xs
xsm
sm
md
lg

ศึกการเมืองเบื้องหลังโตเกียวโอลิมปิก 2020

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


การเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกของกรุงโตเกียวในปี 2020 เผชิญกับเรื่องอื้อฉาวมาตลอด โดยเฉพาะงบประมาณจัดการแข่งขันที่สูงมากจนถูกวิจารณ์ว่าจะเป็นภาระของประชาชน แต่เบื้องหลังเรื่องนี้คือ ศึกวัดบารมีทางการเมืองระหว่างกลุ่มขั้วอำนาจในพรรครัฐบาลของญี่ปุ่น

การประชุม 4 ฝ่ายในการเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกของกรุงโตเกียวเมื่อสัปดาห์ที่แล้วดุเดือดยิ่งกว่าศึกอภิปรายในรัฐสภา เมื่อต่างฝ่ายต่างไม่ลดราวาศอกจนทำให้ที่ประชุมตกลงกันไม่ได้ และต้องเลื่อนการตัดสินใจเรื่องสถานที่จัดการแข่งขันกีฬาและงบประมาณออกไป
 นางทะมะโยะ มารุคาวะ รมต.ผู้รับผิดชอบงานโตเกียวโอลิมปิก, นายโยชิโร โมริ ประธานคณะกรรมการจัดมหกรรมกีฬาโตเกียวโอลิมปิก, นางยุริโกะ โคะอิเกะ ผู้ว่าการกรุงโตเกียว และนายจอห์น โคเทส์ รองประธานคณะกรรมการโอลิมปิกสากล
ผู้เกี่ยวข้อง 4 ฝ่ายในการจัดงานโตเกียวโอลิมปิก ประกอบด้วย 1.รัฐมนตรีที่รับผิดชอบการจัดมหกรรมกีฬาโตเกียวโอลิมปิก ซึ่งเป็นตัวแทนรัฐบาลกลางของญี่ปุ่น 2.ผู้ว่าการกรุงโตเกียว 3.ประธานคณะกรรมการจัดมหกรรมกีฬาโตเกียวโอลิมปิก และ 4.ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกสากล หรือ IOC

ผู้ที่มีบทบาทมากที่สุด คือ นางยุริโกะ โคะอิเกะ ผู้ว่าการกรุงโตเกียว และ นายโยชิโร โมริ ประธานคณะกรรมการจัดมหกรรมกีฬาโตเกียวโอลิมปิก ทั้งคู่ปะทะคารมกันอย่างดุเดือดจนไม่น่าเชื่อว่าต่างเคยร่วมงานกันในพรรคเสรีประชาธิปไตย ซึ่งเป็นแกนนำรัฐบาลญี่ปุ่นมาก่อน

ทันทีที่ นางยุริโกะ โคะอิเกะ ผู้ว่าการกรุงโตเกียว เข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนสิงหาคม เธอได้จัดตั้งคณะกรรมการเพื่อทบทวนค่าใช้จ่ายของการเตรียมงานโอลิมปิกและพาราลิมปิกโตเกียว 2020 ผลการตรวจสอบคณะกรรมการชุดนี้ พบว่าค่าใช้จ่ายสำหรับการจัดงานนั้นอาจจะสูงกว่าที่ประเมินไว้เดิมถึง 4 เท่า เป็นมากกว่า 3 ล้านล้านเยน หรือ ราว 1 ล้านล้านบาท และเสนอให้มีการยกเครื่องครั้งใหญ่เพื่อควบคุมค่าใช้จ่าย

แผนตัดลดงบประมาณของนางโคะอิเกะ คือ การย้ายสถานที่การแข่งขันหลายรายการออกไปนอกกรุงโตเกียว แนวคิดของเธอได้รับการสนับสนุนจากบรรดาผู้ว่าการจังหวัดต่างๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นพื้นที่เคยประสบภัยแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิถล่มเมื่อ 5ปีก่อน
ผู้ว่าการจาก 6 จังหวัดได้ยื่นหนังสือต่อนางโคะอิเกะ
ผู้ว่าการและรองผู้ว่าการจาก 6 จังหวัดได้ยื่นหนังสือต่อนางโคะอิเกะ ระบุว่า การใช้พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติแข่งขันกีฬาบางประเภทในโอลิมปิก จะช่วยฟื้นฟูพื้นที่ได้อย่างมาก

หนังสือของผู้ว่าการจาก 6 จังหวัดยังเรียกร้องให้ใช้วัสดุการก่อสร้างและใช้ผลิตภัณฑ์อาหารจากพื้นที่ประสบภัยเพื่อช่วยพื้นที่เศรษฐกิจในพื้นที่ รวมทั้งบรรจุเทศกาลและการแสดงศิลปะแบบดั้งเดิมของภูมิภาคเข้าไว้ในกิจกรรมของมหกรรมกีฬาโอลิมปิกด้วย

ศูนย์กีฬาทางน้ำ อภิมหาโครงการผลาญงบประมาณ

การเจรจาต่อรองระหว่างผู้เกี่ยวข้องทั้ง 4ฝ่ายตกลงกันได้เบื้องต้นว่า จะย้ายการแข่งขันกีฬาบางประเภทไปนอกกรุงโตเกียว เช่น เบสบอลและซอฟบอลในสนามแข่งที่เมืองโยโกฮะมะ, คาราเต้ใช้สนามแข่งเมืองบูโดคัน

