xs
xsm
sm
md
lg

บังกลาเทศส่งรายชื่อผู้ลี้ภัยโรฮิงญา 8,000 คน ให้พม่า พร้อมเริ่มส่งกลับประเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online



เอเอฟพี - บังกลาเทศส่งมอบรายชื่อชาวโรฮิงญามากกว่า 8,000 คน ให้แก่พม่าในความพยายามที่จะเริ่มต้นกระบวนการส่งผู้ลี้ภัยกลับประเทศหลังกระบวนการหยุดชะงัก เนื่องจากการเตรียมพร้อมยังไม่สมบูรณ์

รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยของบังกลาเทศได้มอบรายชื่อดังกล่าวให้แก่รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยของพม่า หลังเจ้าหน้าที่ของสองประเทศได้พบหารือกันในกรุงธากา วานนี้ (16)

อาซาดูซามาน ข่าน รัฐมนตรีมหาดไทยของบังกลาเทศ กล่าวต่อนักข่าวว่า บังกลาเทศได้ส่งมอบรายชื่อผู้ลี้ภัย 8,032 คน จาก 1,673 ครอบครัว ให้แก่ฝ่ายพม่า โดยคณะผู้แทนของพม่าระบุว่าพวกเขาจะเริ่มกระบวนการส่งตัวกลับประเทศ

บังกลาเทศ บรรลุข้อตกลงกับพม่าเมื่อปลายปีก่อนที่จะส่งกลับชาวโรฮิงญาเกือบ 700,000 คน ที่หลบหนีข้ามพรมแดนมาตั้งแต่เดือน ส.ค. เพื่อหลบหนีการปราบปรามอย่างรุนแรงของทหาร และข้อตกลงมีกำหนดที่จะเริ่มกระบวนการในเดือน ม.ค. แต่ด้วยเพราะการเตรียมความพร้อมยังไม่สมบูรณ์ และการชุมนุมประท้วงของผู้ลี้ภัยโรฮิงญาทำให้กระบวนการส่งกลับต้องล่าช้าออกไป

ข่าน กล่าวว่า ในปัจจุบันมีโรฮิงญามากกว่า 1 ล้านคน อาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยต่างๆ ในพื้นที่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของบังกลาเทศ และกรุงธากาหวังให้คนเหล่านี้ทั้งหมดเดินทางกลับพม่า

คณะกรรมการผู้ลี้ภัยของบังกลาเทศ ระบุว่า กรุงธากาได้สร้างค่ายส่งข้ามแดนแล้วหนึ่งแห่ง และจะเริ่มสร้างค่ายอีกแห่งหนึ่งในสัปดาห์หน้าเพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางกลับประเทศของโรฮิงญา

ในสัปดาห์นี้ เจ้าหน้าที่ของบังกลาเทศยังได้ลงนามข้อตกลงเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของสหประชาชาติในกระบวนการส่งผู้ลี้ภัยโรฮิงญากลับพม่า ซึ่งการมีส่วนร่วมของหน่วยงานผู้ลี้ภัยของสหประชาชาตินี้เพื่อไม่ให้ถูกกล่าวหาว่า ส่งผู้ลี้ภัยกลับประเทศโดยขัดต่อความต้องการของผู้ลี้ภัย

อย่างไรก็ตาม ยังคงมีชาวโรฮิงญาหลบหนีข้ามแดนเข้ามาในฝั่งบังกลาเทศ

“คณะผู้แทนของพม่ายอมรับเรื่องนี้ และบอกกับฝ่ายเราว่า พวกเขาจะพยายามอย่างดีที่สุดที่จะหยุดยั้งให้เร็วที่สุดเท่าที่เป็นได้” ข่าน กล่าว

ทั้งสองฝ่ายยังหารือถึงชะตากรรมของชาวโรฮิงญาราว 6,000 คน ที่ติดค้างอยู่ในพื้นที่พรมแดนระหว่างสองประเทศที่ไม่มีผู้ครอบครองตั้งแต่เดือน ก.ย.

“พวกเขากล่าวว่า พวกเขาได้เริ่มกระบวนการส่งกลับผู้ลี้ภัยที่อาศัยอยู่บนเส้นพรมแดน” ข่าน กล่าว และเสริมว่า พม่าได้ขอให้มีการประชุมร่วมเกี่ยวกับกระบวนการส่งตัวกลับในวันที่ 20 ก.พ. อีกครั้งหนึ่ง.



กำลังโหลดความคิดเห็น