xs
xsm
sm
md
lg

กองทัพพม่าออกคำแถลงขออภัยรูปไม่ถูกต้องในหนังสือวิกฤตโรฮิงญา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

หนึ่งในภาพที่ไม่ถูกต้องซึ่งตีพิมพ์อยู่ในหนังสือของกองทัพพม่า โดยรอยเตอร์นำมาเปรียบเทียบระหว่างภาพบนที่ได้จากเว็บไซต์ Flickr พร้อมคำบรรยายภาพว่า ศพชาวบังกลาเทศที่ถูกกองทัพปากีสถานสังหารหมู่ในกรุงธากา ปี 1971 ส่วนภาพด้านล่างที่ปรากฎในหนังสือของกองทัพพม่าอธิบายว่า ชาวเบงกาลีฆ่าคนท้องถิ่นอย่างโหดร้าย. -- ภาพบน : Anwar Hossain/Flickr, ภาพล่าง : Myanmar Politics and the Tatmadaw: Part 1/via Reuters.

รอยเตอร์ - กองทัพพม่าออกคำแถลงขอโทษ ความเคลื่อนไหวที่หาได้ยากในวานนี้ (3) ยอมรับว่ารูปภาพ 2 รูป ที่ตีพิมพ์ลงในหนังสือว่าด้วยวิกฤตชนกลุ่มน้อยมุสลิมโรฮิงญาเป็นการ “ตีพิมพ์ไม่ถูกต้อง”

รอยเตอร์ได้เผยแพร่รายงานพิเศษเมื่อวันศุกร์ (31) เปิดเผยว่า รูปภาพ 2 รูปในหนังสือที่มีเป้าหมายจะอธิบายเรื่องราวของกองทัพในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในรัฐยะไข่เมื่อปีก่อน แท้จริงแล้วเป็นภาพจดหมายเหตุของเหตุความขัดแย้งแตกต่างกัน และอีกภาพหนึ่งมีข้อความบรรยายภาพที่ไม่ถูกต้อง

การตีพิมพ์รูปภาพที่ไม่ถูกต้องครั้งนี้ เกิดขึ้นท่ามกลางการดำเนินการของรัฐบาลซึ่งถูกมองว่าเป็นการละเมิดสิทธิสื่อ ที่รวมทั้งการรายงานกิจกรรมของกองทัพในเขตกลุ่มติดอาวุธชนกลุ่มน้อย และการบินโดรนในกรุงเนปีดอ และเมื่อวันจันทร์ (3) ศาลได้ตัดสินจำคุก 2 นักข่าวรอยเตอร์เป็นเวลา 7 ปี จากข้อหาละเมิดกฎหมายความลับราชการ

รอยเตอร์พบว่า รูปภาพ 2 รูปในหนังสือของกองทัพว่าด้วยวิกฤตโรฮิงญาแท้จริงเป็นภาพที่เกิดขึ้นในบังกลาเทศ และแทนซาเนีย และภาพที่ 3 ถูกบรรยายอย่างไม่ถูกต้องว่าเป็นรูปที่ชาวโรฮิงญากำลังเดินทางจากบังกลาเทศเข้ามายังพม่า แต่ที่จริงเป็นภาพที่ผู้ลี้ภัยกำลังเดินทางออกจากพม่า

เมียวดีเดลี่ หนังสือพิมพ์ของกองทัพพม่า ตีพิมพ์คำแถลงของหน่วยงานที่ผลิตหนังสือ 'Myanmar Politics and Tatmadaw: Part I' เมื่อวันจันทร์ (3) ขออภัยต่อรูปภาพดังกล่าว

“พบว่ารูปภาพ 2 รูป ตีพิมพ์ไม่ถูกต้อง” หน่วยงานที่ตีพิมพ์หนังสือระบุในคำแถลงที่หนังสือพิมพ์นำออกเผยแพร่ โดยอ้างถึงรูปภาพจากแทนซาเนีย และอีกรูปหนึ่งที่เผยให้เห็นเหยื่อของสงครามอิสรภาพในบังกลาเทศ

“เราขออภัยอย่างจริงใจต่อผู้อ่าน และเจ้าของภาพถ่ายสำหรับความผิดพลาด” คำแถลงระบุ

แต่คำแถลงไม่ได้อ้างถึงคำบรรยายภาพที่ไม่ถูกต้องในรูปที่ 3 ซึ่งระบุว่า โรฮิงญากำลังเดินทางเข้ามาที่พม่า ขณะที่ภาพนั้นเป็นโรฮิงญากำลังหนีออกจากพม่า

ส่วนซอ เต โฆษกรัฐบาล และ พล.ต.ตุน ตุน นี โฆษกทหาร ไม่สามารถติดต่อขอความเห็นได้

กรมประชาสัมพันธ์และการสงครามจิตวิทยาของกองทัพพม่าได้เผยแพร่หนังสือ 'Myanmar Politics and Tatmadaw: Part I' ในภาษาอังกฤษ และภาษาพม่าเมื่อเดือน ก.ค.


กำลังโหลดความคิดเห็น