xs
xsm
sm
md
lg

กองทัพพม่าตั้งศาลทหารสอบสวนข้อกล่าวหากระทำทารุณชาวโรฮิงญา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รอยเตอร์ - กองทัพระบุว่า ได้ตั้งศาลทหารขึ้นเพื่อสอบสวนการกระทำของทหารระหว่างการปราบปรามชนกลุ่มน้อยมุสลิมโรฮิงญาในปี 2560 ที่บังคับให้ชาวโรฮิงญามากกว่า 730,000 คน ต้องอพยพหลบหนีไปบังกลาเทศ

ศาลดังกล่าวประกอบด้วย พลตรีหนึ่งนาย และพันเอก 2 นาย จะสอบสวนเหตุการณ์ในรัฐยะไข่ ทางภาคตะวันตกของประเทศ ในเดือน ส.ค.2560 ตามที่กองทัพระบุในคำแถลงซึ่งโพสต์ลงบนเว็บไซต์ของ พล.อ.อาวุโส มิน ออง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด

“ข้อมูลระบุว่า ศาลสอบสวนถูกตั้งขึ้นพร้อมกับบุคคลดังกล่าวเพื่อตรวจสอบอย่างละเอียดและยืนยันในทุกเหตุการณ์” กองทัพ ระบุ

ศาลจะตอบสนองต่อข้อกล่าวหาของสหประชาชาติ องค์การนิรโทษกรรมสากล และฮิวแมนไรท์วอทช์ ที่กล่าวหาว่า กองกำลังรักษาความมั่นคงก่อเหตุสังหารหมู่ ข่มขืน และวางเพลิง

กองกำลังทหารพม่าเริ่มดำเนินการปราบปรามในรัฐยะไข่ ตอบโต้การโจมตีของผู้ก่อความไม่สงบโรฮิงญาที่เกิดขึ้นกับด่านรักษาความมั่นคงใกล้ชายแดนบังกลาเทศ

ภารกิจค้นหาข้อเท็จจริงของสหประชาชาติเมื่อปีก่อน กล่าวว่า การปราบปรามของทหารดำเนินการด้วยเจตนาล้างเผ่าพันธุ์ และแนะนำให้ตั้งข้อหาอาชญากรรมต่อ พล.อ.อาวุโส มิน ออง หล่าย และนายพลอีก 5 นาย ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ

พม่าปฏิเสธข้อกล่าวหาการสังหาร ข่มขืน และการละเมิดทารุณอื่นๆ โดยกองกำลังของตน แม้ พล.อ.อาวุโส มิน ออง หล่าย เคยกล่าวเมื่อเดือนก่อนว่า ทหารจำนวนหนึ่งอาจเกี่ยวข้อง และการสอบสวนของทหารก่อนหน้านี้ในปี 2560 ทำให้กองกำลังรักษาความมั่นคงพ้นจากข้อกล่าวหาอาชญากรรม

ศาลใหม่นี้เป็น “อีกหนึ่งแผนการไม่สุจริต” เพื่อขจัดแรงกดดันของนานาชาติ นิโคลัส เบเกอลิน ผู้อำนวยการองค์การนิรโทษกรรมสากลประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก กล่าว

“ทหารถูกกล่าวหาว่าก่ออาชญากรรมร้ายแรงภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ และไม่แสดงสัญญาณใดๆ ของการปฏิรูป แนวความคิดที่ว่ากองทัพสามารถสอบสวนตัวเองและรับประกันความยุติธรรมและความรับผิดชอบ ถือเป็นทั้งสิ่งอันตรายและการหลอกลวงตบตา” เบเกอลิน กล่าว

พม่ากำลังเผชิญกับการเรียกร้องมากขึ้นจากนานาประเทศถึงการรับผิดชอบต่อเหตุการณ์การปราบปรามในรัฐยะไข่

ศาลอาญาระหว่างประเทศได้เปิดการตรวจสอบเบื้องต้นในเหตุความรุนแรง ขณะที่คณะกรรมการการสอบสวนที่ตั้งขึ้นโดยพม่า ซึ่งรวมทั้งนักการทูตชาวฟิลิปปินส์ และอดีตเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำสหประชาชาติ มีกำหนดที่จะเผยแพร่ข้อค้นพบในปีนี้

คำแถลงของกองทัพระบุว่า การตั้งศาลทหารอยู่บนพื้นฐานการประเมินและคำแนะนำจากเจ้ากรมพระธรรมนูญที่แต่งตั้งโดยทหาร รวมทั้งข้อกล่าวหาที่อยู่ในรายงานสิทธิมนุษยชน.
กำลังโหลดความคิดเห็น