นขวัญแขวนไม่หยุดหย่อน เป็นเหตุให้ผู้คนเหล่านั้นได้ยินได้เห็นอะไรมากมายที่มิได้มีอยู่จริง คนเหล่านั้นหวาดกลัวเสียงลมในกอไผ่ ผวาแม้กระทั่งเงาวูบวาบในสวน ในที่สุด หลังจากปรึกษากันแล้ว ก็ตัดสินใจว่าจะร้องขอต่อนายของตนให้อุทิศส่วนกุศลแก่วิญญาณแค้น

“ออกจะไม่จำเป็น” ซามูไรพูดเมื่อหัวหน้าสมุนของเขาเอ่ยความต้องการของพวกตน “ข้าเข้าใจว่าความอาฆาตมาดร้ายของชายที่ตายไปคงเป็นสาเหตุที่ทำให้พวกเจ้าหวาดกลัว แต่ในกรณีนี้ไม่มีอะไรต้องกลัวทั้งนั้น”

สมุนมองนายของตนอย่างเว้าวอน แต่ก็ลังเลที่จะถามเหตุผลของความเชื่อมั่นอันน่าตระหนกนี้

“อ้อ เหตุผลน่ะรึ ง่ายจะตายไป” ซามูไรประกาศเมื่อเดาได้ชัดถึงความสงสัยที่ไม่ได้ถูกเอ่ยออกมา “สิ่งที่จะเป็นอันตรายก็คือความตั้งใจในวาระสุดท้ายของเจ้านั่นเท่านั้นเอง ตอนที่ข้าท้าให้เขาแสดงอาการออกมา ข้าได้เบี่ยงเบนจิตใจที่คิดจะแก้แค้นนั่นเสีย เขาตายขณะที่มีความมุ่งมั่นแน่ชัดว่าจะกัดหินเหยียบ แล้วเขาก็ทำความมุ่งหมายนั้นให้สำเร็จลงได้ ก็แค่นั้นแหละ ไม่มีอะไรอีกแล้ว ทุกอย่างที่เหลือ เขาย่อมลืมไปหมดแล้วแน่ ๆ ฉะนั้นพวกเจ้าไม่ต้องวิตกกังวลอันใดอีกต่อไปเกี่ยวกับเรื่องนี้”

และอันที่จริง ชายที่ตายไปก็ไม่ได้สร้างปัญหาอันใดอีก ไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลยจริง ๆ

**********
คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.mgronline.com

กำลังโหลดความคิดเห็น