xs
xsm
sm
md
lg

สุดชื่นมื่น สองนักข่าวรอยเตอร์พ้นคุก ปธน.อภัยโทษพร้อมนักโทษอีกกว่า 6,000 ราย

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รอยเตอร์ - สองนักข่าวรอยเตอร์ที่ถูกจำคุกในพม่าหลังพวกเขาถูกตัดสินความผิดฐานละเมิดกฎหมายความลับทางการ ได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำแล้วในวันนี้ (7) หลังถูกคุมขังนานกว่า 500 วัน

วา โลน อายุ 33 ปี และจ่อ โซ อู อายุ 29 ปี ถูกตัดสินโทษจำคุกในเดือน ก.ย. เป็นเวลา 7 ปี ในคดีที่ก่อให้เกิดคำถามถึงความคืบหน้าของพม่าในระบอบประชาธิปไตย และนำมาซึ่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากนักการทูตและนักสิทธิมนุษยชน

นักข่าวทั้งสองได้รับการปล่อยตัวภายใต้การอภัยโทษของประธานาธิบดีต่อนักโทษ 6,520 คน ในวันนี้ (7) ประธานาธิบดีวิน มี้น ได้อภัยโทษให้แก่นักโทษอีกจำนวนหลายพันคนตั้งแต่เดือนก่อน

เป็นธรรมเนียมในพม่าสำหรับเจ้าหน้าที่ที่จะปล่อยตัวนักโทษทั่วประเทศในช่วงเทศกาลปีใหม่ ที่เริ่มขึ้นในวันที่ 17 เม.ย.

รอยเตอร์ระบุว่า นักข่าวทั้งสองคนไม่ได้กระทำความผิดใดๆ และเรียกร้องการปล่อยตัวทั้งคู่

นักข่าวทั้งสองคนเดินผ่านประตูเรือนจำอินเส่ง ท่ามกลางสื่อมวลชนและผู้ปรารถนาดีที่รออยู่ภายนอก จ่อ โซ อู ยิ้มกว้างและโบกมือให้แก่นักข่าว ขณะที่วา โลน ซึ่งชูนิ้วพร้อมรอยยิ้มสดใส กล่าวว่า เขารู้สึกขอบคุณในความพยายามระดับนานาชาติที่รับประกันอิสรภาพของพวกเขา

“ผมรู้สึกมีความสุขและตื่นเต้นมากที่ได้พบครอบครัวและเพื่อนร่วมงานของผม ผมรอแทบไม่ไหวที่จะกลับไปห้องข่าว” วา โลน กล่าว

ก่อนการจับกุมตัวทั้งคู่ในเดือน ธ.ค.2560 นักข่าวทั้งสองคนกำลังทำงานสืบสวนเหตุสังหารชาวมุสลิมโรฮิงญา 10 คน โดยกองกำลังความมั่นคงและพลเรือนชาวพุทธในรัฐยะไข่ ระหว่างการปราบปรามของทหารที่เริ่มขึ้นในเดือน ส.ค.2560

ปฏิบัติการดังกล่าวส่งผลให้ชาวโรฮิงญามากกว่า 730,000 คน อพยพหลบหนีข้ามแดนไปฝั่งบังกลาเทศ ตามการประเมินของสหประชาชาติ

รายงานที่ทั้งสองคนเป็นผู้เขียน ประกอบด้วย พยานหลักฐานจากผู้กระทำผิด พยาน และครอบครัวของเหยื่อ ที่ได้รับรางวัลพูลิตเซอร์ประเภทข่าวต่างประเทศ ในเดือน พ.ค.

นายสตีเฟน เจ แอดเลอร์ บรรณาธิการใหญ่สำนักข่าวรอยเตอร์ ได้แสดงความยินดีกับข่าวล่าสุดนี้

“เรามีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่พม่าปล่อยตัวนักข่าวผู้กล้าหาญของเรา วา โลน และจ่อ โซ อู นับตั้งแต่การจับกุมตัวพวกเขาเมื่อ 511 วันก่อน พวกเขาได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของความสำคัญของเสรีภาพสื่อทั่วโลก เรายินดีกับการกลับมาของพวกเขา” แอดเลอร์ ระบุ

สหประชาชาติในพม่า ระบุว่า การปล่อยตัวดังกล่าวเป็นสัญญาณของความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบประชาธิปไตย ด้านสถานทูตสหรัฐฯ ก็แสดงความยินดีกับการปล่อยตัวครั้งนี้ และระบุว่า ดีใจที่สองนักข่าวได้กลับไปหาครอบครัวของพวกเขา

ศาลฎีกาพม่าปฏิเสธคำอุทธรณ์สุดท้ายของนักข่าวในเดือนเม.ย. ซึ่งพวกเขาได้ยื่นคำร้องต่อศาลสูงสุดโดยอ้างหลักฐานการจัดฉากของตำรวจและการขาดซึ่งหลักฐานของอาชญากรรม หลังศาลแขวงนครย่างกุ้งปฏิเสธคำอุทธรณ์ก่อนหน้านี้ในเดือนม.ค.

ภรรยาของนักข่าวได้เขียนจดหมายถึงรัฐบาลในเดือนเม.ย. ร้องขอการอภัยโทษ ไม่ใช่ด้วยเหตุผลว่าสามีของพวกเธอไม่ได้กระทำผิดใดๆ แต่เพราะการอภัยโทษจะทำให้พวกเขาได้รับการปล่อยตัวเป็นอิสระจากเรือนจำและกลับคืนสู่ครอบครัวของพวกเขา

ลอร์ด อารา ดาร์ซี ศัลยแพทย์และผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลสุขภาพชาวอังกฤษที่ยังเป็นหนึ่งในสมาชิกของกลุ่มที่ปรึกษาให้กับรัฐบาลพม่าในการปฏิรูปรัฐยะไข่ กล่าวว่า ผลลัพธ์นี้แสดงให้เห็นว่าการเจรจาได้ผล แม้ในสถานการณ์ที่ยากลำบากที่สุด

ดาร์ซีกล่าวว่า การหารือเกี่ยวกับการอภัยโทษให้กับวา โลน และจ่อ โซ อู ทั้งรัฐบาลพม่า รอยเตอร์ สหประชาชาติ และตัวแทนของรัฐบาลต่างๆ ล้วนมีส่วนเกี่ยวข้อง และมีเพียงรัฐบาลภายใต้การนำของนางอองซานซูจีที่สามารถพิจารณาการปล่อยตัวทั้งคู่ได้หลังศาลสูงสุดปฏิเสธคำอุทธรณ์สุดท้ายของพวกเขา

“ผมต้องขอบคุณประธานาธิบดี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ (ซูจี) และคณะรัฐมนตรีเป็นอย่างมากที่ทำให้สิ่งนี้เกิดขึ้น” ดาร์ซี กล่าว

ดาร์ซีเป็นสมาชิกคณะกรรมการที่ปรึกษา ซึ่งตั้งขึ้นในปี 2559 เพื่อตรวจสอบคำแนะนำจากคณะทำงานภายใต้การนำของอดีตเลขาธิการสหประชาชาติ โคฟี อันนัน ว่าด้วยการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในรัฐยะไข่.




กำลังโหลดความคิดเห็น