xs
xsm
sm
md
lg

นายใหญ่สิทธิมนุษยชนยูเอ็นร้องระงับแผนส่งโรฮิงญากลับพม่า ชี้มีแต่ความเสี่ยง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รอยเตอร์ - มิเชล บาเชเลต์ ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ เรียกร้องให้บังกลาเทศระงับแผนส่งผู้ลี้ภัยโรฮิงญากว่า 2,200 คน กลับพม่า โดยเตือนว่า ชีวิตของผู้ลี้ภัยเหล่านั้นจะตกอยู่ในความเสี่ยงอย่างร้ายแรง

การบังคับกลับ หรือขับไล่ผู้ลี้ภัยไปยังประเทศบ้านเกิดจะละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศที่ห้ามมิให้ผู้ที่เดินทางกลับเผชิญต่อภัยคุกคามจากการกดขี่ข่มเหง หรือชีวิตของพวกเขาอยู่ในอันตราย

ผู้ลี้ภัยโรฮิงญามากกว่า 700,000 คน หลบหนีข้ามแดนจากรัฐยะไข่ของพม่าไปฝั่งบังกลาเทศ ตามการเปิดเผยของหน่วยงานของสหประชาชาติ หลังกลุ่มติดอาวุธโรฮิงญาโจมตีกองกำลังรักษาความมั่นคงพม่าในเดือน ส.ค.2560 จนส่งผลให้ทหารดำเนินการปราบปรามตอบโต้อย่างรุนแรง

พม่า และบังกลาเทศเห็นพ้องกันเมื่อวันที่ 30 ต.ค. ที่จะเริ่มส่งผู้ลี้ภัยกลับพม่าในกลางเดือน พ.ย. แต่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของหน่วยงานผู้ลี้ภัยสหประชาชาติระบุว่า สภาพในรัฐยะไข่ยังไม่เอื้อให้ชาวโรฮิงญาเดินทางกลับ โดยอ้างถึงข้อจำกัดการเคลื่อนไหว.และการขาดซึ่งสิทธิทางการเมือง รวมทั้งสถานะการเป็นพลเมืองของประเทศ

“เรารับรู้ถึงความหวาดกลัว และความหวั่นวิตกในหมู่ผู้ลี้ภัยโรฮิงญาในคอกซ์บาซาร์ ที่กำลังเผชิญต่อความเสี่ยงที่จะต้องเดินทางกลับพม่าขัดกับความต้องการของพวกเขา” บาเชเลต์ ระบุในคำแถลง อ้างถึงชาย 2 คน ที่พยายามฆ่าตัวตาย

การละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นกับชาวโรฮิงญาในพม่าเป็นการทารุณกรรมที่เลวร้ายที่สุด ทั้งอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ และอาจเป็นถึงการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ บาเชเลต์ กล่าว

“จากความขาดแคลนซึ่งความรับผิดชอบเกือบสิ้นเชิง และการละเมิดที่ยังเกิดขึ้นต่อเนื่อง การส่งผู้ลี้ภัยโรฮิงญากลับพม่าในจุดนี้อาจหมายถึงการโยนพวกเขากลับไปสู่วงจรการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ชุมชนนี้ทนทุกข์มานานหลายสิบปี” ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนสหประชาชาติ กล่าว

สำนักงานสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติยังได้รับรายงานการละเมิดอย่างต่อเนื่องที่เกิดขึ้นกับชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ ของพม่า ที่รวมทั้งการสังหาร การหายตัว และการจับกุมโดยพลการ.
กำลังโหลดความคิดเห็น