โครงการก่อสร้างที่เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์มากที่สุด คือ ศูนย์กีฬาทางน้ำที่ริมชายฝั่งทะเลของกรุงโตเกียว ซึ่งใช้ชื่อว่า “ป่าแห่งท้องทะเล” 海の森水上競技場 ซึ่งจะใช้แข่งขันพายเรือ,เรือแคนู และว่ายน้ำ ที่มีมูลค่าการก่อสร้างสูงถึง 50,000 ล้านเยน หรือกว่า 17,000ล้านบาท และยังมีค่าบำรุงรักษาที่แพงมาก

นางยุริโกะ โคะอิเกะ ผู้ว่าการกรุงโตเกียว ได้เสนอให้ย้ายสถานที่จัดการแข่งขันไปยังสถานที่ที่มีอยู่แล้วในจังหวัดมิยะงิ ทางตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เคยประสบภัยแผ่นดินไหวและคลื่นยักษ์สึนามิ แต่ข้อเสนอนี้ก็ต้องตกไป เพราะฝ่ายนายโยชิโร โมริ ประธานคณะกรรมการจัดมหกรรมกีฬาโตเกียวโอลิมปิก อ้างว่าหากยกเลิกโครงการอาจต้องจ่ายค่าชดเชยกว่า 10,000 ล้านเยนให้กับบริษัทเอกชนที่รับงานก่อสร้างไปแล้ว

โครงการศูนย์กีฬาทางน้ำจึงเดินหน้าต่อตามที่วางแผนไว้แต่เดิม แต่จะลดค่าใช้จ่ายในการก่อสร้าง โดยลดที่นั่งผู้ชมจาก 20,000 ที่นั่ง เป็น 15,000 ที่นั่ง

เช่นเดียวกับ สนามแข่งขันวอลเลย์บอลที่มีมูลค่าสูงถึง 40,400 ล้านเยน ซึ่งนางโคะอิเกะเสนอให้ใช้สนามที่เมืองโยโกะฮะมะแทน แต่นายโมริคัดค้านสุดตัว จนทำให้ที่ประชุมต้องเลื่อนการตัดสินใจไปจนถึงช่วงวันคริสต์มาส

“รอยแค้นรอวันชำระ”

มหกรรมกีฬาโอลิมปิกควรจะเป็นเรื่องทึ่น่าภาคภูมิใจสำหรับชาวญี่ปุ่นทั้งประเทศ หากแต่การปะทะกันอย่างไม่ไว้หน้าระหว่างนางยุริโกะ โคะอิเกะ และนายโยชิโร โมริ ถูกมองว่ามี “การเมืองเมืองหลัง”

นางโคะอิเกะเคยเป็นอดีตรัฐมนตรีกระทรวงการป้องกันประเทศ ขณะที่นายโมริคืออดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งร่ำลือกันว่าเป็นผู้มากบารมีในระดับที่นายกฯชินโซ อะเบะยังต้องเกรงใจ

ทั้งคู่เคยมีบทบาทนำในพรรคเสรีประชาธิปไตย หรือ LDP ที่เป็นรัฐบาลญี่ปุ่นมาหลายทศวรรษ อย่างไรก็ตามภายในพรรค LDP ก็แบ่งเป็นหลาย ”มุ้ง” ซึ่งต่างแย่งชิงอำนาจและเป็นศึกภายในพรรคมาตลอด

ในศึกเลือกตั้งผู้ว่าการกรุงโตเกียวครั้งที่ผ่านมา นางโคอิเกะต้องการจะลงสมัครในฐานะตัวแทนของพรรครัฐบาล LDP หากแต่ที่ประชุมใหญ่ของพรรคกลับไม่สนับสนุนเธอและหันไปรับรองผู้สมัครรายอื่น นอกจากนี้ยังระบุว่าหากสมาชิกพรรครายใดไปช่วยนางโคอิเกะหาเสียงจะต้องถูกลงโทษฐานฝ่าฝืนมติพรรค

แต่แล้วนางโคอิเกะสามารถชนะเลือกตั้งอย่างท่วมท้น เป็นผู้ว่าการหญิงคนแรกของกรุงโตเกียว ทำให้บารมีของเธอเปี่ยมล้นขึ้นอีกครั้ง และเธอไม่เคยลืมว่าพรรค LDP ไม่เพียงไม่สนับสนุนเธอ แต่ยังเป็นคู่แข่งและขัดขวางเส้นทางการเมืองของเธอด้วย

หากเทียบชั้นทางการเมืองแล้ว นายโมริมีอาวุโสและบารมีทางการเมืองสูงกว่านางโคะอิเกะอย่างแน่นอน แต่ที่นางโคะอิเกะอาจหาญท้าทายเสือเฒ่าอย่างนายโมริ ไม่เพียงเพราะเธอมีบุคคลสำคัญที่หนุนหลังอยู่ คือ นายจุนนิชิโร โคอิสุมิ อดีตนายกฯญี่ปุ่น

แต่ที่สำคัญคือ เธอมั่นใจว่า ชาวญี่ปุ่นจำนวนมากเชื่อว่าโครงการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกใช้งบประมาณอย่างฟุ่มเฟือยมหาศาล ซึ่งบรรดานักการเมืองต่างคอยจ้อง “ทำมาหากิน” กับโครงการต่างๆ สิ่งเหล่านี้อาจถือเป็นการ “คอร์รับชั่นเชิงนโยบาย” โดยหากไม่มีความแค้นทางการเมืองที่จุดชนวนขึ้น เงินภาษีจำนวนมหาศาลก็คงถูกล้างผลาญไปในนามของความยิ่งใหญ่แห่งมหกรรมกีฬาโอลิมปิกเพื่อศักดิ์ศรีของชาวญี่ปุ่น.
กำลังโหลดความคิดเห็น