xs
xsm
sm
md
lg

รมว.อังกฤษเยือนพม่าลงพื้นที่ศูนย์กลางวิกฤตโรฮิงญาก่อนพบหารือซูจี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอเอฟพี - เจเรมี ฮันท์ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษ เดินทางถึงพม่าวันนี้ (19) ระหว่างการเยือน 2 วัน ที่เขาจะเดินทางไปยังศูนย์กลางวิกฤตโรฮิงญา และพบหารือกับนางอองซานซูจี ผู้นำโดยพฤตินัยของพม่า

การเดินทางเยือนของรัฐมนตรีอังกฤษเกิดขึ้นหนึ่งวันหลังผู้สืบสวนสหประชาชาติเผยแพร่รายงานที่ชี้ว่า เหตุใดนายพลของพม่าควรถูกดำเนินคดีในข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชนกลุ่มน้อยมุสลิมโรฮิงญา ที่ถูกขับออกจากรัฐยะไข่ข้ามแดนไปบังกลาเทศเมื่อปีก่อน

พม่าปฏิเสธรายงานของภารกิจค้นหาข้อเท็จจริงของสหประชาชาติดังกล่าว โดยระบุว่า เป็นรายงานฝ่ายเดียว แต่แรงกดดันของต่างชาติต่อพม่ากำลังเพิ่มขึ้น และหัวหน้าอัยการของศาลอาญาระหว่างประเทศได้ประกาศในสัปดาห์นี้ว่ากำลังเปิดการสอบสวนเบื้องต้น

เจเรมี ฮันท์ ถือเป็นผู้แทนของอังกฤษในระดับสูงสุดที่เดินทางเยือนพม่า นับตั้งแต่รับตำแหน่งต่อจากบอริส จอห์นสัน ในเดือน ก.พ.

“ผมอยู่ในพม่าสัปดาห์นี้เพื่อดูประเด็นปัญหาเกี่ยวกับวิกฤตด้านมนุษยธรรมที่ชาวโรฮิงญาต้องเผชิญด้วยตนเอง” รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษ กล่าวในคลิปวิดีโอที่โพสต์บนบัญชีทวิตเตอร์

รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษเริ่มต้นการเยือนพม่าด้วยการแวะเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ในนครย่างกุ้ง ที่จัดขึ้นเป็นเกียรติแก่เหล่านักโทษการเมืองทั้งในอดีต และปัจจุบัน ก่อนจะเดินทางต่อเพื่อไปเยี่ยมชมเจดีย์ชเวดากอง

ในวันพฤหัสฯ ฮันท์ จะเดินทางด้วยเฮลิคอปเตอร์พร้อมทหารไปยังตอนเหนือของรัฐยะไข่ ที่การปราบปรามทางทหารอย่างรุนแรงได้ขับไล่ชาวโรฮิงญามากกว่า 700,000 คน ออกจากพื้นที่ และจากนั้นจะมุ่งหน้าไปยังกรุงเนปีดอ เพื่อพบหารือกับนางอองซานซูจี ที่รัฐบาลของเธอเข้าบริหารประเทศในปี 2559 ในการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยหลังอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลเผด็จการทหารหลายสิบปี

แต่ชื่อเสียงของเจ้าของรางวัลโนเบลสันติภาพกำลังถูกทำลายอย่างรวดเร็วจากความล้มเหลวที่จะกล่าวถึงชาวโรฮิงญา

ภายใต้รัฐบาลเผด็จการทหาร พม่าจำคุกนักโทษการเมืองหลายพันคน แต่ขณะเดียวกัน มีหลายคนได้รับการปล่อยตัวเป็นอิสระเมื่อประเทศเปิดสู่โลกภายนอก แต่ยังมีนักโทษการเมืองอีกมากกว่า 20 คน ยังคงถูกคุมขัง ตามการระบุของสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมือง (AAPP)

กลุ่มระบุว่า นักโทษการเมืองดังกล่าวยังรวมถึงสองนักข่าวรอยเตอร์ ที่ถูกจำคุก 7 ปี เมื่อต้นเดือน หลังพวกเขาเปิดเผยเรื่องราวการสังหารหมู่ชาวโรฮิงญาระหว่างการปราบปรามของทหาร

ทางการพม่าระบุว่า นักข่าวละเมิดกฎหมายความลับราชการ แต่รอยเตอร์และผู้สนับสนุนเสรีภาพสื่อระบุว่า คดีนี้เป็นความพยายามที่จะลงโทษการรายงานข่าวเกี่ยวกับรัฐยะไข่

“ผมหวังว่าเขา (ฮันท์) จะสามารถกดดันรัฐบาล และกลุ่มทหารให้พัฒนาระบอบประชาธิปไตย และกระบวนการสันติภาพของเรา” จ่อ โซ วิน จาก AAPP กล่าว.



กำลังโหลดความคิดเห็น