xs
xsm
sm
md
lg

นักเคลื่อนไหวพม่าร่วมร้อยชุมนุมต้านคุกนักข่าวในย่างกุ้ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รอยเตอร์ - นักเคลื่อนไหวเยาวชน และนักข่าวชาวพม่าอย่างน้อย 100 คน รวมตัวชุมนุมเรียกร้องการปล่อยตัวสองนักข่าวรอยเตอร์วานนี้ (16) และกล่าวเตือนว่า โทษจำคุก 7 ปี ที่สองนักข่าวได้รับนั้นกำลังคุกคามสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของประชาชน

ผู้ชุมนุมประท้วงที่ยังรวมทั้งนักเรียน นักศึกษาที่รวมตัวกันอย่างสงบในใจกลางนครย่างกุ้ง ถือป้าย และร้องตะโกนคำประท้วงตำหนิประณามคำตัดสินของศาลที่มีต่อสองนักข่าว โดยมีกลุ่มเจ้าหน้าที่ตำรวจเฝ้าสังเกตการณ์ ขณะผู้ชุมนุมปล่อยลูกโป่งสีดำที่พิมพ์ข้อความติดไว้ว่า “ปล่อยวา โลน และกอ โซ อู”

วา โลน อายุ 32 ปี และกอ โซ อู อายุ 28 ปี นักข่าวชาวพม่าที่ทำงานให้แก่รอยเตอร์ถูกตัดสินความผิดเมื่อวันที่ 3 ก.ย. ตามกฎหมายความลับราชการ ในคดีที่ถูกมองว่าเป็นบททดสอบเสรีภาพประชาธิปไตยในพม่า

ตา ลุน ซอง เต๊ต นักข่าวที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดการชุมนุมประท้วงครั้งนี้กล่าวว่า คำตัดสินที่เกิดขึ้นกับนักข่าวที่เพียงแค่ทำงานตามหน้าที่ของตนนั้นจะขัดขวางการรายงานข่าวในพม่า

“การสูญเสียเสรีภาพสื่อหมายความว่าการเปลี่ยนแปลงประชาธิปไตยของเรากำลังถดถอย” ตา ลุน ซอง เต๊ต กล่าว

คำตัดสินของศาลก่อให้เกิดการเรียกร้องการปล่อยตัวนักข่าวจากเจ้าหน้าที่อาวุโสของสหประชาชาติ บุคคลทางการเมือง ที่รวมถึงไมค์ เพนซ์ รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ และผู้สนับสนุนสิทธิมนุษยชนทั่วโลก

นางอองซานซูจี ผู้นำโดยพฤตินัยของพม่า กล่าวในที่ประชุมในกรุงฮานอยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า คดีดังกล่าวไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเสรีภาพในการแสดงออก แต่นักข่าวถูกตัดสินโทษจากกฎหมายความลับราชการ และไม่ได้ถูกจำคุกเพราะพวกเขาเป็นนักข่าว

ในวันศุกร์ (14) องค์กรนักข่าวพม่า 6 แห่ง ได้ออกคำแถลงวิพากษ์วิจารณ์ผู้นำประเทศว่า พวกเขารู้สึกผิดหวังกับความเห็นของซูจี

สองนักข่าวที่ให้การต่อศาลว่า ไม่ได้กระทำผิด กล่าวว่า พวกเขาได้รับม้วนเอกสารจากตำรวจไม่นานก่อนถูกจับกุมตัวเมื่อเดือน ธ.ค. และพยานตำรวจนายหนึ่งได้ให้การในศาลว่านักข่าวถูกจัดฉาก

นักข่าวทั้งคู่กำลังทำงานสืบสวนเหตุการณ์การสังหารหมู่ชาวโรฮิงญา 10 คน โดยกองกำลังรักษาความมั่นคง และกลุ่มชาวบ้าน ท่ามกลางการตอบโต้ของทหารต่อการโจมตีของกลุ่มติดอาวุธเมื่อเดือน ส.ค.

ชาวโรฮิงญาราว 700,000 คน อพยพข้ามแดนจากพม่าไปฝั่งบังกลาเทศหลบหนีการปราบปรามอย่างรุนแรงของทหาร ที่ผู้สืบสวนสหประชาชาติระบุเมื่อเดือนก่อนว่า ดำเนินการโดยนายพลระดับสูงของพม่าด้วยเจตนาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

ป้ายที่ผู้ชุมนุมถือประท้วงเมื่อวันอาทิตย์ยังรวมทั้งข้อความว่า “การฆาตกรรมไม่ใช่ความลับของรัฐ” และ “เปิดเผยความจริงไม่ใช่อาชญากรรม”

นักเคลื่อนไหวรายหนึ่งกล่าวว่า “ความอยุติธรรม” ของคดีนักข่าว ทำให้ออกแบบเสื้อยืดที่มีใบหน้าของวา โลน และกอ โซ อู ซึ่งผู้ชุมนุมบางส่วนได้สวมเสื้อยืดนี้ และยังถูกนำไปผลิตเป็นสติกเกอร์ติดทั่วนครย่างกุ้ง

“เราต้องการที่จะรู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้นในโลกบ้าง เราต้องการนักข่าวทำหน้าที่ในเรื่องนี้ หากไม่มีนักข่าว เราจะกลายเป็นคนโง่ที่ไร้หูไร้ตา” นักเคลื่อนไหว กล่าว.





กำลังโหลดความคิดเห็น