xs
xsm
sm
md
lg

เวียดนามโอดเหมืองดูดทราย-เขื่อนต้นน้ำกระทบชุมชนปลายน้ำโขง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รอยเตอร์ - ผู้เชี่ยวชาญและเจ้าหน้าที่ระบุว่า การสร้างเขื่อนต้นน้ำและการขยายตัวของการทำเหมืองทรายในแม่น้ำโขง ส่งผลให้ที่ดินซึ่งอยู่ระหว่างเครือข่ายสาขาของแม่น้ำ และทางน้ำใกล้ปากแม่น้ำโขงจมลงราว 2 เซนติเมตรต่อปี

แม่น้ำโขงที่มีความยาว 4,350 กิโลเมตร มีต้นกำเนิดจากที่ราบสูงทิเบตของจีนไหลผ่านมาตามแนวพรมแดนของพม่า ลาว และไทย ตัดผ่านกัมพูชา และมาสิ้นสุดที่เวียดนาม ที่ทำให้เกิดพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำที่เรียกกันในเวียดนามว่า “9 มังกร”

รอยเตอร์ได้เดินทางเยือน 3 จังหวัด ที่ตั้งอยู่ตามสาขาที่ต่างกันของเขตที่ราบปากแม่น้ำ เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นกำลังพยายามอย่างหนักที่จะรับมือต่อการกัดเซาะอย่างรวดเร็ว ซึ่งทำลายบ้านเรือนราษฎร และคุกคามวิถีชีวิตความเป็นอยู่ในเขตปลูกข้าวใหญ่ที่สุดของเวียดนาม

สาเหตุหลักคือ การสร้างเขื่อนต้นน้ำในกัมพูชา ลาว และจีน ที่ขัดขวางตะกอนสำคัญ เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นและผู้เชี่ยวชาญ กล่าว

ตะกอน ที่มีความสำคัญต่อการตรวจสอบกระแสน้ำของแม่น้ำโขง ยังสูญหายไปเนื่องจากความต้องการทรายอย่างมหาศาล ที่เป็นองค์ประกอบสำคัญในการก่อสร้าง

“มันไม่ใช่ปัญหาเรื่องการขาดแคลนน้ำ แต่เป็นการขาดแคลนตะกอน” เซวือง วัน นี ผู้เชี่ยวชาญด้านแม่น้ำโขง จากวิทยาลัยการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ในมหาวิทยาลัยเกิ่นเทอ นครใหญ่ในเขตที่ราบปากแม่น้ำโขง

กลางดึกวันหนึ่ง บ้านเกือบครึ่งหลังของตา ถิ กิม แอ็ง เกิดพังถล่ม บ้านที่ตั้งอยู่บนริมฝั่งแม่น้ำโขง เพียงไม่กี่นาทีทรัพย์สินของกิม แอ็ง ครึ่งหนึ่งจมหายลงสู่แม่น้ำ

“ครัวของเรา ห้องนอนของเรา หายไปหมด” กิม แอ็ง กล่าว ขณะยืนอยู่ท่ามกลางซากบ้านที่พังถล่มของเธอ ซึ่งเธอยังคงใช้พื้นที่ของบ้านที่เหลืออยู่ขายของต่างๆ ให้แก่ชาวบ้านใน จ.เบ๊นแจ จังหวัดในเขตที่ราบแม่น้ำโขง

ในช่วงเวลานี้ของปี น้ำในแม่น้ำโขงเคยไหลเข้ามาในเวียดนามในลักษณะสีน้ำตาลขุ่น ชาวบ้านท้องถิ่นและเจ้าหน้าที่ กล่าว

แต่เวลานี้ น้ำในแม่น้ำสีไม่ขุ่นและไม่มีตะกอนจากต้นน้ำ ร่องน้ำที่ลึกขึ้นยิ่งทำให้กระแสน้ำแรงขึ้น เข้ากัดเซาะริมฝั่งแม่น้ำโขง ที่ที่ผู้คนซึ่งพึ่งพาแม่น้ำในการใช้ชีวิตความเป็นอยู่ตั้งบ้านเรือนอาศัย



ปัญหาเริ่มขึ้นเมื่อจีนสร้างเขื่อนไฟฟ้าในลุ่มน้ำโขงตอนบน เซวือง วัน นี จากมหาวิทยาลัยเกิ่นเทอ กล่าว

การทำเหมืองทรายในกัมพูชาเฟื่องฟูอย่างมากในช่วง 10 ปีมานี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความต้องการจากสิงคโปร์ ที่นำทรายไปสร้างผืนดินตามแนวชายฝั่งประเทศ แต่ด้วยแรงกดดันจากกลุ่มสิ่งแวดล้อม ทำให้ในท้ายที่สุด รัฐบาลกัมพูชากำหนดห้ามชาวเขมรส่งออกทรายในปี 2560

