xs
xsm
sm
md
lg

รัฐยะไข่ไม่มีวี่แววสงบ รัฐบาลพม่าเปิดศึกสู้กองทัพอาระกัน นักวิเคราะห์คาดปัญหาหนักกว่ากลุ่มติดอาวุธโรฮิงญา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รอยเตอร์ - รัฐบาลพม่ากล่าวว่า รัฐบาลได้สั่งการให้ทหาร “บดขยี้” กลุ่มกบฏในรัฐยะไข่ ทางตะวันตกของประเทศ หลังเกิดเหตุโจมตีโดยฝีมือของกลุ่มก่อความไม่สงบที่สังหารนายตำรวจไป 13 นาย เมื่อต้นเดือน

สหประชาชาติระบุว่า การสู้รบระหว่างกองทัพพม่าและกองทัพอาระกัน ส่งผลให้ประชาชนในรัฐยะไข่ราว 5,000 คน ต้องอพยพออกจากบ้านเรือนตนเอง ในช่วงเดือนที่ผ่านมา

ความรุนแรงล่าสุดเน้นย้ำให้เห็นถึงความซับซ้อนของปัญหาความแตกแยกทางชาติพันธุ์ที่มีอยู่ในรัฐยะไข่มาอย่างยาวนาน และในเหตุโจมตีเมื่อปี 2560 ที่เกิดขึ้นกับด่านรักษาความมั่นคงในตอนเหนือของรัฐโดยกลุ่มก่อความไม่สงบชนกลุ่มน้อยมุสลิมโรฮิงญา ก่อให้เกิดการปราบปรามทางทหารอย่างรุนแรงจนทำให้ชาวโรฮิงญามากกว่า 730,000 คน ต้องหลบหนีไปบังกลาเทศ ตามการระบุของหน่วยงานสหประชาชาติ และกลายเป็นวิกฤตครั้งใหญ่ที่สุดสำหรับรัฐบาลนางอองซานซูจี

เจ้าหน้าที่ช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ กล่าวว่า มีเครื่องบินและรถบรรทุกทหารเข้ามาในรัฐยะไข่ตั้งแต่ต้นเดือน ม.ค. ยิ่งเพิ่มความวิตกว่าความขัดแย้งอาจทวีความรุนแรงขึ้นมาอีกครั้งในรัฐยะไข่

การเกิดขึ้นของกลุ่มกองทัพอาระกันเป็นภัยคุกคามที่กำลังบ่อนทำลายคาวมหวังของนางอองซานซูจี ที่จะสร้างสันติภาพทั่วประเทศ

กองทัพอาระกันตั้งขึ้นเมื่อเกือบ 10 ปีก่อน มีเป้าหมายเพื่อต่อสู้เรียกร้องการปกครองตนเองสำหรับชาวยะไข่ ที่ระบุว่า ถูกเอารัดเอาเปรียบจากรัฐบาลกลางที่อยู่ห่างไกล

เริ่มแรกนั้นสมาชิกกลุ่มเป็นชาวพุทธยะไข่ที่เดินทางไปยังพื้นที่ภาคเหนือของพม่าเพื่อทำงานในเหมืองหยก พวกเขารวมตัวและฝึกฝนอยู่ในพื้นที่ตามแนวพรมแดนพม่ากับจีนซึ่งอยู่ภายใต้การครอบครองของกองทัพกะฉิ่นอิสระ (KIA) หนึ่งในกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ใหญ่ที่สุดที่ยังจับปืนสู้รบกับทหารพม่า นักสู้ของกองทัพอาระกันได้ต่อสู้กับทหารพม่า เคียงข้าง KIA เป็นส่วนหนึ่งของพันธมิตรตอนเหนือในรัฐชานตั้งแต่ปลายปี 2559

หลังจากนั้น กองกำลังของกองทัพอาระกันได้ย้ายเข้าไปในพื้นที่ชายแดนตะวันตกติดกับอินเดียและบังกลาเทศ ที่เชื่อว่ามีนักสู้อยู่ราว 3,000 คน ขณะเดียวกัน กลุ่มได้เริ่มโฆษณาชวนเชื่อภายใต้เป้าหมายที่จะกระตุ้นให้เกิดการปฏิวัติทั่วรัฐยะไข่ในปี 2563

