xs
xsm
sm
md
lg

คณะผู้แทนพม่าหารือแกนนำชาวโรฮิงญาถึงค่ายผู้ลี้ภัยบังกลาเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

สมาชิกของคณะผู้แทนพม่าเดินทางถึงสนามบินในเมืองคอกซ์บาซาร์ ก่อนเดินทางไปยังค่ายผู้ลี้ภัยเพื่อหารือกับแกนนำชาวโรฮิงญาเกี่ยวกับกระบวนการส่งกลับประเทศ.

เอเอฟพี - คณะผู้แทนระดับสูงของพม่า เริ่มต้นเจรจาการส่งผู้ลี้ภัยกลับประเทศกับแกนนำชาวโรฮิงญาในค่ายผู้ลี้ภัยในบังกลาเทศเมื่อวันเสาร์ (27) ตามการเปิดเผยของเจ้าหน้าที่ ที่ชาวโรฮิงญาจำนวนมากวิตกถึงความปลอดภัยของตนเองหากพวกเขาเดินทางกลับบ้าน

ชาวโรฮิงญาราว 740,000 คน หลบหนีการปราบปรามของทหารพม่าในปี 2560 และกำลังอาศัยอยู่ในค่ายพักที่มีสภาพย่ำแย่ในเมืองคอกซ์บาซาร์ ใกล้ชายแดนพม่า

ทั้งสองประเทศได้ลงนามข้อตกลงส่งผู้ลี้ภัยกลับในเดือน พ.ย.2560 แต่จนถึงเวลานี้ยังไม่มีชาวโรฮิงญาคนใดอาสาเดินทางกลับพม่า ที่ชนกลุ่มน้อยกลุ่มนี้เผชิญต่อการกดขี่ข่มเหงมานานหลายสิบปี

คณะผู้แทนพม่า ภายใต้การนำของปลัดกระทรวงการต่างประเทศเดินทางถึงเมืองคอกซ์บาซาร์ เมื่อวันเสาร์ ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวดในค่ายผู้ลี้ภัยต่างๆ

คณะผู้แทนเดินทางเยี่ยมค่ายกุตุปะหล่อง ค่ายผู้ลี้ภัยที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่พวกเขาได้หารือเกี่ยวกับการส่งผู้ลี้ภัยกลับประเทศกับแกนนำชุมชนชาวโรฮิงญาเป็นเวลานานหลายชั่วโมง ตามการระบุของกรรมาธิการสำนักงานผู้ลี้ภัยบังกลาเทศ

หนึ่งในแกนนำชาวโรฮิงญาที่เข้าร่วมการหารือ กล่าวว่า การหารือเป็นไปด้วยดี ขณะเดียวกัน ยังได้ย้ำถึงความต้องการสำหรับพม่าในการยอมรับว่าโรฮิงญาเป็นกลุ่มชาติพันธุ์

“เราหวังให้การเจรจานี้ประสบผลสำเร็จ เราบอกกับพวกเขาว่า เราจะไม่เดินทางกลับจนกว่าเราได้รับการยอมรับว่าเป็นชาวโรฮิงญาในพม่า” แกนนำชาวโรฮิงญา กล่าว

พม่าปฏิเสธสถานะการเป็นพลเมืองของชนกลุ่มน้อยกลุ่มนี้ และอ้างว่าพวกเขาเป็นชาวเบงกาลี ที่เป็นผู้อพยพผิดกฎหมายจากบังกลาเทศ

นับเป็นครั้งที่ 2 ในเวลาไม่ถึง 1 ปี ที่เจ้าหน้าที่พม่ากำลังพยายามโน้มน้าวผู้ลี้ภัยโรฮิงญาให้เดินทางกลับบ้านเกิดในรัฐยะไข่ หลังข้อเสนอการส่งกลับประเทศถูกแกนนำโรฮิงญาปฏิเสธในเดือน ต.ค.

ค่ายผู้ลี้ภัยขนาดใหญ่นี้ ได้ก่อให้เกิดความตึงเครียดระหว่างสองประเทศเพื่อนบ้าน ที่บังกลาเทศกล่าวโทษพม่าถึงความล่าช้าในการส่งผู้ลี้ภัยกลับประเทศ

กรุงธากา กล่าวว่า จะไม่บังคับชาวโรฮิงญาให้ออกจากค่าย ขณะที่พม่าเผชิญกับแรงกดดันของนานาชาติในการให้โรฮิงญาเดินทางกลับรัฐยะไข่ และมอบสิทธิการเป็นพลเมืองให้แก่พวกเขา

สหประชาชาติยังกล่าวตำหนิว่า ความคืบหน้าในการจัดการกับวิกฤตผู้ลี้ภัยนั้นช้าเกินไป

การเยือนค่ายผู้ลี้ภัยครั้งล่าสุดนี้เกิดขึ้นหลังนายกรัฐมนตรีชีค ฮาสินา ของบังกลาเทศ หารือกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ในกรุงปักกิ่ง โดยจีนเป็นพันธมิตรสำคัญของพม่า และฮาสินา กล่าวว่า ปักกิ่งจะทำทุกอย่างที่จำเป็นเพื่อช่วยแก้ไขวิกฤตโรฮิงญา.
กำลังโหลดความคิดเห็น