xs
xsm
sm
md
lg

โรฮิงญาลุกฮือรวมตัวประท้วงต้านแผนส่งตัวกลับพม่า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอเอฟพี - ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาที่อยู่ในความหวาดวิตกและไม่พอใจ เรียกร้องให้บังกลาเทศยุติความพยายามที่จะส่งตัวพวกเขากลับไปพม่า ความ เคลื่อนไหวที่ยิ่งเพิ่มความไม่แน่นอนให้แก่แผนการส่งผู้ลี้ภัยกลับประเทศ

ชาวโรฮิงญาหลายร้อยคนชุมนุมประท้วงใกล้กับชายแดนพม่า ร้องตะโกนว่า “พวกเราจะไม่กลับไป” ในวันแรกของกำหนดส่งผู้ลี้ภัยชุดแรกกลับประเทศ

ชาวโรฮิงญามากกว่า 720,000 คน หลบหนีออกจากรัฐยะไข่ของพม่าเข้าไปลี้ภัยในฝั่งบังกลาเทศ หลังทหารดำเนินการปราบปรามอย่างรุนแรงในเดือน ส.ค. 2560 ที่สหประชาชาติเรียกร้องให้ดำเนินการสืบสวนข้อกล่าวหาการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

ผู้ลี้ภัยจำนวนมากเปิดเผยเรื่องราวอันน่าหวาดกลัวเกี่ยวกับการสังหาร การข่มขืน และการวางเพลิงเผาหมู่บ้าน และให้คำมั่นว่าจะไม่กลับไปอีก

ไม่มีโรฮิงญาคนใดใน 150 คนแรกที่ต้องข้ามกลับไปฝั่งพม่าในวันนี้ (15) ตามข้อตกลงกับพม่าต้องการเดินทางกลับ ตามการเปิดเผยของเจ้าหน้าที่บังกลาเทศ

แกนนำชุมชน กล่าวว่า ผู้ลี้ภัยจำนวนมากที่อยู่ในรายชื่อส่งกลับประเทศของบังกลาเทศ 2,260 คน ต่างหนีไปหลบซ่อนตัว

กรรมาธิการด้านผู้ลี้ภัยของบังกลาเทศเดินทางไปยังจุดข้ามแดนเพื่อส่งมอบกำหนดการ แต่ไม่มีโรฮิงญาคนใดขึ้นรถโดยสารเพื่อข้ามแม่น้ำที่เป็นเขตชายแดนระหว่างสองประเทศ

ที่ค่ายพิเศษใกล้จุดข้ามแดน รถโดยสาร 5 คัน กำลังรอรับอาสาสมัครไปยังชายแดน

ชาวโรฮิงญาราว 1,000 คน ทั้งผู้ชาย ผู้หญิง และเด็ก ต่างเข้าร่วมการชุมนุมประท้วงต่อต้านการส่งกลับประเทศ และร้องตะโกนว่า “เราต้องการความยุติธรรม”

ชาวโรฮิงญาอายุ 85 ปี ที่อยู่ในรายชื่อเดินทางกลับประเทศ กล่าวว่า “พวกเขาฆ่าลูกชายผมไป 2 คน ผมหนีมาบังกลาเทศกับลูกอีก 2 คน ได้โปรดอย่าส่งเรากลับไป พวกเขาจะฆ่าคนในครอบครัวที่เหลืออยู่ของผม ผมแก่เกินกว่าจะหนีออกจากค่ายแล้ว”

สหประชาชาติเรียกร้องให้บังกลาเทศระงับแผนส่งผู้ลี้ภัยกลับประเทศ ที่ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ กล่าวว่า การส่งผู้ลี้ภัยกลับเป็นเหมือนการโยนพวกเขากลับไปยังวงจรการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ชุมชนนี้ทนทุกข์มานานหลายสิบปีแล้ว

โมฮัมหมัด อาบุล คาลัม กรรมาธิการด้านผู้ลี้ภัยของรัฐบาลบังกลาเทศ กล่าวว่า คณะทำงานของเขาพร้อมเต็มที่ที่จะเริ่มส่งผู้ลี้ภัยกลับ แต่ย้ำว่าโรฮิงญาต้องสมัครใจ

“หากเราได้คนที่ต้องการเดินทางกลับ เราจะพาพวกเขาไปยังด่านชายแดนด้วยความเคารพ และศักดิ์ศรี” อาบุล คาลัม กล่าว

คาลัม ระบุว่า จะไม่มีการบังคับส่งกลับ และทราบว่าหน่วยงานผู้ลี้ภัยของสหประชาชาติสำรวจพบว่าไม่มีครอบครัวใดพร้อมจะเดินทางกลับพม่า

“ไม่มีใครรู้สึกปลอดภัยที่จะกลับไปตอนนี้” คาลัม กล่าว.





กำลังโหลดความคิดเห็น