แต่อย่างไรก็ตาม โครงการเขื่อนไฟฟ้ายังคงดำเนินต่อไป และเมื่อไม่นานนี้ นายกรัฐมนตรีฮุนเซน ของกัมพูชาได้เปิดเขื่อนไฟฟ้ามูลค่า 816 ล้านดอลลาร์ ใน จ.สะตึงเตรง ใกล้ชายแดนลาว ที่สร้างขึ้นโดยบริษัทจากจีน กัมพูชา และเวียดนาม

เขื่อนใหม่แห่งนี้เป็นโครงการเขื่อนที่ใหญ่ที่สุดของกัมพูชานับจนถึงปัจจุบัน และจะส่งผลกระทบต่อการประมงและความหลากหลายทางชีวภาพในแม่น้ำโขง กลุ่มสิ่งแวดล้อม ระบุ แต่ฮุนเซน ปฏิเสธความเห็นวิพากษ์วิจารณ์โครงการ ซึ่งเขากล่าวว่า โครงการเขื่อนเป็นประโยชน์ต่อกัมพูชาและประชาชนของประเทศ

“นับตั้งแต่จีนสร้างเขื่อนไฟฟ้า ทรายใหม่ๆ เกือบมาไม่ถึงพวกเรา หากเราใช้ทรายที่นี่จนหมด คงจะไม่มีทรายเหลืออีก” นี กล่าว

ด้านกระทรวงการต่างประเทศของจีนได้ตอบคำถามของรอยเตอร์ว่า จีนให้ความสนใจอย่างมากต่อข้อวิตกและความจำเป็นของประเทศปลายน้ำแม่น้ำโขง พร้อมเสริมว่า กฎระเบียบการไหลของน้ำจากเขื่อนไฟฟ้าเป็นเครื่องมือสำคัญในการป้องกันน้ำท่วมและภัยแล้ง

ส่วนกระทรวงการพัฒนาแห่งชาติของสิงคโปร์ กล่าวในคำแถลงที่อีเมลถึงรอยเตอร์ ว่า สิงคโปร์นำเข้าทรายในเชิงพาณิชย์จากหลายประเทศ

“เราควบคุมอย่างเคร่งครัดเพื่อรับประกันว่าผู้จัดส่งได้ทรายมาอย่างถูกต้องตามกฎหมายและกฎระเบียบของประเทศต้นทาง” กระทรวงการพัฒนาแห่งชาติสิงคโปร์ ระบุ

เจ้าหน้าที่ระดับภูมิภาคในมณฑลหยุนหนานของจีนปกป้องการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงว่าดำเนินการตามกฎหมายอย่างเต็มที่

อย่างไรก็ตาม ปลายน้ำยังคงประสบปัญหาเลวร้ายจากกลุ่มโจรลอบทำเหมืองทรายผิดกฎหมายในช่วงกลางคืน

“พวกคนดูดทรายไม่มีใบอนุญาต กระทำการกันอย่างรวดเร็ว และหลบหนีไปเร็วมาก การมีกลุ่มชาวบ้านคอยช่วยเหลือเจ้าหน้าที่นั้นเป็นประโยชน์มาก” เหวียน กว่าง เทือง รองหัวหน้าสำนักงานเกษตรจังหวัดเบ๊นแจ กล่าว

กลุ่มชาวบ้านใน จ.เบ๊นแจ ซึ่งบางคนมีอายุถึง 67 ปี ใช้อาวุธประดิษฐ์เอง เช่น หนังสติ๊ก และเครื่องยิงหิน เข้าขับไล่โจรขโมยทราย

“เราลาดตระเวนกันทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง เพียงแค่ไม่กี่เดือนแรก เราสามารถกำจัดพวกโจรไปได้ถึง 90% ตั้งแต่ต้นปีมานี้ ไม่มีใครกล้าเข้าใกล้ชายฝั่งของพวกเราอีกเลย” หนึ่งในสมาชิกกลุ่ม กล่าว

ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม นักเคลื่อนไหวและกลุ่มสิ่งแวดล้อมยังคงวิตกกังวลว่า แม่น้ำโขงที่ไหลผ่าน 6 ประเทศ ซึ่งเต็มไปด้วยความต้องการที่จะใช้ประโยชน์จากศักยภาพของแม่น้ำในการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ มีความเสียหายเกิดขึ้นแล้ว

เพียรพร ดีเทศน์ จากองค์การแม่น้ำนานาชาติ ที่ทำงานเกี่ยวกับแม่น้ำโขงมานานกว่า 20 ปี กล่าวว่า ยังขาดเจตจำนงทางการเมืองในหมู่ประเทศที่ร่วมแบ่งปันแม่น้ำ ที่จะตระหนักถึงผลกระทบข้ามพรมแดนของโครงการเหล่านั้น หากไม่มีการตระหนักยอมรับถึงปัญหาที่มีอยู่ ก็ไม่มีความหวังใดๆ.


กำลังโหลดความคิดเห็น