xs
xsm
sm
md
lg

รายงานสหประชาชาติชี้การเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยในพม่าหยุดชะงัก

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รอยเตอร์ - การเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบประชาธิปไตยของพม่าหยุดชะงัก ในขณะที่เจ้าหน้าที่พยายามที่จะปราบปรามนักวิจารณ์แต่ขณะเดียวกันก็ปล่อยให้มีการใช้ถ้อยคำสร้างความเกลียดชังโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับชาวมุสลิมโรฮิงญา หัวหน้าภารกิจด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติระบุวานนี้ (18)

มาร์ซูกิ ดารุสมาน ประธานคณะภารกิจค้นหาข้อเท็จจริงว่าด้วยพม่าของสหประชาชาติ ได้กล่าวตำหนิสิ่งที่เขาเรียกว่าเป็น “ความโหดร้ายทารุณอย่างที่สุดของทหาร” ในการเสนอรายงานที่ทูตพม่าโต้แย้งว่าเป็นรายงานเพียงด้านเดียว

คณะได้เสนอรายงานความยาว 440 หน้า ต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติ หลังเผยแพร่รายงานสรุปเมื่อวันที่ 27 ส.ค. ซึ่งระบุว่า ทหารพม่าดำเนินการสังหารหมู่และรุมข่มขืนชาวโรฮิงญาด้วยเจตนาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และเรียกร้องให้ผู้บัญชาการทหารสูงสุด พล.อ.อาวุโส มิน ออง หล่าย และอีก 5 นายพล ถูกดำเนินคดีในข้อหาก่ออาชญากรรมร้ายแรงภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ

รัฐบาลพม่าปฏิเสธรายงานสรุปในเวลานั้น และกล่าวว่าประชาคมระหว่างประเทศกำลังกล่าวหาอย่างผิดๆ ส่วนทหารไม่ได้แสดงความเห็นใดๆ และรอยเตอร์ไม่สามารถติดต่อบรรดานายพลที่มีชื่อในรายงานได้

จ่อ โม ตุน ทูตพม่าปฏิเสธข้อค้นพบของคณะ โดยระบุว่าเป็นรายงานเพียงด้านเดียว และกล่าวว่ารัฐบาลของเขาไม่ยอมรับคณะภารกิจนี้

“รายงานฉบับนี้ไม่เพียงแค่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อความสามัคคีในสังคมของรัฐยะไข่ แต่ยังบ่อนทำลายความพยายามของรัฐบาลในการสร้างสันติภาพ ความปรองดองแห่งชาติ และการพัฒนาต่อทั้งชาติ” จ่อ โม ตุน กล่าวต่อที่ประชุม

ดารุสมานกล่าวเมื่อวันอังคาร (18) ว่า ไม่มีกฎหมายและไม่มีสถาบันใดในพม่าที่อยู่เหนือกองทัพ และเรียกร้องการยุติในสิ่งที่เขาเรียกว่าเป็น “การได้รับการยกเว้นโทษอย่างสมบูรณ์”

ประชาธิปไตยขึ้นอยู่กับเจ้าหน้าที่ที่ยอมรับการตรวจสอบอย่างละเอียดและต่อสู้กับถ้อยคำสร้างความเกลียดชังและข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ดารุสมาน ระบุ

“ในเรื่องนี้ การเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยในพม่าแทบจะไม่ได้เริ่มขึ้น และเวลานี้กลับกลายเป็นหยุดชะงัก” ดารุสมาน กล่าว

ดารุสมาน กล่าวว่า การปราบปรามของทหารในรัฐะไข่เมื่อเดือนส.ค. 2560 ที่เกิดขึ้นหลังการโจมตีของกลุ่มติดอาวุธ ได้นำไปสู่การอพยพของชาวโรฮิงญาไปยังบังกลาเทศเกือบ 750,000 คน การตายของผู้คนอย่างน้อย 10,000 คน และการทำลายบ้านเรือนและสิ่งปลูกสร้างของโรฮิงญามากกว่า 37,000 แห่ง

ส่วนข้อจำกัดในการควบคุมความสามารถของโรฮิงญาในการทำงานและการเข้าถึงการดูแลสุขภาพและการศึกษาในรัฐยะไข่ยังทวีความรุนแรงขึ้นนับตั้งแต่ปีก่อน และคาดว่าระบบการกดขี่ข่มเหงแบบเดียวกันนี้กำลังรอโรฮิงญาที่เดินทางกลับไป ดารุสมาน กล่าว.


กำลังโหลดความคิดเห็น