xs
xsm
sm
md
lg

ชาวย่างกุ้งเดินขบวนประท้วงกดดันอาเซียนก่อนประชุมซัมมิตกับมินอ่องหล่าย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอเอฟพี - ผู้ชุมนุมประท้วงเดินขบวนผ่านใจกลางเมืองย่างกุ้งในวันนี้ (23) เรียกร้องให้ผู้นำระดับภูมิภาคยืนอยู่ข้างชาวพม่า ก่อนการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนในสุดสัปดาห์ ที่ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารคาดว่าจะเข้าร่วมด้วย

พม่าตกอยู่ในความวุ่นวายมาตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. เมื่อทหารปลดอองซานซูจี ผู้นำพลเรือนในการรัฐประหารแบบสายฟ้าแลบ มีการใช้ความรุนแรงและกำลังที่เป็นอันตรายถึงชีวิตเพื่อปราบปรามการลุกฮือทั่วประเทศ โดยกองกำลังความมั่นคงได้สังหารประชาชนไปอย่างน้อย 739 คน ในการปราบปรามที่เกิดขึ้นเกือบทุกวัน ตามการระบุของกลุ่มตรวจสอบท้องถิ่น

พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำการรัฐประหารมีกำหนดเข้าร่วมการประชุมซัมมิตกับผู้นำระดับภูมิภาคในวันเสาร์นี้ (24) เพื่อแก้ไขวิกฤตที่ขยายตัวขึ้นของพม่า

การประชุมของผู้นำและรัฐมนตรีต่างประเทศของอาเซียน เรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางจากนักเคลื่อนไหว กลุ่มสิทธิมนุษยชน และผู้ชุมนุมประท้วงต่อการเข้าร่วมการประชุมของรัฐบาลทหาร

ในนครย่างกุ้ง ศูนย์กลางทางการค้าของพม่า ที่ความเคลื่อนไหวต่อต้านการรัฐประหารเริ่มลดน้อยลงในช่วงหลายสัปดาห์มาเนื่องจากกลัวการปราบปราม แต่ผู้ชุมนุมประท้วงได้กลับลงสู่ท้องถนนอีกครั้งพร้อมชูสามนิ้วแสดงการต่อต้าน

“แม่ซู และผู้นำ ปล่อยตัวพวกเขาเดี๋ยวนี้! เราต้องการอะไร? เราต้องการประชาธิปไตย!” ผู้ชุมนุมร้องตะโกนขณะเดินขบวนผ่านเจดีย์สุเลใจกลางย่างกุ้งไปอย่างรวดเร็ว

ผู้ชุมนุมประท้วงมาจากย่านต่างๆ ของย่างกุ้ง บางคนถือป้ายที่มีข้อความเขียนว่า “อาเซียนได้โปรดยืนอยู่กับชาวพม่า” และ “อาเซียนต้องการเลือดมากกว่านี้..เพื่อให้ตัดสินใจได้อย่างถูกต้องหรือ?”

รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ รัฐบาลเงาที่ตั้งขึ้นโดยกลุ่มสมาชิกสภาพม่าที่ถูกปลด ก็แสดงความไม่พอใจที่อาเซียนเชิญมิน อ่อง หล่าย เข้าร่วมการประชุม และเมื่อวันพฤหัสฯ พวกเขาได้เรียกร้องให้อินเตอร์โพลจับกุมพล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย วันเดียวกับที่สื่อทางการพม่าประกาศว่าสมาชิกสภาที่กำลังหลบซ่อนตัวอยู่นั้นเป็นคนที่ทางการต้องการตัวเนื่องจากทรยศประเทศ

เอเมอร์ลีน จิล จากองค์การนิรโทษกรรมสากล ระบุว่า การรับมือเกี่ยวกับพม่าของอาเซียนในครั้งนี้ เป็นบททดสอบครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของอาเซียน

“ทางการอินโดนีเซียและประเทศสมาชิกอื่นๆของอาเซียนไม่สามารถเพิกเฉยถึงข้อเท็จจริงที่ว่ามิน อ่อง หล่าย ถูกสงสัยว่ากระทำความผิดอาญาร้ายแรงที่เกี่ยวกับสังคมโลกโดยรวม” เอเมอร์ลีน จิล กล่าว

รัฐบาลทหารอ้างความชอบธรรมให้กับการรัฐประหารโดยกล่าวหาว่ามีการโกงการเลือกตั้งในการเลือกตั้งเดือน พ.ย. ที่พรรคของซูจีชนะอย่างถล่มทลาย

สหรัฐ สหภาพยุโรป และอังกฤษ ได้กำหนดมาตรการคว่ำบาตรกับเจ้าหน้าที่ทหารระดับสูง รวมถึงธุรกิจบางแห่งที่มีความเชื่อมโยงกับกองทัพ

และก่อนการรัฐประหาร มิน อ่อง หล่าย กำลังเผชิญกับการคว่ำบาตรจากนานาชาติต่อบทบาทของกองทัพในวิกฤตโรฮิงญา ที่ชนกลุ่มน้อยมุสลิมราว 750,000 คน ต้องอพยพหลบหนีออกจากพม่าในปี 2560 จากการปราบปรามอย่างโหดร้ายของทหาร.








กำลังโหลดความคิดเห็น