เอเอฟพี - การปราบปรามของรัฐบาลทหารพม่าต่อผู้ชุมนุมประท้วงต่อต้านการรัฐประหารทำผู้คนเกือบ 250,000 คน ต้องพลัดถิ่นที่อยู่ ตามการเปิดเผยของผู้แทนพิเศษสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ
ทหารได้เพิ่มการใช้กำลังรุนแรงปราบปรามการประท้วงของประชาชนที่ต่อต้านการรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 ก.พ. ซึ่งขับไล่อองซานซูจี ผู้นำพลเรือน
ประชาชนอย่างน้อย 738 คน ถูกสังหาร และ 3,300 คน ถูกควบคุมตัวในเรือนจำในฐานะนักโทษการเมือง ตามการระบุของกลุ่มตรวจสอบท้องถิ่น
“น่าตกใจที่ได้ทราบว่าการโจมตีของรัฐบาลทหารทำให้ชาวพม่าเกือบ 250,000 คน ต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่น ตามข้อมูลของแหล่งข่าว” ทอม แอนดรูว์ ผู้เขียนรายงานพิเศษสถานกรณ์สิทธิมนุษยชนในพม่าของสหประชาชาติ ทวีตข้อความในวันนี้ (21)
“โลกต้องลงมือทันทีเพื่อจัดการกับหายนะทางมนุษยธรรมนี้” แอนดรูว์ ระบุ
กลุ่มช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ ฟรี เบอร์มา เรนเจอร์ ประเมินเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่ามีประชาชนอย่างน้อย 24,000 คน พลัดถิ่นในรัฐกะเหรี่ยง ทางตอนเหนือ ท่ามกลางการโจมตีทางภาคพื้นดินและการโจมตีทางอากาศของทหารเมื่อต้นเดือน
พะโด มาน มาน โฆษกสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง กล่าวว่า มีชาวกะเหรี่ยงมากกว่า 2,000 คน ได้ข้ามพรมแดนของพม่าเข้าไปในฝั่งไทย และมีชาวกะเหรี่ยงอีกหลายพันคนเป็นผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ
“พวกเขาทั้งหมดซ่อนตัวอยู่ในป่าใกล้หมู่บ้านของพวกเขา” พะโด มาน มาน กล่าว
ท่ามกลางความรุนแรงที่เพิ่มขึ้น ผู้นำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และรัฐมนตรีต่างประเทศกำลังจะจัดการเจรจาหารือเกี่ยวกับวิกฤตพม่าที่กรุงจาการ์ตาในวันเสาร์ คาดว่า พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำการรัฐประหาร จะเข้าร่วมในการประชุมครั้งนี้ ความเคลื่อนไหวที่สร้างความไม่พอใจให้แก่นักเคลื่อนไหวและกลุ่มสิทธิมนุษยชน
“มิน อ่อง หล่าย ที่เผชิญกับการคว่ำบาตรจากนานาชาติจากบทบาทของเขาในการเข่นฆ่าและปราบปรามอย่างรุนแรงต่อผู้ชุมนุมประท้วงสนับสนุนประชาธิปไตย ไม่ควรได้รับการต้อนรับในที่ประชุมระหว่างรัฐบาลเพื่อจัดการวิกฤตที่เขาก่อขึ้น” แบรด อดัมส์ จากฮิวแมนไรท์วอทช์ กล่าว
ในช่วงข้ามคืนที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ได้ปล่อยตัว โก ลัต นักข่าวอิสระที่ถูกควบคุมตัวเป็นเวลา 1 เดือนในกรุงเนปีดอ โดยรายงานของ Reporting ASEAN ระบุว่า มีนักข่าวถูกจับกุมตัวอย่างน้อย 70 คน นับตั้งแต่การรัฐประหาร และ 35 คนยังคงถูกควบคุมตัว.