xs
xsm
sm
md
lg

ลืมเผด็จการไปก่อน ชาวพม่าเทคะแนนหนุนกองทัพท่ามกลางกระแสชาตินิยมปราบโรฮิงญา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชาวพม่าผู้สนับสนุนชาตินิยมรวมตัวกันที่หน้าศาลาว่าการนครย่างกุ้งเพื่อต่อต้านการแทรกแซงของต่างชาติในวิกฤติรัฐยะไข่. -- Agence France-Presse/Stringer.

เอพี - เนียว ตุน นักเคลื่อนไหวที่เคยถูกจำคุกนานนับ 10 ปีในเรือนจำอินเส่งจากความพยายามเรียกร้องประชาธิปไตย ยังคงจดจำถึงความโหดร้ายของรัฐบาลเผด็จการทหารที่ปกครองประเทศหลายสิบปี และอยู่เบื้องหลังรัฐบาลตัวแทนอีก 4 ปีได้ แต่เวลานี้เหตุการณ์ไม่เหมือนเดิม จากประเทศที่เคยโดดเดี่ยวมายาวนานจากการปิดประเทศและถูกต่างชาติคว่ำบาตร กำลังเปลี่ยนแปลงในช่วงหลายปีมานี้ เมื่อนางอองซานซูจี หนึ่งในอดีตนักโทษการเมืองได้รับเลือกเป็นหัวหน้ารัฐบาลพลเรือนชุดใหม่ ที่นำไปสู่การผ่อนคลายมาตรการลงโทษและการหลั่งไหลของเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติ

และหนึ่งในสิ่งที่เปลี่ยนแปลงคือ มุมมองของชาวพม่าต่อกองทัพทหารของประเทศ สถาบันที่ได้รับความนิยมมากขึ้นควบคู่ไปกับกระแสความรู้สึกชาตินิยม ที่เกิดขึ้นพร้อมกับเหตุการณ์การปราบปรามชาวมุสลิมโรฮิงญาในรัฐยะไข่ ทางภาคตะวันตกของประเทศ ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายพันคน และอีกมากกว่า 650,000 คนต้องพลัดถิ่น

แม้สหประชาชาติและสหรัฐฯ เรียกการปราบปรามที่เกิดขึ้นว่าเป็น “การกวาดล้างชาติพันธุ์” จนก่อให้เกิดวิกฤติผู้ลี้ภัยที่เลวร้ายที่สุดของเอเชียในรอบ 10 ปี แต่ชาวพม่าจำนวนมากสนับสนุนเรื่องนี้ เนื่องจากพวกเขามองว่าโรฮิงญาเป็นผู้อพยพผิดกฎหมายจากบังกลาเทศ ที่เป็นภัยคุกคามความมั่นคงของชาติ และทำให้ต่างชาติประณามเรื่องการละเมิดสิทธิ

“การปกครองแบบเผด็จการทหารเป็นเรื่องในอดีต และสถาบันทหารยุคใหม่นี้แตกต่างกันมาก” เนียว ตุน กล่าว และแสดงความเห็นว่าไม่มีแนวโน้มที่ทหารจะก่ออาชญากรรมในรัฐยะไข่

“พวกเขาปกป้องชาติ และนั่นคือสิ่งที่ทำให้พวกเขาได้รับการสนับสนุนจากประชาชน เพราะเป็นเรื่องของจิตวิญญาณของชาติสำหรับทุกคน” อดีตนักเคลื่อนไหว กล่าว

ประชาชนหลายพันคนชุมนุมตามเมืองต่างๆ ทั่วประเทศเพื่อสนับสนุนทหาร พล.อ.อาวุโส มิน ออง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของพม่า ได้รับการยกย่องชื่นชมจากประชาชนอยู่เสนอบนหน้าเพจเฟซบุ๊กอย่างเป็นทางการของเขา

“กองทัพจงเจริญ ผู้บัญชาการจงเจริญ” “กองทัพทำดีมากเพื่อประเทศ เราภูมิใจมาก” และ “ขอบคุณสำหรับการจำกัดผู้ก่อการร้ายเบงกาลี” ส่วนหนึ่งของความเห็นที่โพสลงบนสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งความชื่นชมยินดีเช่นนี้ไม่เคยปรากฎให้เห็นภายใต้รัฐบาลเผด็จการทหาร

“เพราะความกดดันและการวิพากษ์วิจารณ์จากต่างชาติ ทำให้ผู้คนในพม่าสามัคคีกันมากขึ้นภายใต้ความรู้สึกชาตินิยมและประชาชนเริ่มมีจิตวิญญาณชาติที่แข็งแกร่งขึ้น เพราะสิ่งนี้ไม่ใช่เพียงแค่กรณีทั่วไป แต่เป็นเป็นเรื่องประวัติศาสตร์และการเมืองของประเทศ” โก โก จี อดีตนักโทษการเมืองอีกรายหนึ่ง กล่าว.


กำลังโหลดความคิดเห็น