xs
xsm
sm
md
lg

ส.ว.สหรัฐฯ แนะคองเกรสไม่ควรกดดัน “ซูจี” ชูเป็นความหวังที่ดีที่สุด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รอยเตอร์ - ผู้นำพรรครีพับลิกันของวุฒิสภาสหรัฐฯ ระบุว่า นางอองซานซูจี ยังคงเป็นความหวังที่ดีที่สุดสำหรับพม่า และไม่เป็นประโยชน์ต่อครองเกรสที่จะเข้าร่วมกับนานาชาติเพิ่มแรงกดดันต่อนางอองซานซูจี จากการปราบปรามของทหารต่อชาวมุสลิมโรฮิงญา

“การกดดันเพิ่มขึ้นค่อนข้างชัดเจน แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้น และผมไม่คิดว่าการเข้าร่วมและลดทอนความหวังที่ดีที่สุดที่เรามีเพื่อประชาธิปไตยอย่างแท้จริงของพม่าในอนาคตจะเป็นนโยบายที่ดี” มิทช์ แม็คคอนเนล ผู้นำเสียงข้างมากวุฒิสภาสหรัฐฯ จากรีพับลิกัน กล่าวให้สัมภาษณ์

สหรัฐฯ เป็นผู้สนับสนุนสำคัญของซูจี เมื่อครั้งที่ซูจีต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยในประเทศ และยืนหยัดต่อสู้กับการปกครองของรัฐบาลทหารระหว่างถูกควบคุมตัวในบ้านพัก และได้รับรางวัลโนเบลสันติภาพ

แต่แม็คคอนเนล ไม่ได้ปฏิเสธถึงความเป็นไปได้ เมื่อถูกถามว่าคองเกรสควรกดดันให้ซูจีสนับสนุนการอภัยโทษต่อสองนักข่าวรอยเตอร์ที่ถูกตัดสินความผิดจากการละเมิดกฎหมายความลับราชการ

“ผมจะยังไม่ตอบตอนนี้ แต่ว่าเป็นคำถามที่น่าสนใจ” แม็คคอนเนล กล่าว

อย่างไรก็ตาม จนถึงเวลานี้ แม็คคอนเนลยังไม่เปิดให้วุฒิสภาลงมติว่าด้วยกฎหมายที่จะลงโทษหรือประณามการกระทำของพม่าต่อชาวโรฮิงญา

แม็คคอนเนล ระบุว่า เขายังไม่เห็นบทบาทหน้าที่ที่เป็นประโยชน์สำหรับคองเกรสที่จะดำเนินการไม่ว่าจะเป็นมติประณาม หรือสิ่งที่มากไปว่าการคว่ำบาตรกับบุคคลตามที่รัฐบาลได้ดำเนินการแล้ว และกระทรวงการต่างประเทศยังคงทำหน้าที่เหล่านั้นอยู่

แรงกดดันจากทั่วโลกต่อพม่า และซูจี ให้ดำเนินการนั้นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หลังเหตุการณ์การปราบปรามในรัฐยะไข่เมื่อปีก่อนได้ผลักดันชาวมุสลิมโรฮิงญา ข้ามพรมแดนไปบังกลาเทศมากกว่า 700,000 คน

พม่าปฏิเสธข้อกล่าวหาส่วนใหญ่เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยระบุว่าทหารตอบโต้ภัยคุกคามจากผู้ก่อการร้ายโรฮิงญาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

รัฐบาลชาติต่างๆ และผู้สนับสนุนสิทธิมนุษยชนทั่วโลก ยังเรียกร้องการปล่อยตัวสองนักข่าวรอยเตอร์ ที่ถูกตัดสินความผิดเมื่อวันที่ 3 ก.ย. และถูกจำคุกนาน 7 ปี ในคดีที่ถูกมองว่าเป็นบททดสอบประชาธิปไตยของประเทศ

นักข่าวทั้งสองคนกำลังสืบสวนเหตุสังหารหมู่ชาวโรฮิงญาโดยกองกำลังรักษาความมั่นคงพม่าในช่วงเวลาที่พวกเขาถูกจับกุมตัว

ซูจี ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากความล้มเหลวที่จะใช้อำนาจทางศีลธรรมปกป้องพลเรือน และเรียกร้องการปลดรางวัลโนเบลของเธอ ซูจีใยังถูกสหประชาชาติตำหนิหลังกล่าวว่า การจำคุกนักข่าวไม่เกี่ยวข้องกับเสรีภาพในการแสดงออก

รายงานของสหประชาชาติที่เผยแพร่เมื่อเดือน ส.ค. กล่าวหาทหารพม่ากระทำการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และเรียกร้องให้คณะมนตรีความมั่นคงกำหนดมาตรการห้ามค้าขายอาวุธ และกำหนดมาตรการคว่ำบาตรอย่างเฉพาะเจาะจง และตั้งศาลเฉพาะกิจเพื่อสอบสวนผู้ต้องสงสัย หรือยื่นเรื่องต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ

แต่รัฐบาลพม่าปฏิเสธรายงานดังกล่าว โดยระบุว่ามเป็นรายงานที่กล่าวหาอย่างไม่ถูกต้อง.
กำลังโหลดความคิดเห็น