xs
xsm
sm
md
lg

รัฐบาลพม่าแถลงมีผู้ลี้ภัยโรฮิงญาครอบครัวแรกกลับประเทศแล้ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพ : Facebook/MOIWebportalMyanmar.

เอเอฟพี - รัฐบาลพม่าเผยว่าได้ส่งชาวโรฮิงญาครอบครัวแรกกลับประเทศแล้วเมื่อวันเสาร์ (14) จากผู้ลี้ภัยราว 700,000 คน ที่หลบหนีการปราบปรามของทหารไปบังกลาเทศ แม้สหประชาชาติเตือนว่าการเดินทางกลับยังไม่ปลอดภัยก็ตาม

ชนกลุ่มน้อยมุสลิมไร้สัญชาติหลบภัยอยู่ในค่ายพักต่างๆ ในบังกลาเทศเป็นจำนวนมากตั้งแต่ทหารพม่าดำเนินการปราบปรามชนกลุ่มน้อยกลุ่มนี้ในพื้นที่ตอนเหนือของรัฐยะไข่เมื่อปลายเดือนส.ค.

สหประชาชาติระบุว่า การปราบปรามที่เกิดขึ้นเปรียบได้กับการกวาดล้างชาติพันธุ์ แต่พม่าปฏิเสธข้อหาดังกล่าวและระบุว่ากองกำลังทหารของประเทศมุ่งเป้าที่ผู้ก่อการร้ายโรฮิงญา

บังกลาเทศและพม่าให้คำมั่นที่จะเริ่มส่งผู้ลี้ภัยกลับประเทศในเดือนม.ค. แต่แผนการต้องล่าช้ากว่ากำหนดซึ่งทั้งสองฝ่ายต่างกล่าวโทษกันถึงความไม่พร้อม

คำแถลงของรัฐบาลพม่าที่เผยในค่ำวันเสาร์ ระบุว่า ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญา 1 ครอบครัวเป็นผู้เดินทางกลับประเทศชุดแรก

“ครอบครัวที่มีสมาชิก 5 คน เดินทางกลับไปที่ค่ายส่งกลับประเทศเมืองตองเพียวเลตไวในรัฐยะไข่เช้าวันนี้ (14)” คำแถลงที่โพสลงบนหน้าเพจเฟซบุ๊กของคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของรัฐบาล ระบุ

โพสในเฟซบุ๊กระบุว่าครอบครัวดังกล่าวเป็น “ชาวมุสลิม” ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่จะไม่ใช้คำว่า “โรฮิงญา” ในการกล่าวถึงชนกลุ่มน้อยกลุ่มนี้ ซึ่งทางการพม่าไม่ยอมรับว่าเป็นกลุ่มชาติพันธุ์

ทางการพม่าพิจารณาว่าพวกเขาเคยอาศัยอยู่ที่นี่และให้บัตรประจำตัว NVC กับครอบครัวนี้ แต่บัตร NVC เป็นบัตรที่แกนนำโรฮิงญาปฏิเสธ และเรียกร้องบัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรลงทะเบียนแห่งชาติ (NRC) ที่ระบุสถานะพลเมือง

ในโพสเดียวกันนี้ยังปรากฎรูปถ่ายอีกหลายรูป ที่เผยให้เห็นครอบครัวชาวมุสลิม ที่ประกอบด้วยผู้ชาย 1 คน ผู้หญิง 2 คน เด็กหญิง 1 คน และเด็กชาย 1 คน กำลังรับบัตรประจำตัวและตรวจสุขภาพ คำแถลงยังระบุว่าครอบครัวนี้ถูกส่งไปพักชั่วคราวกับญาติในเมืองหม่องดอ

ความเคลื่อนไหวล่าสุดนี้เกิดขึ้นท่ามกลางคำเตือนจากสหประชาชาติและกลุ่มสิทธิมนุษยชน ที่ระบุว่ายังไม่ใช่เวลาที่เหมาะสมในการส่งผู้ลี้ภัยโรฮิงญากลับประเทศ เนื่องจากพม่ายังไม่จัดการปัญหาการกดขี่ข่มเหงและการเลือกปฏิบัติอย่างเป็นระบบกับชนกลุ่มน้อย

ชาวพม่ามองว่าโรฮิงญาเป็น “ชาวเบงกาลี” ผู้อพยพผิดกฎหมายจากบังกลาเทศ ชนกลุ่มน้อยกลุ่มนี้ถูกถอดสิทธิการเป็นพลเมืองและถูกบังคับให้อาศัยอยู่ในลักษณะถูกแบ่งแยกด้วยการจำกัดการเข้าถึงการดูแลสุขภาพ การศึกษา และบริการพื้นฐานต่างๆ.
ภาพ : Facebook/MOIWebportalMyanmar.


กำลังโหลดความคิดเห็น