xs
xsm
sm
md
lg

สหภาพแรงงานวิตกยุโรปขู่ยกเลิกสิทธิการค้า ทำสภาพคนงานแย่หนัก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รอยเตอร์ - ความเคลื่อนไหวของสหภาพยุโรปที่จะถอดถอนสิทธิพิเศษในการเข้าถึงตลาดสหภาพยุโรปแบบปลอดภาษีของกัมพูชา อาจบังคับให้แบรนด์เสื้อผ้าต่างๆ ย้ายออกจากศูนย์กลางการผลิตแห่งนี้ และส่งผลให้สภาพของแรงงานย่ำแย่ลงกว่าเดิม

กัมพูชามีเวลา 6 เดือนที่จะโน้มน้าวตลาดส่งออกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศ ในการแก้ไขปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย แต่หากไม่ประสบความสำเร็จ สหภาพยุโรปจะระงับสิทธิของกัมพูชาจากโครงการการค้า Everything But Arms (EBA) ที่อาจก่อให้เกิดห่วงโซ่ของเหตุการณ์ ที่สหภาพแรงงานวิตกว่าพวกเขาจะสูญเสียจุดแข็งที่สุดของพวกเขาในการต่อสู้เพื่อปรับปรุงสภาพการทำงานของคนงาน

“เราไม่สามารถพึ่งพาเจ้าหน้าที่ หรือกระบวนการใดๆ ภายในประเทศให้ปกป้องสิทธิของคนงาน” ซาร์ โมรา ประธานสมาพันธ์สหภาพแรงงานกัมพูชา (Cambodian Alliance of Trade Unions) ที่มีสมาชิกราว 20,000 คน กล่าว

“หากเราไม่มี EBA แล้ว ถึงตอนนั้นเราจะไม่สามารถกดดันแบรนด์ใหญ่และลูกค้าในยุโรปในเรื่องการปฏิบัติต่อคนงาน” ซาร์ โมรา กล่าว

ชาวกัมพูชาราว 700,000 คน ที่ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง ทำงานอยู่ในอุตสาหกรรมเสื้อผ้าสำเร็จรูปของประเทศ ภาคส่วนที่ครองส่วนแบ่งมากที่สุดในการส่งออกของประเทศไปยังสหภาพยุโรป ที่มีมูลค่าราว 5,800 ล้านดอลลาร์ในแต่ละปี

บรรดาคนงานพูดถึงอุตสาหกรรมนี้ว่าเต็มไปด้วยการบังคับทำงานล่วงเวลา สภาพการทำงานที่ไม่ปลอดภัย และอุปสรรคขัดขวางการจัดตั้งสหภาพแรงงาน

ในช่วงหลายปีมานี้ ชะตากรรมของแรงงานถูกยกให้เป็นประเด็นที่ต้องให้ความสนใจ และกลุ่มผู้สนับสนุนสิทธิแรงงานได้ดำเนินการรณรงค์ที่บังคับให้แบรนด์ต่างๆ ต้องตรวจสอบห่วงโซ่อุปทานเพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาดผู้บริโภคที่เพิ่มความตระหนักในเรื่องนี้มากขึ้น

“แบรนด์เหล่านี้เป็นแบรนด์ที่มีพลังที่จะผลักดันเหล่านายจ้างให้เคารพกฎหมายและสิทธิของคนงาน” อัธ ธน ประธานกลุ่มพันธมิตรสหภาพแรงงานประชาธิปไตยคนงานเครื่องแต่งกายกัมพูชา (Coalition of Cambodian Apparel Workers' Democratic Union) กล่าว

ค่าแรงของแรงงานในภาคสิ่งทอของกัมพูชาเพิ่มสูงขึ้น โดยอัตราค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ 182 ดอลลาร์ต่อเดือน จาก 61 ดอลลาร์ต่อเดือนในปี 2555

แต่เจ้าหน้าที่จากศูนย์สมาพันธ์แรงงานและสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า แกนนำสหภาพกำลังให้เครดิตแก่แบรนด์ต่างๆ มากไป

“แน่นอนว่าเมื่อค่าแรงเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันเราก็ได้เห็นว่าคนงานต้องทำงานกันอย่างหนักหน่วง เพราะเป้าหมายการผลิตสูงขึ้น ต้องทำงานล่วงเวลานานขึ้นเพื่อให้ไปถึงค่าแรงเหล่านั้น” เจ้าหน้าที่จากศูนย์สมาพันธ์แรงงานและสิทธิมนุษยชน กล่าว

ในปี 2556 บริษัท H&M จากสวีเดน ให้คำมั่นว่าจะจ่ายค่าแรงที่เป็นธรรมแก่คนงานกว่า 1.6 ล้านคน ที่ทำงานอยู่ตามโรงงานต่างๆ ซึ่งผลิตเสื้อผ้าให้แก่บริษัท แต่ในปี 2561 ผู้บริหารของบริษัทกล่าวว่า พวกเขายังไม่ได้ทำตามสัญญาที่ให้ไว้

“พวกเขารับผิดชอบ พวกเขามุ่งมั่นจริงหรือเปล่า? ผมไม่คิดเช่นนั้น ในธุรกิจ พวกเขาแค่แข่งขันกับแบรนด์อื่นๆ เพื่อเพิ่มเครดิตและความน่าเชื่อถือ” เจ้าหน้าที่จากศูนย์สมาพันธ์แรงงานและสิทธิมนุษยชน แสดงความเห็นถึงแบรนด์โดยรวม.
กำลังโหลดความคิดเห็น