แม้รัฐยะไข่จะอุดมด้วยน้ำมันและทรัพยากรธรรมชาติ และเป็นพื้นที่ที่ได้รับความสนใจสำหรับการลงทุนในโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีน แต่รัฐยะไข่ยังคงเป็นหนึ่งในรัฐที่ยากจนที่สุดของพม่า ซึ่งมีเพียง 17% ของครัวเรือนทั้งหมดในรัฐที่เข้าถึงน้ำดื่มปลอดภัยตลอดปี ซึ่งต่ำกว่าพื้นที่อื่นๆ ของประเทศ ตามการสำรวจของธนาคารโลกเมื่อปี 2560 และยังพบว่าเกือบ 300,000 ครัวเรือน ไม่มีห้องน้ำ

พื้นที่ชายฝั่งที่รู้จักในชื่อยะไข่นี้ ตามประวัติศาสตร์เคยเป็นอาณาจักรอิสระชื่ออาระกัน จนกระทั่งการรุกรานของชาวพม่าในศตวรรษที่ 18 ในการเดินขบวนประท้วงเมื่อเดือน ม.ค.2561 เนื่องในวาระครบรอบการโค่นล้มอาณาจักรอาระกัน สิ้นสุดลงด้วยเหตุนองเลือดเมื่อตำรวจเปิดฉากยิงกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วง

บุคคลสำคัญของพรรคแห่งชาติอาระกัน (ANP) พรรคการเมืองที่ได้รับความนิยมที่สุดของรัฐ ถูกจับกุมตัว และถูกตั้งข้อหากบฏ พร้อมกับนักเคลื่อนไหวอีกราย ซึ่งพวกเขายังอยู่ระหว่างการพิจารณาคดี ชาวยะไข่จำนวนมากไม่พอใจพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยของนางอองซานซูจี ที่แต่งตั้งมุขมนตรีของตัวเองมาประจำรัฐ แม้พรรค ANP จะชนะที่นั่งส่วนใหญ่ในรัฐในการเลือกตั้งในปี 2558 ก็ตาม

แม้จะมีการปะทะกับทหารอยู่บ้างประปรายในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่กองทัพอาระกัน ระบุว่า กลุ่มต่อสู้กับกองกำลังรักษาความมั่นคงมาแล้วอย่างน้อย 24 ครั้ง ในช่วง 2-3 เดือนมานี้ เพื่อตอบโต้การโจมตีของทหารในรัฐยะไข่ที่มุ่งเป้าพลเรือนด้วย

“รัฐยะไข่ต้องมีกองทัพของตนเอง การมีกลุ่มติดอาวุธหมายถึงความอยู่รอดของชาติพันธุ์ยะไข่” หัวหน้ากองทัพอาระกัน กล่าวกับเว็บไซต์ข่าวอิรวดีในสัปดาห์นี้

รัฐบาลระบุว่า กองทัพอาระกันเป็นองค์กรก่อการร้าย และสามารถบ่อนทำลายเสถียรภาพของรัฐไปอีกนานหลายปี

แอนโธนี เดวิส นักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงจากบริษัทวิจัยไอเอชเอส-มาร์คิต (IHS Markit) ระบุว่า กองทัพอาระกัน ที่ได้ฝึกฝนกับกบฏกะฉิ่น อาจก่อให้เกิดภัยคุกคามทางทหารมากกว่ากองทัพปลดปล่อยโรฮิงญาแห่งอาระกันที่นำมาซึ่งวิกฤตปี 2560 ดูเหมือนว่านักสู้ของกองทัพอาระกันจะได้รับการฝึกฝนมาเป็นอย่างดีและครบเครื่องอย่างมาก และความรุนแรงที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานนี้เป็น “จุดพลิกผัน” สำหรับความขัดแย้ง.


กำลังโหลดความคิดเห็น